บทเรียนจาก Anthony Bolton

บทเรียนจาก Anthony Bolton
โลกในมุมมองของValue Investor : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

Anthony Bolton เป็นผู้บริหารกองทุนรวมแนว Value Investment ชื่อดังและประสบความสำเร็จอย่างสูงของอังกฤษ หลายๆ คนเรียกเขาว่า ปีเตอร์ ลินช์ แห่งอังกฤษ ผมไม่รู้ว่าสไตล์การลงทุนของเขาจะเป็นเหมือนกับปีเตอร์ ลินช์ หรือไม่ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจก็คือ บทเรียนการลงทุนที่เขาเผยให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์การลงทุนของเขากว่า 25 ปี นั้น มันช่างโดนใจ กระชับ และใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมเองประสบมา และต่อไปนี้คือบทเรียน 16 ข้อที่เขาเคยพูดไว้และคุณ “WEB” หรือคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข นักแปลหนังสือการลงทุนมือต้นๆ ของเมืองไทยได้สรุปไว้ ซึ่งทำได้ดีจนผมต้องขอนำมาเผยแพร่ต่อ

ข้อ 1) ต้องเข้าใจความได้เปรียบเชิงแข่งขัน และคุณภาพของบริษัท คุณจะต้องรู้ฐานะการแข่งขันของบริษัท และรู้ว่าบริษัททำผลกำไรได้ด้วยวิธีการใด ธุรกิจที่ผมชอบคือ ธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ยั่งยืนเป็นระยะเวลายาวนาน สิ่งที่ผมจะถามก็คือ ในอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทนี้จะยังอยู่หรือไม่และบริษัทน่าจะมีมูลค่าสูงกว่านี้หรือเปล่า?

ข้อ 2) เข้าใจตัวแปรสำคัญๆ ที่เป็นตัวผลักดันธุรกิจ ระบุ ตัวแปรหลักๆ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรที่บริษัทควบคุมไม่ได้อย่างเช่น ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย และภาษี สำหรับผม ธุรกิจที่ดีคือ ธุรกิจที่สามารถควบคุมชะตากรรมส่วนใหญ่ของตัวเองได้

ข้อ 3) สนใจธุรกิจที่เข้าใจง่ายมากกว่าธุรกิจที่ซับซ้อน ธุรกิจที่ซับซ้อนจะวิเคราะห์ได้ยาก ว่ามีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนหรือเปล่า สำหรับผมแล้ว ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด เป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจ ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงๆ ในการดำเนินธุรกิจจะมีความน่าสนใจน้อยกว่า

ข้อ 4) ฟังข้อมูลจากผู้บริหารโดยตรง ผมชอบผู้บริหารที่ตรงไปตรงมาและไม่ขี้โม้ ผมอยากได้ยินทั้งข่าวดีและข่าวร้าย

ข้อ 5) หลีกเลี่ยงบริษัทที่มีผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์ และไม่มีความน่าเชื่อถือในทุกกรณี

ข้อ 6) พยายามคิดล้ำหน้ากว่าคนอื่นๆ ไปสองก้าว ดูว่าอะไรถูกมองข้ามไปในปัจจุบัน แต่มันจะสร้างความตื่นเต้น ให้กับนักลงทุนในอนาคตได้ โดยทั่วไปแล้ว ตลาดหุ้นไม่ได้มองอะไรไกลๆ นัก ดังนั้น หากเรามองไกลกว่าคนอื่น ๆ เราจะทำกำไรได้

ข้อ 7) เข้าใจความเสี่ยงในงบดุล การลงทุนเป็นการจำกัดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงความหายนะ คุณต้องวิเคราะห์งบดุลอย่างละเอียด ดูเรื่องหนี้สินของบริษัทให้ดี

ข้อ 8) เสาะหาความคิดจากหลายๆ แหล่ง ยิ่งคุณมีความคิดหลากหลายขึ้นเท่าไร คุณก็จะมีโอกาสหาหุ้นเด็ดๆ ได้สูงขึ้นเท่านั้น แหล่งความคิดที่ชัดเจนที่สุดอาจจะไม่ใช่แหล่งที่ดีที่สุดเสมอไป ผมจะชอบแหล่งข้อมูลที่คนอื่นๆ ไม่ค่อยใช้กัน

ข้อ 9) ดูการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารบริษัทด้วย มันไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้องเสมอไป แต่มันก็มีประโยชน์มาก ดูจำนวนรายการที่เกิดขึ้น การซื้อจะบอกอะไรได้มากกว่าการขาย และผู้บริหารบางคนจะน่าสนใจกว่าคนอื่นๆ

ข้อ 10) ตรวจสอบเหตุผลในการลงทุนของคุณเป็นระยะๆ การซื้อหุ้นต้องมีเหตุผลรองรับ และคุณต้องตรวจสอบเหตุผลเหล่านั้น เป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้ความเชื่อมั่นพัฒนากลายเป็นความดื้อรั้น

ข้อ 11) ลืมต้นทุนของคุณเสีย ราคาที่คุณซื้อหุ้นมาไม่มีความเกี่ยวข้องเลย มันแค่มีความสำคัญในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในเชิงลบ อย่าลังเลที่จะตัดขาดทุน

ข้อ 12) ผลงานที่ผ่านมาไม่ได้บ่งบอกถึงอนาคต อย่างไรก็ตาม คุณต้องวิเคราะห์ความผิดพลาดของคุณและเรียนรู้จากมัน

ข้อ 13) ใส่ใจกับมูลค่าเฉพาะของบริษัทนั้นๆ ไม่ใช่ดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบ หากคุณดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบ คุณอาจจะซื้อหุ้นตัวที่แพงน้อยกว่ามา ซึ่งมันจะทำให้คุณขาดทุนอยู่ดี

ข้อ 14) ใช้วิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นตัวบ่งชี้เพิ่มเติม ผมจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาช่วยกำหนดขนาดการซื้อหุ้นของผม หากปัจจัยทางเทคนิคช่วยยืนยันการวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน ผมจะซื้อหุ้นในปริมาณที่มากขึ้น แต่ถ้าไม่ ผมจะซื้อหุ้นอยู่ดีแต่จะซื้อในปริมาณที่ลดลง เมื่อไรก็ตามที่ปัจจัยเทคนิคชี้ว่าหุ้นกำลังอ่อนแอ ผมจะตรวจสอบปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผมพบว่ามันจะมีประโยชน์สำหรับหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า

ข้อ 15) หลีกเลี่ยงการทำนายทิศทางตลาดและการลงทุนตามเศรษฐกิจมหภาค ผมจะลงทุนในบริษัทที่ผมคิดว่า มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน

ข้อ 16) จงสวนกระแส หากคุณรู้สึกสบายใจที่จะลงทุนในหุ้น คุณอาจจะเข้ามาสายไปแล้ว จงลงทุนสวนกระแสฝูงชน อย่ารู้สึกมั่นใจสูงขึ้นเมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น เวลาที่ทุกคนปราศจากความกังวลจะเป็นเวลาที่น่ากลัวที่สุด เวลาที่ทุกคนกังวลอย่างมาก ความกังวลจะไปสะท้อนในราคาแล้ว

และทั้งหมดก็คือ สิ่งที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ของคนที่อยู่ในเกมและประสบความสำเร็จมานาน หลายๆ ข้ออาจจะดูเหมือนว่าคล้ายๆ กับแนวทางของปรมาจารย์อื่นๆ แต่นั่นคือ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้น หลักการลงทุนที่ถูกต้องนั้น มีการคิดการเขียนมาจนแทบจะพูดได้ว่าไม่ค่อยมีอะไรใหม่แล้ว แต่การให้น้ำหนัก และความสำคัญของแต่ละประเด็น จะเป็นสิ่งที่แยกว่าใครเป็นเซียนและใครเป็นนักลงทุนธรรมดาๆ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *