บทวิเคราะห์และข้อเสนอ : รถตกเหวที่เขาใหญ่ อุบัติเหตุอันเนื่องมาจาก “ราวกันอันตราย”

บทวิเคราะห์และข้อเสนอ : รถตกเหวที่เขาใหญ่ อุบัติเหตุอันเนื่องมาจาก ‘ราวกันอันตราย’

การป้องกันและลดทอนอุบัติเหตุ จะมีอะไรดีกว่า การเก็บรับบทเรียน วิเคราะห์วิจัย สร้างเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบและกลไกป้องกัน
จากการสืบสวนกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะ โดยศูนย์ศึกษา และถ่ายโอนเทคโนโลยีการขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมี ผศ. ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี เป็นหัวหน้าโครงการ ได้ทำการศึกษาในกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารตกออกนอกสายทางที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 5 มิถุนายน 2549 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ผู้บาดเจ็บ 40 ราย พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้คือ
ระหว่างเดินทางครั้งนี้ พนักงานขับรถได้ถกเถียงกับผู้ประสานงานของคณะดูงานจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และขณะที่ขับรถมาถึงที่เกิดเหตุถนนธนะรัชต์-อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เวลา 12.30 น. หลัก กม.ที่ 28-29 ซึ่งเป็นทางโค้ง และทางลงเขาลาดชัน คนขับไม่ชำนาญทาง (ขาดทักษะในการใช้เส้นทาง) ทำให้ควบคุมรถไม่ได้ รถจึงเสียหลักพุ่งลงข้างทาง ซึ่งเป็นเหวลึก แต่รถได้ไปติดค้างอยู่บนกอไผ่ลึกลงไปประมาณ 10 เมตร ในสภาพตะแคงไม่ตกไปถึงก้นเหว
มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 3 ราย และเสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาลเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 5 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 40 รายอาการสาหัส 7 ราย
จากข้อมูลทางการแพทย์และอายุรเวชพบว่า คนขับขี่ขาหัก 2 ข้าง ผู้โดยสารส่วนใหญ่ถูกกระแทกอย่างแรง อวัยวะแตกหัก เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยได้นำส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาลปากช่องนานา และได้ส่งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้ง 7 รายเข้ารักษาเพื่อช่วยชีวิตเป็นการด่วน ทั้งนี้การช่วยเหลือผู้รอดชีวิต หน่วยกู้ภัยใช้เครื่องมือเบา เช่น เลื่อย มีด เข้าไปเบิกทางช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และลำเลียงผู้เจ็บออกจากที่เกิดเหตุด้วยเตียงสนาม
จากการสำรวจข้อมูลผู้ขับขี่ ยานพาหนะ และความเสียหาย พบว่า ผู้ขับขี่เพศชายอายุ 32 ปี ไม่เคยขับขี่ในเส้นทางนี้ ขับรถมาในสภาพร่างกายปกติ ด้วยเกียร์ 3 ความเร็วจากรอยเบรกคำนวนได้ว่าความเร็วประมาณ 84 กม./ชม. ก่อนที่จะถึงทางลาดชันลงเขา ซึ่งมีความลาดแนวดิ่ง +10% มีป้ายเตือนก่อนถึงประมาณ 200 เมตร ด้านหนึ่งเป็นเขามีร่องน้ำข้างทาง อีกด้านข้างทางเป็นเหวลึก 100 เมตร และมีป่าไผ่อยู่ด้านล่าง มีราวกันอันตราย โดยรถโดยสารนี้เป็นรถทัวร์ปรับอากาศชั้น 2 สาย กรุงเทพฯ-ระยอง ยี่ห้ออีซูซุ สีส้ม-ฟ้า สภาพพังยับทั้งคัน เก้าอี้ผู้โดยสารหลุดหักทับผู้โดยสาร ทั้งนี้ขณะเกิดเหตุ สภาพอากาศ และแสงสว่างปกติ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบต่างๆ ผู้ศึกษาสรุปเป็นแนวทางนำไปสู่การดำเนินการลดโอกาสสูญเสียจากอุบัติเหตุว่า ในกรณีอุบัติเหตุครั้งนี้‘ราวกันอันตราย’ เป็นส่วนสำคัญในการลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ โดยยานพาหนะที่พุ่งเข้าชนอาจจะไม่ตกถนนหรือหลุดออกนอกสายทาง ซึ่งราวกันอันตรายที่ปลอดภัยควรเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
– เมื่อถูกชนราวกันอันตรายควรจะสามารถเหนี่ยวรั้งยวดยานที่พุ่งเข้าชนได้
– ราวกันอันตรายควรจะลดความเร็วของยวดยานที่พุ่งเข้าชนอย่างช้าๆ
– ราวกันอันตรายควรจะเบี่ยงเบนทิศทางของยวดยานที่พุ่งเข้าชนได้
– ควรจะคงสภาพและสามารถใช้งานได้หลังจากถูกชน
– ควรจะสามารถป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ผู้ขับขี่ยวดยาน
– ควรเก็บส่วนปลายของราวกันอันตราย
– ไม่ควรมีส่วนใดส่วนหนึ่งของราวกันอันตรายยื่นล้ำเข้ามาในส่วนของขอบทาง

ที่สำคัญ ราวกันอันตรายนี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับรถขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงของจุดศูนย์ถ่วงเกินจากความสูงของแนวราวกันอันตราย ทำให้ไม่สามารถป้องกันรถขนาดใหญ่ได้ กล่าวคือ แทนที่รถจะไถลไปตามแนวราวกันอันตราย แต่กลับพลิกตกลงไปข้างทาง

นอกจากนี้ สาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ในการเกิดอุบัติเหตุ ยังประกอบด้วย

– ผู้ขับขี่ไม่มีความชำนาญเส้นทาง และขับขี่ด้วยความประมาทไม่ปฏิบัติตามป้ายเตือนต่างๆ
– ผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูง ไม่ได้ลดเกียร์ให้ต่ำลงจึงทำให้เบรกไม่อยู่และควบคุมรถไม่ได้
– โครงสร้างของรถโดยสารไม่มีความแข็งแรงเมื่อเกิดการพลิกคว่ำ หรือถูกชนมักพบว่าผู้โดยสารถูกโครงสร้างของรถ เช่น โครงหลังคา กดทับ
– รถโดยสารที่มีกระจกกันตลอดแนวยาวด้านข้างรถอาจมองดูสวยงามแต่ไม่มีความปลอดภัยพอ เมื่อเกิดเหตุกระจกแตกผู้โดยสารมักจะหลุดลอดออกมาเสียชีวิตภายนอกตัวรถ และ/หรือถูกรถทับ
– เบาะนั่งของรถโดยสารของรถประจำทางไม่มีความแข็งแรงเมื่อเกิดเหตุมักหลุดออกจากตัวรถ
– สภาพเส้นทางเป็นโค้งลงเขาลาดชันวกไปมาไม่สมควรยอมให้รถโดยสารขนาดใหญ่ใช้เส้นทาง

จากการศึกษาครั้งนี้ ศูนย์ศึกษา และถ่ายโอนเทคโนโลยีการขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะว่า
เจ้าหน้าที่ด่านอุทยานแห่งชาติควรบังคับใช้ระเบียบอย่างเข้มงวดในการควบคุมยานพาหนะขนาดใหญ่เข้าใช้เส้นทางบนวนอุทยาน รถนำเที่ยว ควรเป็นรถเฉพาะการนำเที่ยวเท่านั้น ไม่ควรนำรถโดยสารที่อยู่ระหว่างพักมาใช้เดินทางเพื่อการบำรุงรักษา พนักงานขับรถนำเที่ยวควรจะมีความชำนาญในสภาพเส้นทางที่ต่างกัน มีความเป็นมืออาชีพ และในสภาพถนนที่เป็นทางโค้ง ลาดชันไม่ควรขับขี่รถด้วยความเร็วสูงเพราะจะทำให้เสียหลักและเบรกไม่อยู่ นอกจากนี้การชะลอความเร็วเป็นช่วงๆ จะช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้

ส่วนในระดับนโยบายมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 เรื่องด้วยกัน คือ

1. การออกใบอนุญาตควบคุมรถโดยสารสาธารณะ โดยในระยะสั้น ให้เข้มงวดการออกใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ และตรวจสอบสุขภาพในทุกมิติ ในระยะกลาง ให้กำหนดระดับการศึกษาขั้นต่ำ พัฒนาการฝึกอบรม ให้ความรู้อย่างจริงจัง และเป็นระบบให้ความรู้ในทุกมิติ พร้อมกับกำหนดปรับปรุงบทลงโทษ ส่วนระยะยาว เสนอให้จัดตั้งเป็นสมาคมผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ

2. ปรับปรุงมาตรฐานรถโดยสาร ทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัย และกฏกระทรวงที่เกี่ยวข้องซึ่งยังขาดความชัดเจน โดยระยะสั้นนั้น การตรวจสอบสภาพรถต้องมีระเบียบที่ชัดเจน มีรายการตรวจสอบ ทดสอบ และวิธีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ

ระยะกลาง เริ่มกำหนดเกณฑ์ในการรับรองอู่มาตรฐาน ปรับปรุงกฎกระทรวง พระราชบัญญัติ มาตราประกอบ และระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย กำหนดการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อให้อู่ประกอบรถโดยสารสามารถนำมาดำเนินการได้จริง เช่น ก่อนเกิดเหตุ(ดังแสดงในภาพ) การยึดเก้าอี้โดยสาร การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบสามจุด การติดตั้งกระจกรถ ความทนแรงกระแทก และวัสดุประกอบตัวรถต้องเป็นแบบที่ไม่ติดไฟง่าย เป็นต้น หลังเกิดเหตุ การจัดทำทางหนีฉุกเฉินจะต้องได้รับการปรับปรุง นอกจากนี้ต้องแยกรถโดยสารสาธารณะ ออกจากรถนำเที่ยว มีการกำหนดเกณฑ์ความปลอดภัยของรถทั้งสองประเภท รถโดยสารจะต้องได้รับการออกแบบในลักษณะที่ความปลอดภัย เช่น กระจกส่องหลังควรติดตั้งอย่างไร ยางควรเป็นแบบใด ไฟหน้า ระบบเบรก และ ระบบเสริมการเบรก เป็นต้น ขณะเกิดเหตุ จะต้องกำหนดให้โครงสร้างรถโดยสารมีความแข็งแรง เช่น การทดสอบความแข็งแรงจากการพลิกคว่ำ
ส่วนระยะยาว ต้องประกาศรับรองอู่ต่อรถมาตรฐาน และรับรองรถที่ต่อจากอู่มาตรฐานอันจะเป็นการลดภาระการทำงานของกรมการขนส่งทางบกอย่างเป็นระบบ

3.การส่งเสริม และการลงโทษ โดยทั่วไปการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะนั้นไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญกับผลการประกอบการแต่เพียงด้านเดียว ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถทำรายได้อย่างเหมาะสม และได้รับการอุดหนุนอย่างสมควรโดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการอบรม การจัดหาอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยติดตั้งให้กับผู้ประกอบการในระดับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม อย่าลืมว่าหากรัฐไม่ส่งเสริม การลงทุนด้านความปลอดภัยก็ยากจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะไม่มีผู้ประกอบการคนไหนได้ประโยชน์จากการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย
ขณะที่บทลงโทษควรจัดทำไว้เพื่อกำกับ และปรามผู้ประกอบการที่อาจจะละเลย หรือขาดเจตนาในการดำเนินการ ควรมีการดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติ โดยเน้นที่มาตราเกี่ยวกับบทลงโทษต่างๆ ทั้งผู้ควบคุมยานพาหนะ และผู้รับสัมประทานเดินรถ อู่ต่อรถโดยสารที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *