บทบาทของรัฐในการสนับสนุน งานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ
บทบาทของรัฐในการสนับสนุน งานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ
โดย รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นเดียวกับ ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า “วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์”
นอกเหนือจากผลของความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมากุมบังเหียนของประเทศ โดยใช้นโยบายประชานิยมเป็นหลัก เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด คือ การให้บริการฟรีในด้านการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การประปานครหลวง เป็นต้น
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า หากรัฐมิได้มีความเป็นเจ้าของในกิจการดังกล่าวข้างต้น หรือที่เรียกองค์กรเหล่านี้ว่า “รัฐวิสาหกิจ” ภาครัฐคงไม่สามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้รวดเร็วทันใจปานกามนิตหนุ่มดังเช่นในปัจจุบัน
หากจะมองย้อนกลับไปในอดีตอาจกล่าวได้ว่า รัฐวิสาหกิจได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากนโยบายหลักของรัฐบาลไทยในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจให้สามารถดำเนินการทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในด้านอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เพียงพอ และเพื่อบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้า
ภายใต้นโยบายดังกล่าว ทำให้รัฐวิสาหกิจจำนวนมากกว่า 100 แห่ง ได้ถือกำเนิดขึ้นตามสาขาเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐได้เข้ามาแทรกแซงและควบคุมให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลผ่านการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่างๆ โดยปราศจากคู่แข่งขันใดๆ ทั้งสิ้น
อันเนื่องมาจากในช่วงแรกรัฐจำเป็น ต้องทำหน้าที่ในการริเริ่มให้เกิดการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ภายหลังแม้ว่าภาคเอกชนเริ่มที่จะมีศักยภาพในการดำเนินกิจการแล้ว หากแต่ความที่รัฐยังคงมีฐานะเป็นเจ้าของในรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดลักษณะของตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ เนื่องมาจากการได้มาซึ่งสิทธิพิเศษบางประการของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพิจารณากัน ต่อไปว่า การดำเนินการของรัฐในประเด็นของรัฐวิสาหกิจไทยนั้นถูกต้องและสมควรหรือไม่ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่รัฐได้เข้าไปแทรกแซงผ่านทางแผนปฏิบัติการรายปีนั้น เราคงต้องมาพิจารณากันก่อนว่า บทบาทหน้าที่หลักที่รัฐบาลทุกรัฐบาลของทุกประเทศควรต้องทำนั้นคืออะไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและการแข่งขันในระดับประเทศ ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่หลักของภาครัฐได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 แนวคิดด้วยกัน คือ police state และ provident state
แนวคิด police state ได้มีการกล่าวว่า รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้บริการทางด้านพื้นฐานแก่ประชาชนของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของประเทศทั้งในส่วนของการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนในระดับปัจเจกชนและในระดับประเทศ
หน้า 10
บทบาทของรัฐในการสนับสนุน งานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ (จบ)
คอลัมน์ L&S Hub
โดย รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รวมถึงการให้ความเสมอภาค แก่ประชาชนทุกคน แนวคิดดังกล่าวนี้ได้สนับสนุนให้รัฐ จัดตั้งหน่วยงานที่จะดำเนินการให้บริการ สิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ประชาชนสมควร ได้รับ
ในขณะที่แนวคิด provident state เห็นควรว่ารัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้บริการแก่ประชาชนในด้านของสวัสดิการต่างๆ ที่ประชาชนสมควรได้รับ โดยรัฐจำเป็นต้องเป็นผู้ริเริ่มและลงทุนในกิจการดังกล่าว ข้างต้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกิจการทาง ด้านสาธารณูปโภค
อันเนื่องมาจากกิจการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในเบื้องต้นที่สูง และใช้เวลานานกว่าที่จะคืนทุนฃหรือได้รับผลกำไร ดังนั้นเอกชนโดยทั่วไปจึงไม่นิยมลงทุนในกิจการดังกล่าว
หากแต่เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับแล้วนั้น กลับคุ้มค่าที่รัฐจำเป็นต้องลงทุน หรือเรียกทางภาษาทางเศรษฐศาสตร์ว่า “positive externalities” นั่นเอง
แม้ว่าแนวคิดทั้งสองจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หากแต่การนำแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งหรือนำแนวคิดทั้งสองมาใช้ประโยชน์ หรือมาเป็นหลักในการวางกรอบนโยบายของภาครัฐ จำเป็นอย่างยิ่งที่ ภาครัฐควรจะต้องทำความเข้าใจถึงสาระสำคัญของแนวคิดดังกล่าวข้างต้นก่อน ที่จะนำมาปฏิบัติจริง
ผู้เขียนคงจะเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ตั้งคำถามตามมาว่า แล้วรัฐบาลไทยเข้าใจ ถึงสาระสำคัญของแนวคิดดังกล่าวดีพอ หรือไม่ หรือยังคงมีความสับสนระหว่างความแตกต่างของการนำแนวคิดทั้งสองนี้ไปปฏิบัติ
ดังจะสังเกตได้จากแนวนโยบายของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน ที่ดูจะสับสนกับการนำแนวคิด เหล่านี้มาปฏิบัติ อันส่งผลให้ลักษณะของการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีลักษณะที่บิดเบี้ยวจากสิ่งที่ควรจะเป็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องในด้านของโลจิสติกส์และการขนส่ง เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่ถูกปิดตัวไป อันเนื่องมาจากความสับสนในด้านการดำเนินนโยบาย ของรัฐบาลนั่นเอง
ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่า แนวคิดในด้านของการให้สวัสดิการที่ดีพอแก่ประชาชน (provident state) นั้น มุ่งเน้นผลประโยชน์ที่สังคมโดยส่วนรวมจะได้รับมากกว่า แม้ว่ารัฐจะต้องมีการลงทุนในเบื้องต้นที่สูงมากก็ตาม
โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสาธารณูปโภคโดยที่ภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการลงทุนเองได้
หากจะพิจารณาเจาะลึกลงไปในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องทางด้านโลจิสติกส์และการขนส่งแล้ว จะพบว่ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้มิได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์
เนื่องด้วยวัตถุประสงค์เบื้องต้นของ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ คือ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการแข่งขันในระดับประเทศ
แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพที่แท้จริงแล้ว การได้รับสิทธิพิเศษจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้รับประโยชน์มากกว่าเอกชนรายอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง
อีกทั้งยังก่อให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ยังคงอิงแอบอยู่กับระบบราชการไทยที่มากจนเกินไป
รวมถึงการถูกแทรกแซงไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐ การเมือง หรือนักการเมือง ดังเช่นในอดีตเรื่อยมา ยังผลให้ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร
ตลอดจนการไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแนวนโยบายขององค์กรที่ได้วางไว้ หรือแม้กระทั่งวัตถุประสงค์ในเบื้องต้นของการจัดตั้งองค์กรเหล่านั้น ในอันที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและ การเปิดเสรีของการแข่งขัน อันจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต
หากรัฐยังคงดำเนินนโยบายในการแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ดังเช่นในอดีต การบรรลุเป้าหมายของ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ในอันที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศไปในระดับ ที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน คงจะไม่สามารถบรรลุผลได้
ประชาชนและผู้ประกอบการคงอยากจะตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐควรจะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวจักรตัวหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น มิใช่เป็นเพียงแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐในการบรรลุผลตามนโยบายดังเช่นที่ผ่านมาในอดีต
นี่คงจะเป็นเพียงปฐมบทเริ่มต้นของความสับสนในการดำเนินนโยบายในอดีตของรัฐบาล ที่ส่งผลกระทบมายังปัจจุบันที่เราคงจะต้องค้นหากันต่อไปว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุดังกล่าวมานี้ ส่งผลกระทบไปยังรัฐวิสาหกิจใดและอย่างไรบ้าง
ที่มา วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4108
คอลัมน์ L&S Hub หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ