นักวิจัยสหรัฐฯ พัฒนาพืชให้ใช้น้ำน้อยลง
นักวิจัยสหรัฐฯ พัฒนาพืชให้ใช้น้ำน้อยลง
::: ข้อมูลโดย VOA News ภาคภาษาไทย :::
คณะนักวิจัยในสหรัฐฯ กำลังพัฒนาพันธุ์พืชให้ใช้น้ำน้อยลง หรือใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากประสบความสำเร็จจะช่วยผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
น้ำจืดเกือบ 60% จากแม่น้ำลำธาร ทะเลสาบ และแหล่งน้ำอื่นๆ ของโลกนั้นนำไปใช้ในการชลประทานเพื่อเพาะปลูกพืชผล นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาพันธุ์พืชที่สามารถลดการใช้น้ำในการเกษตร
นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพและวิธีเพาะพันธุ์พืชแบบดั้งเดิมในการพัฒนาธัญพืชที่ประหยัดการใช้น้ำ คุณโทมัส คาร์เตอร์ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยการเกษตรของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ที่รัฐนอร์ท แคโรไลนา และคณะนักวิจัยจาก 5 มหาวิทยาลัย ใช้วิธีเพาะพันธุ์พืชแบบดั้งเดิมในการพัฒนาถั่วเหลือง ที่สามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีในสภาพอากาศแห้งแล้ง คุณโทมัสเริ่มงานวิจัยนี้เมื่อ 27 ปีก่อน ซึ่งได้พาเขาไปที่จีนซึ่งปลูกถั่วเหลืองมานานหลายพันปี สำหรับในสหรัฐฯ นั้นเกษตรกรเพิ่งเริ่มปลูกพืชชนิดนี้เมื่อประมาณร้อยปีเท่านั้น
คุณโทมัส บอกว่า ถั่วเหลืองที่เกษตรกรปลูกอยู่มีสารเชื้อพันธุ์ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความแตกต่างหลากหลายด้านเชื้อพันธุ์สามารถป้องกันพืชเหล่านั้นให้ปลอดภัยจากจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น การขาดแคลนน้ำ ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน
คณะวิจัยศึกษาตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีสารเชื้อพันธุ์แตกต่างกันกว่า 2,500 ตัวอย่าง ที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯเก็บรวบรวมไว้ โดยมุ่งศึกษาสารเชื้อพันธุ์ในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีเชื้อสายมาจากเอเชีย เพื่อหาสารเชื้อพันธุ์ที่สามารถรักษาถั่วเหลืองไม่ให้อ่อนแอ และเหี่ยวเฉาในฤดูร้อนและแห้งแล้งในสหรัฐฯ คุณโทมัส บอกว่า พบถั่วเหลืองเพียง 5 ชนิด แต่ละชนิดสามารถให้ผลผลิตได้มากกว่าถั่วเหลืองปกติ 4-8 เท่า ภายใต้สภาวะแห้งแล้ง
ขณะนี้นักวิจัยกำลังทดลองปลูกในแปลงสาธิต คาดว่าจะเปิดตัวสายพันธุ์แรกในปีหน้าเพื่อให้บริษัทเอกชน และบรรดาผู้เพาะพันธุ์ถั่วเหลืองทั่วไปนำไปใช้
นักวิทยาศาสตร์กำลังวิจัยพืชชนิดอื่นๆ ที่สามารถใช้น้ำน้อยหรือใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทเอกชนเช่นมอนซานโต้ ดูปองต์ และซินเจนต้า กำลังพัฒนาข้าวโพดที่ใช้น้ำน้อยลง บริษัทมอนซานโต้คาดว่า พร้อมจะนำข้าวโพดตัดแต่งทางพันธุกรรมที่สามารถต้านทานความแห้งแล้งออกจำหน่ายได้ภายใน 4 ปี.