นักวิจัยพบว่า ‘ปลา’ ก็สามารถช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้

เรื่อง นักวิจัยพบว่า “ปลา” ก็สามารถช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้

::: ข้อมูลจาก VOA News ภาคภาษาไทย :::

ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังพยายามหาทางแก้ไข รายงานวิจัยล่าสุดโดยนักวิจัยชาวอเมริกัน อังกฤษ และแคนาดา ระบุว่า นอกจากมนุษย์แล้ว ปลาก็เป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เชื่อว่าเป็นตัวการทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนนั้น ยังเป็นตัวการทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้นด้วย ซึ่งสภาพความเป็นกรดดังกล่าวคุกคามชีวิตของสัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆ แต่นักวิจัยพบว่าปลาแบบที่มีก้างหรือกระดูกจะช่วยรักษาสมดุลของสภาพความเป็นกรดในท้องทะเลได้ จากของเสียที่พวกมันขับถ่ายออกมาก็คือขี้ปลานั่นเอง

นักวิจัยชาวแคนาดาและชาวอังกฤษค้นพบประโยชน์ที่ว่านี้จากการสังเกตเห็นว่า เมื่อปลากินน้ำทะเลเข้าไปจะขับถ่ายของเสียออกมาเป็นสารแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีคุณสมบัติสร้างความเป็นด่างมากขึ้น และช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทะเล ลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้ การค้นพบนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงระบบนิเวศน์ทางทะเล และกระบวนการลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติมากขึ้น

ปลาแบบที่มีก้างหรือกระดูก คือ สิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่ที่สุดในทะเล คิดเป็น 90% ของสายพันธุ์สัตว์ทะเลทั้งหมด นักวิจัยประเมินว่า ปัจจุบันมีปลากลุ่มนี้ซึ่งรวมถึงปลาฉลามและปลากระเบนประมาณ 812 ล้านตันถึง 2,000 ล้านตัน ซึ่งปลาเหล่านี้สามารถผลิตสารแคลเซียมคาร์บอเนตได้ราว 110 ล้านตันในแต่ละปี สารคาร์บอเนตเหล่านั้นจะทำปฎิกิริยากับเกลือกลายเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ก่อนที่จะละลายหายไปกับน้ำทะเล

ศาสตราจารย์ Villy Christensen แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ผู้ร่วมในงานวิจัยนี้กล่าวว่า นี่นับเป็นการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในส่วนหนึ่งตามวิถีทางของธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การทำประมงที่มากเกินไปจะทำให้จำนวนปลาในมหาสมุทรลดลง ซึ่งจะส่งผลให้การต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน และสภาพบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงนั้น ยิ่งห่างไกลความสำเร็จมากขึ้นไปอีก นักวิจัยผู้นี้บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาปริมาณปลาในมหาสมุทรไม่ให้ลดลง ทั้งเพื่อเป็นกันชนต่อปัญหาสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง และเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงประชากรโลกในระยะยาว

รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science ฉบับล่าสุด.

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *