นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง

นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง
โดย…ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
การที่จะพูดให้ถูกใจผู้ฟัง ต้องทราบในเบื้องต้นก่อนว่าผู้ฟังคือใคร มีความต้องการอะไร มีจำนวนเท่าไร เสมือนหนึ่งเราทำอาหารต้องทราบในเบื้องต้นก่อนว่าผู้ทานต้องการอาหารประเภทไหน รสชาติเป็นอย่างไร
การวิเคราะห์ผู้ฟังจึงมีความสำคัญมากในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน การวิเคราะห์ผู้ฟังเราสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
1.จำนวนผู้ฟัง มีความสำคัญมากเพราะการพูดกับคนจำนวนน้อย เราต้องมีวิธีการพูดที่แตกต่างกับวิธีการพูดที่มีคนจำนวนมาก รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ในการพูดก็สำคัญไม่น้อย เช่น เอกสารประกอบการบรรยาย ห้องสำหรับใช้บรรยายหรือใช้ในการพูด ถ้าคนน้อยแต่ใช้ห้องประชุมที่ใหญ่มากๆ หรือ ถ้าคนมากแต่ดันใช้ห้องประชุมขนาดเล็กๆ ทำให้บรรจุคนไม่พอ ดังนั้นนักพูดต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย
2.เพศและวัย เรื่องของเพศและวัย เพศชายส่วนใหญ่ชอบ การผจญภัย การต่อสู้ กีฬา ส่วนเพศหญิงชอบเรื่องของ ความสวยงาม แฟชั่น ดังนั้นการพูดต้องพูดให้มีความสำคัญกับเพศของผู้ฟัง สำหรับวัยเด็ก มักชอบเรื่องที่สนุกสนาน มักมีสมาธิสั้นในการฟัง มักชอบนิทาน วัยรุ่นชอบเรื่องเกี่ยวกับรักๆใคร่ๆ ชอบเรื่องที่มีความท้าทาย วัยผู้ใหญ่สนใจเรื่องของอาชีพ การสร้างฐานะ และวัยชรา สนใจเรื่องศาสนา เป็นต้น
3.พื้นฐานการศึกษาของผู้ฟัง การพูดให้ผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน เราจะต้องมีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน ถ้าผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาสูง เราสามารถใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ถ้าพูดให้ผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาต่ำ ไม่ควรพูดทับศัพท์ และต้องเตรียมเนื้อหา วิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันด้วย ต้องใช้ภาษาให้เหมาะสม ในบางครั้งนักพูดคิดไปเองว่า การพูดโดยใช้ภาษาที่สวยงามหรือภาษาวรรณกรรมจะทำให้ผู้ฟังชอบ แต่เปล่าเลย ผู้ฟังที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ต่ำ มักจะไม่เข้าใจ ทำให้การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพในที่สุด
4.อาชีพ ของผู้ฟัง เช่น อาชีพทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข จะมีศัพท์ในการพูดที่ใช้สื่อสารกันในโรงพยาบาลหรือที่ทำงาน บางครั้งตัวคนไข้หรือผู้ป่วยจะไม่ว่าแพทย์ พยาบาลหมายถึงอะไร ดังนั้น ถ้าเรานำศัพท์ในทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข ไปบรรยายให้วงการทหาร วงการเกษตร ผู้ฟังจะไม่ทราบความหมาย หรือใช้ศัพท์ในวงการทหาร ไปพูดในแวดวงแพทย์ สาธารณสุข ก็มักจะไม่ได้ผลเช่นกัน
5.ต้องทราบความคาดหวังของผู้ฟัง การบรรยายบางแห่ง ผู้ฟังถูกเกณฑ์ให้มาฟังโดยหัวหน้างานหรือเจ้าของ ดังนั้น ผู้ฟังกลุ่มดังกล่าวมักไม่มีความสนใจหรือความคาดหวังว่าจะนำความรู้ไปใช้ได้อย่างจริงจัง ในการบรรยายบางแห่งผู้ฟังมักเกิดอารมณ์เบื่อหน่ายเสียมากกว่าเพราะผู้ฟังเหมือนถูกบังคับให้มานั่งฟังการบรรยาย
6.ทัศนคติของผู้ฟัง มีความสำคัญมากในการพูด เช่น การพูดเรื่องการเมือง เรื่องศาสนา ต้องระวังมากๆเพราะ ถ้าจะพูดดี หรือ เราคิดว่าความคิดของเราถูกต้องอย่างไรก็ตาม ผู้ฟังมักจะไม่เชื่อ เพราะเรื่องการเมือง เรื่องศาสนา เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล รวมถึงทัศนคติของผู้ฟังต่อผู้พูดด้วย ถ้าผู้ฟังไม่ชอบผู้พูดเป็นการส่วนตัวแล้ว จะพูดให้ดีอย่างไร ก็คงยากที่ผู้ฟังคนนั้นจะชอบเรา
7.ต้องหมั่นสังเกตผู้ฟัง เวลาฟังบรรยายหรือพูด ถ้าผู้ฟัง เกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่สนใจ หลับ และสนใจเรื่องอื่นๆ เราต้องเปลี่ยนวิธีการพูดให้เหมาะสม เช่น ต้องนำเรื่องที่ขำขันที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่บรรยายมาเล่า เพื่อให้บรรยากาศดีขึ้น หรือ เรื่องที่แปลกๆ ที่ทันสมัย สิ่งที่ผู้ฟังยังไม่เคยได้ยิน มาเล่า เพื่อสอดแทรกการบรรยายให้ผู้ฟังหันมาสนใจการพูดของเรา หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะมีเกมส์ มีเพลง หรือกิจกรรมต่างๆมาสอดแทรกการพูดหรือการบรรยาย
ดังนั้น ถ้าต้องการเป็นนักพูดที่ดีต้องหมั่นวิเคราะห์ผู้ฟัง ว่าผู้ฟังของเราเป็นใคร มาจากไหน มีพื้นฐานความรู้แค่ไหน มีทัศนคติอย่างไร เป็นเพศไหน วัยไหน เสมือนหนึ่งนักพูดเป็นพ่อครัว ต้องรู้ว่าผู้ทานชอบอาหารรสชาติอะไร อยู่ในวัยไหน จะได้ทำอาหารให้ถูกปากผู้ทาน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *