'นักบริหารต้องลงมือทำเอง' ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต
|‘นักบริหารต้องลงมือทำเอง’ ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต
ธุรกิจพาณิชยนาวี หรือการขนส่งทางเรือ ถือเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ เพราะการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 90% มีจุดเด่นในเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งทางบกและทางอากาศ ที่สำคัญสามารถขนสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก
หนึ่งในบริษัทเก่าแก่ที่ดำเนินธุรกิจนี้มายาวนานถึง 104 ปี และเป็นหนึ่งในผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) คือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด(มหาชน) หรือ TTA ที่ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พร้อมกับการเข้ามาของ ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ เมื่อมีนาคม 2548
ซึ่งตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าผลการดำเนินงานของ TTA เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากตัวเลขสินทรัพย์ ที่เพิ่มจาก 23,140.ในปี 2549 ขึ้นมาที่ 35,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และกำไรสุทธิ เฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 4,800 ล้านบาทต่อปี
ม.ล. จันทรจุฑา หรือ คุณไอซ์ ถือเป็นทายาทคนแรกของหม่อมราชวงศ์ จันทรแรมศิริโชค ที่เติบโตและเล่าเรียนหนังสือที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตาและเอ็มบีเอจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ คลุกคลีอยู่ในแวดวงธนาคารและการเงินมากว่า 15 ปี เริ่มตั้งแต่งานดูแลการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทขนาดกลางของ แบงก์ ออฟ อเมริกา ที่ซานฟรานซิสโก แล้วย้ายมาบุกเบิกงานด้านอนุพันธ์ที่สาขาฮ่องกง และย้ายมาสาขาในไทยปี 2536 หลังจากนั้นจึงย้ายมาดูแลการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ที่ธนาคารกรุงเทพ ต่อมาย้ายไปทำงานกับ เอเชีย เครดิต เทรดดิ้ง กรุ๊ป ของ เจ.พี. มอร์แกน ที่ฮ่องกง และ มอร์แกน สแตนเลย์ ดีน วิตเตอร์ เอเชีย ที่สิงคโปร์
การพลิกผันตัวเองจากเส้นทางนักการเงิน สู่การเป็นนักบริหารครั้งนี้ ถือเป็นก้าวใหม่และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของตัวเขา และ TTA จากการเข้ามาปรับโครงสร้างการบริหาร พร้อมๆไปกับการปรับโครงสร้างธุรกิจและการเงิน เพื่อกระจายความเสี่ยงและรองรับการเติบโตในอนาคต หรือนอกเหนือจากการให้เช่าเรือในเส้นทางประจำแบบเทกอง การให้เช่าเรือระยะยาว และระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีกองเรือ 43 ลำ สั่งต่อใหม่อีก 9 จะรับมอบในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และขยายบริการเรือขุดเจาะน้ำมัน นอกชายฝั่งผ่าน บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) ในเครือ TTA ตอนนี้มีเรือ 4 ลำ และสั่งต่อเพิ่มอีก 1 ลำ แล้ว
ยังขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น การซื้อบริษัท ซีสเคป เซอร์เวยส์ พีทีอี จำกัด ธุรกิจวิศวกรรมใต้น้ำของประเทศสิงคโปร์ หรือธุรกิจทำแผนที่ใต้น้ำ ตลอดทั้งการซื้อบริษัท ในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อต่อยอดธุรกิจเดินเรือ และช่วยเสริมรายได้ให้กับบริษัทในช่วงที่ธุรกิจเดินเรือขาลง ให้มีเสถียรภาพด้านรายได้ในอนาคต
“หลักการบริหาร ผมเน้นความโปร่งใสเป็นอันดับแรก เห็นได้จากการเสนอข่าวที่เกิดขึ้นกับบริษัททั้งทางที่ดีและไม่ดีโดยไม่ปิดบัง เพื่อความโปร่งใสและตรงไปตรงมา จนทำให้งบการเงินไม่มีการแสดงความเห็นผู้ตรวจสอบบัญชีในทางไม่ดีเลย”
นอกจากนี้เขายังนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการปรับปรุงการทำงาน และแผนที่จะทำต่อเนื่องในปีนี้คือปรับปรุงระบบการทำงาน (re- engineering) เพื่อสร้างประสิทธิภาพรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต หากบริษัทขยายเพิ่มอีก 20-30% โดยไม่ต้องเพิ่มกำลังคน โดยมุ่งเน้นปรับปรุงใน 4 จุด โดยยกตัวอย่าง การลดขั้นตอนการสั่งซื้อของเช่น อะไหล่ น้ำมัน ไปจนถึงขั้นจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์ กระบวนการทั้งหมดเป็นอย่างไรและมีกี่ขั้นตอน สมมติมี 10 ขั้นตอน ก็จะต้องลดเหลือ 4-5 ขั้นตอน โดยนำระบบไอทีใหม่ที่ปรับปรุง มาเสริมเพื่อช่วยลดขั้นตอน เป็นต้น
เมื่อถามถึงหลักคิดในการบริหารองค์กร ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวยึดหลักที่ว่า “การทำธุรกิจอะไรก็ตาม เมื่อคิดเปรียบเทียบถึงต้นทุน ค่าใช้จ่าย ทุกอย่างแล้ว ยังมีกำไรก็จะทำ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ผมมาทำงานที่นี่จะเน้นเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น”
ทำให้ไม่ว่าทีมไหนภายใต้การดูแลจะมาเสนองานอะไรถ้าคำนวณแล้ว ถ้าไม่เห็น logic นี้ชัดเจนก็จะไม่รับและเป็นหน้าที่ของทีมที่จะต้องนำเสนองานและพิสูจน์ให้เข้าใจว่ามีโอกาสช่องการทำกำไรให้ได้ “ผมจะฟังความเห็นและไอเดียของลูกน้อง โดยผมจะทำตัวเป็นคนโง่ไว้ก่อน”
จึงจะเห็นได้ว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจ ของ TTA ในยุค ม.ล. จันทรจุฑานั้นไม่ยึดติดผูกพันกับตัวธุรกิจ เห็นได้จากช่วงที่เข้ามานั่งบริหารงาน จะมีการขยายงานใหม่ตลอดเวลา รวมทั้งการขายธุรกิจบางส่วนออกไป “หากเห็นว่าไม่พร้อมก็จะตัดสินใจขายออกไปจะดีกว่า เพราะธุรกิจก็คือธุรกิจ คือจะต้องเน้นเรื่องรายได้ ต้นทุน และต้องมีกำไรเพื่อสร้างความสมดุลของธุรกิจให้ได้ ซึ่งจะต่างกับสไตล์คนเอเชีย คือจะต้องรักษาธุรกิจเดิมเอาไว้ แม้จะมีปัญหา”
เมื่อถามถึงต้นแบบการบริหารมีใครเป็นต้นแบบ ม.ล. จันทรจุฑา เผยว่า ยึดตามแบบ แจ็ค เวลช์ อดีตซีอีโอ บริษัท เจนเนอรัล อิเล็คตริคฯ (จีอี) และ สตีเวน จ๊อบ ซีอีโอ บริษัท แอปเปิล คอมพิวเตอร์ฯคนปัจจุบัน โดยอธิบายว่า แจ็คเวลช์ ใช้เวลากว่า 60% ทำการพัฒนาคนอย่างเดียว ทำให้จีอี กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีธุรกิจหลากหลายกระจายอยู่ทั่วโลก
หน้าที่ของแจ็ค เวลช์ คือ การปั้นดาวรุ่งเพื่อมารับผิดชอบธุรกิจต่างๆให้ได้ เพื่อให้ธุรกิจขยายต่อไป ส่วน สตีเว่น จ็อบ จะลงลึกในรายละเอียด ดูแม้กระทั่งการออกแบบผลิตภัณฑ์จนได้รับความสนใจในตลาด เช่นผลิตภัณฑ์ iPod เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการลงมือทำและเข้าไปดูในรายละเอียดเอง
“เช่นเดียวกับงานที่โทริเซนไทยฯ ผมเป็นคนลงมือทำเอง แม้กระทั่งการเขียนรายงานผลการดำเนินงานประจำปี หรือดีล เพิ่มทุนกับธนาคารพาณิชย์ หรือหาพันธมิตร เพราะการตีโจทย์ของธุรกิจนั้นไม่ยาก แต่อุตสาหกรรมของแต่ละธุรกิจจะไม่เหมือนกันก็จะต้องยอมรับตรงนี้และเข้าใจวัฏจักรของแต่ละธุรกิจ”
รวมไปถึงการสร้างคอนเนกชันในธุรกิจให้ได้ เขายกตัวอย่างอีกว่า ที่จีอีนั้น หัวหน้าของบริษัทในเครือ พอบริหารงานได้ 4 ปี สามารถกระโดดไปทำงานกับอีกธุรกิจหนึ่งได้ เพราะจีอีจะพยายามออกแบบลักษณะของการทำงานให้เหมือนกัน แต่ต่างกันที่อุตสาหกรรมเท่านั้น
เขาจึงมองว่า การขยายธุรกิจโทรีเซนไทย เงิน และทรัพย์สินไม่ใช่ข้อจำกัด แต่การขยายธุรกิจนั้นอยู่ที่ความพร้อมของคน พร้อมกับย้ำว่า “ความฝันของผมยังมีอีกเยอะซึ่งตามสโลแกนวิสัยทัศน์ของบริษัทคือ เติบโต 10 เท่า ใน 10 ปีนับจากที่ผมเข้ามาทำงาน ทั้งด้านมูลค่าของบริษัท กำไร สินทรัพย์ แม้ที่ผ่านมาบริษัทเติบโตเพียง 2 เท่า เท่านั้น แต่ผมไม่ห่วง เพราะผมเชื่อว่าผมจะหาธุรกิจอื่นๆให้บริษัทเติบโตจนได้ ”
หนึ่งในเป้าหมายที่ท้าทายการทำงานของ ม.ล. จันทรจุฑา จากนี้ไปคือ การรุกเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน ไม่เฉพาะน้ำมัน และก๊าซเท่านั้นแต่ยังมีถ่านหิน ที่บริษัทเพิ่งเข้าไปซื้อบริษัทชิปปิ้งชื่อ Equinox ในอินโดนีเซีย และหวังจะเป็นตัวรุกเข้าไปในธุรกิจถ่านหิน ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก และการขยายธุรกิจไปในธุรกิจพลังงาน ก็เป็นส่วนช่วยให้เป้าหมายของบริษัทเติบโต 10 เท่า ใน 10 ปีด้วย