ธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่ม
|ธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่ม
ลักษณะธุรกิจ
ธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่มมีทั้งที่ผู้ผลิตจัดส่งเองและตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้จัดส่ง โดยตัวแทนรับน้ำจากผู้ผลิตนำส่งต่อยังผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนจำหน่ายจะคิดค่าบริการจัดส่งจากผู้บริโภค รวมในราคาจำหน่ายที่จะขึ้นอยู่กับระยะทางในการ ขนส่ง
วิธีการจัดตั้งและเริ่มต้นธุรกิจ
การจดทะเบียนพาณิชย์
ประเภทบุคคลธรรมดา
มีลักษณะเป็นกิจการที่มีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา คนเดียวหรือหลายคน หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ประเภทไม่จดทะเบียน
ผู้ประกอบธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่มประเภทบุคคลธรรมดา ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
ประเภทนิติบุคคล บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สถานที่ยื่นขอจดทะเบียน
กรุงเทพฯ ยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1 – 7 และส่งจดทะเบียนธุรกิจกลาง
สำนักทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ต่างจังหวัด ยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ที่ห้างหุ้นส่วนบริษัทมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
ค่าธรรมเนียม
จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
– ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เกินสามคน 1,000 บาท
– ผู้เป็นหุ้นส่วนเกินสามคน ชำระเพิ่มสำหรับจำนวนในที่เกินอีก คนละ 200 บาท
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด
– จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 – 25,000 บาท
– จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด 5,000 – 250,000 บาท
ภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา
ต้องยื่นขอเป็นผู้มีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อ สรรพากรพื้นที่ ที่ตั้งของสถานประกอบการ
- ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีและครึ่งปี (ภ.ง.ด.90และ 94)
- หากมีรายได้เกิน 1,200,000 ต่อปี ต้องยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30
นิติบุคคล
ต้องยื่นขอเป็นผู้มีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อ สรรพากรพื้นที่ ที่ตั้งของสถานประกอบการ
- ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ประจำปี และ ครึ่งปี (ภ.ง.ด.50 และ 51)
- หากมีรายได้เกิน 1,200,000 ต่อปี ต้องยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30
ภาษีป้าย
ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดตั้งป้ายใหม่ หรือแสดงป้ายใหม่ จะต้องชำระภาษีป้ายต่อเจ้าพนักงาน ภายใน 15 วัน และจะต้องยื่นชำระภาษีป้ายทุกปีที่ยังติดตั้งป้าย
สถานที่ขออนุญาต
กรุงเทพฯ ยื่นขอ ณ สำนักงานเขต ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
ต่างจังหวัด ยื่นขอ ณ สำนักงานเทศบาล หรือสุขาภิบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดูแลพื้นที่ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
กฎหมายและระเบียบเฉพาะธุรกิจ
การปิดป้ายแสดงราคาค่าบริการ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้จำหน่ายปลีกน้ำดื่มต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายให้เห็นชัดเจนในที่เปิดเผย
ณ สถานที่วางจำหน่าย การฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีกฎและระเบียบด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานที่ต้องถือปฏิบัติ
รายละเอียดการลงทุน
ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนเริ่มต้น
จะแตกต่างกันตามขนาดและลักษณะของกิจการจากข้อมูลเฉลี่ยของการสำรวจการลงทุนเริ่มต้นของผู้ประกอบธุรกิจ จำแนกดังนี้
- ค่าตกแต่งอาคาร เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงาน คิดเป็นร้อยละ 16
- ค่ายานพาหนะและเครื่องมือสำหรับการให้บริการส่งน้ำดื่ม คิดเป็นร้อยละ 69 ประกอบด้วยรถปิกอัพ/รถดัดแปลง รถบรรทุกเล็ก เครื่องมืออื่น ๆ เป็นต้น
- เงินทุนหมุนเวียน คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการเป็นค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่น ค่าน้ำดื่ม ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่า ค่าขนส่ง และเงินเดือน เป็นต้น
อัตราผลตอบแทนทางการเงิน
ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของธุรกิจ ความสามารถในการบริหารธุรกิจ จากการสำรวจพบว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากรายได้ทั้งปี ประมาณ ร้อยละ 20 ส่วนผลตอบแทนที่ได้จากเงินลงทุนทั้งหมด ประมาณร้อยละ 26 ต่อปี โดยจะได้รับเงินลงทุนทั้งหมดคืน ภายในระยะเวลาประมาณ 4 ปี
การตั้งราคาและโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม
ปัจจัยการตั้งราคา
ประกอบด้วย
- ต้นทุน
- ทำเลที่ตั้ง
- ราคาน้ำดื่มของผู้ประกอบกิจการรายอื่นระดับเดียวกันในท้องตลาด
- ความเชื่อถือต่อตราหรือยี่ห้อของน้ำดื่มที่จัดส่ง
โครงสร้างราคา
คำนวณโดย ต้นทุนผันแปร บวก ต้นทุนคงที่จัดสรร บวก กำไรที่ต้องการ
- ต้นทุนผันแปร ประกอบด้วย ราคาน้ำดื่มที่จัดซื้อจากผู้ผลิต เป็นต้น
- ต้นทุนคงที่จัดสรร ประกอบด้วย ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าเสื่อมราคาสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมืออุปกรณ์ เป็นต้น
การบริหาร/การจัดการ
โครงสร้างองค์กร
ประกอบด้วยงานหลักดังนี้
1. ด้านการบริหาร มีหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านการตลาด การเงิน จัดซื้อ บัญชี บุคคล ธุรการ และบริหารงานทั่วไป
2. ด้านการบริการจัดส่งน้ำดื่มตามกำหนดเวลา
พนักงานและการอบรมพนักงาน
พนักงาน
- มีพนักงานประจำเพื่อทำงานด้านต่างๆ เช่น การจัดซื้อน้ำดื่ม การขนส่งน้ำดื่ม เป็นต้น
- ส่วนใหญ่พนักงานเป็นเพศชาย
- ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาของพนักงาน
- ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาและประสบการณ์
การอบรมพนักงาน
เน้นการฝีกอบรมในการให้บริการ เลือกบุคลากรที่มีความแข็งแรง อดทน และมีใจรักด้านบริการ
วิเคราะห์ข้อดี ข้อด้อย โอกาส และอุปสรรค
ข้อดีและข้อด้อย
ข้อดี
- เป็นธุรกิจที่ไม่มีความสลับซับซ้อน ผู้ประกอบกิจการไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูง
- เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง
ข้อด้อย
1. การแข่งขันสูง
2. พนักงานหายากและเข้าออกบ่อย เนื่องจากงานหนัก
โอกาสและอุปสรรค
โอกาส
- น้ำดื่มบรรจุขวดขนาดใหญ่ (19 ลิตร) ราคาถูกกว่าขวดขนาดเล็ก
- คนไทยตื่นตัวในด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้เลือกบริโภคน้ำดื่มที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ
- มีสำนักงานจำนวนมากที่ต้องการน้ำดื่มสำหรับบริการพนักงาน
- มีครัวเรือนจำนวนมากในหมู่บ้านจัดสรรตามชานเมืองที่ต้องการบริการจัดส่งน้ำดื่ม
อุปสรรค
- มีผู้ประกอบธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่มจำนวนมาก การแข่งขันสูง
- ต้นทุนค่าน้ำมันในการขนส่งสูงขึ้น ในขณะที่การปรับราคาน้ำดื่มยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการแข่งขันสูง
- น้ำดื่มหาซื้อได้ง่ายตามห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
- ผู้ผลิตน้ำดื่มให้บริการจัดส่งซ้อนเส้นทาง และดึงลูกค้าเดิมไปใช้บริการ โดยให้เงื่อนไขที่ดีกว่า
ข้อเสนอแนะ
ด้านการบริหารจัดการ
- มีพื้นฐานความรู้ในธุรกิจให้บริการของตนเองและติดตามความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
- มีความเป็นผู้นำและมีพื้นฐานความรู้ด้านการบริหารจัดการ
- ส่งเสริมและให้โอกาสแก่พนักงานในการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจในลักษณะการแบ่งปันผลประโยชน์จากรายได้ค่าบริการ
- ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่พนักงานทุกระดับ และมีระบบสิ่งจูงใจที่เหมาะสม
- สร้างความภาคภูมิใจแก่พนักงาน มีความรักและภักดีต่อองค์กร และมุ่งมั่นที่จะช่วยกันสร้างให้เป็นองค์กรขนาดใหญ่
- ดำเนินการให้ถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
- ทำแผนธุรกิจ(Business Plan)ที่เหมาะสมทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- ต้องให้ความสำคัญและให้เวลากับการบริหารธุรกิจอย่างใกล้ชิด
ด้านการตลาด
การบริการและสถานที่ให้บริการ
การบริการ
1. ให้บริการที่รวดเร็ว ตามกำหนดเวลา
2. ให้บริการด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ ยืดหยุ่น และเป็นกันเองกับลูกค้า
3. สร้างมาตรฐานด้านการให้บริการและอัตราค่าบริการ
สถานที่ให้บริการ
1. ใช้ยานพาหนะสภาพดีและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน
2. เลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสม และอยู่ใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
การส่งเสริมการขาย
1. ทำป้ายโฆษณาหน้าสถานที่ให้บริการให้สะดุดตาและสามารถสื่อความหมายที่ดีต่อกลุ่มลูกค้า เป้าหมาย
2. ลงโฆษณาในสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยต้นทุนที่ต่ำ
3. ทำโบชัวร์ แผ่นพับ และเอกสารอื่นๆเพื่อเผยแพร่และแนะนำบริการ เพื่อแจกจ่ายยังกลุ่มลูกค้า เป้าหมาย
4. เลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสม และอยู่ใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ด้านบัญชีและการเงิน
- ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายประจำมากเกินไป
- มีโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม ไม่ก่อภาระหนี้มากเกินไป
- บริหารด้านการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินสูง
- พยายามนำกำไรจากการดำเนินงานมาเป็นเงินทุนสำรองหรือใช้สำหรับการขยายธุรกิจ
- แยกบัญชีและการเงินระหว่างของธุรกิจและส่วนตัวเพื่อสามารถวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของธุรกิจได้อย่างถูกต้อง
- ควรจัดทำงบการเงินให้ถูกต้อง
- การนำระบบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชีและอื่นๆมาช่วยในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน
ขอรายละเอียดข้อมูลผ่านเครื่องโทรสาร หรือติดต่อสำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ
โทร 0-2547–5954-5 โทรสาร 0-2547–5954
ตัวอย่าง รายละเอียดเงินลงทุนของธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่ม
รายการ จำนวนเงิน(บาท)
ค่าตกแต่งอาคารสำนักงาน 18,000
เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงาน
– ชุดรับแขก 2,000
– โต๊ะ/เก้าอี้ 5,000
– ตู้เอกสาร/ตู้โชว์ 5,000
– เครื่องปรับอากาศ 30,000
– โทรทัศน์ 8,000
– ตู้เย็น 6,500
– เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์ 34,000
– เครื่องถ่ายเอกสาร 27,000
– เครื่องโทรสาร 6,000
– เครื่องโทรศัพท์ 10,000
– เครื่องคิดเลข 500
– อุปกรณ์สิ้นเปลืองในสำนักงาน 700
– เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ 4,000
รวม 156,700
ค่ายานพาหนะและเครื่องมือสำหรับการให้บริการ
– รถปิกอัพ/รถดัดแปลง 540,000
– รถบรรทุกเล็ก 100,000
– รถมอเตอร์ไซด์ 24,000
– รถเข็น 1,600
– เครื่องมืออื่น ๆ 800
รวม 666,400
เงินทุนหมุนเวียน 140,000
รวมเงินลงทุนทั้งหมด 963,100
ที่มา ประมาณการจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการจำนวน 10 ราย ในช่วง
เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ.2544 และปรับรายการลงทุนซึ่ง
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนและมีความจำเป็นต่ำออก
ตัวอย่าง รายละเอียดรายรับ – รายจ่าย ของธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่ม
รายการ จำนวนเงิน(บาท)
รายได้ 1,330,200
รายจ่าย
– ค่าเช่าสถานที่ 24,000
– ค่าเช่ายานพาหนะ 6,000
– ค่าวัสดุสิ้นเปลือง 548,208
– เงินเดือนพนักงาน 203,400
– ค่าจ้างรายวัน 24,000
– ค่าน้ำมัน 47,160
– ค่าน้ำประปา 2,712
– ค่าไฟฟ้า 26,400
– ค่าโทรศัพท์ 14,400
– ค่าประกันภัย 7,650
– ค่าภาษีต่างๆ 1,360
– ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ 2,280
– ค่าทำบัญชี 10,200
– ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด 27,000
รวม 944,770
กำไร(ขาดทุน)ก่อนหักภาษีเงินได้ 385,430
หัก ภาษีเงินได้(30%) 115,629
กำไร(ขาดทุน)สุทธิ 269,801
ที่มา ค่าเฉลี่ยจากผลประกอบการปี พ.ศ.2543 ของผู้ประกอบการจำนวน 10 ราย
ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ.2544
ตัวอย่าง การคำนวณราคา ผู้ประกอบกิจการธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่มรายหนึ่งลงทุนเช่าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 1 คูหา อายุสัญญาเช่า 1 ปี ค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท มีลูกจ้าง 2 คน และมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
1. ต้นทุนคงที่
1.1 ต้นทุนคงที่ที่เป็นตัวเงิน (ต่อปี)
(1) ค่าเช่าอาคาร = 96,000 บาท
(2) เงินเดือนลูกจ้าง = 96,000 บาท
(3) ค่าขนส่ง = 36,000 บาท
(4) ค่าไฟฟ้า = 12,000 บาท
(5) ค่าน้ำประปา = 6,000 บาท
รวม = 246,000 บาท
1.2 ต้นทุนคงที่ที่ไม่เป็นตัวเงิน
(1) ค่าตกแต่งภายใน 5,000 บาท
คิดค่าเสื่อมราคาร้อยละ 20 ต่อปี = 1,000 บาท
(2) ค่าเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงาน 20,000 บาท
คิดค่าเสื่อมราคาร้อยละ 20 ต่อปี = 4,000 บาท
(3) ค่ายานพาหนะ 400,000 บาท
คิดค่าเสื่อมราคาร้อยละ 20 ต่อปี = 80,000 บาท
รวม = 85,000 บาท
รวมต้นทุนคงที่ทั้งหมดต่อปี = 331,000 บาท
2. ประมาณการยอดขายต่อขวดต่อปี
2.1 ในเวลา 1 วัน สามารถจำหน่ายน้ำดื่มได้ = 120 ขวด
2.2 ในเวลา 300 วัน สามารถจำหน่ายน้ำดื่มได้ 300×120 = 36,000 ขวด
2.3 ประมาณการยอดขายร้อยละ 80 ต่อปี = 28,800 ขวด
3. ต้นทุนคงที่จัดสรรต่อขวด = 331,000 = 11.49 บาท
28,800
4. ต้นทุนผันแปรต่อขวด
4.1 ค่าน้ำดื่ม = 35.00 บาท
4.2 ค่าน้ำมันรถยนต์ = 2.00 บาท
รวม = 37.00 บาท
5. ต้นทุนทั้งหมดต่อขวด = 37.00 + 11.49 = 48.49 บาท
6. ผู้ประกอบกิจการต้องการกำไรร้อยละ 10 ของต้นทุนทั้งหมด = 4.85 บาท
7. ผู้ประกอบกิจการตั้งราคาขายต่อขวด = 48.49 + 4.85 = 53.34 บาท
= 55 บาท