ธุรกิจซ่อมรถยนต์
|ธุรกิจซ่อมรถยนต์
ลักษณะธุรกิจ
ร้านซ่อมรถยนต์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป โดยไม่จำกัดยี่ห้อรถยนต์ และคิดอัตราค่าบริการต่ำกว่าค่าบริการของศูนย์บริการ ซึ่งการให้บริการจะครอบคลุมถึงการตรวจเช็คและซ่อมเครื่องยนต์
วิธีการจัดตั้งและเริ่มต้นธุรกิจ
การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ
ประเภทบุคคลธรรมดา
มีลักษณะเป็นกิจการที่มีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา คนเดียวหรือหลายคน หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ประเภทไม่จดทะเบียน
ผู้ประกอบธุรกิจอู่ซ่อมเครื่องยนต์รถยนต์ประเภทบุคคลธรรมดา ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
ประเภทนิติบุคคล บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สถานที่ยื่นขอจดทะเบียน
กรุงเทพฯ ยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1 – 7 และส่งจดทะเบียนธุรกิจกลาง สำนักทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ต่างจังหวัด ยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ที่ห้างหุ้นส่วนบริษัทมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
ค่าธรรมเนียม
จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
– ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เกินสามคน 1,000 บาท
– ผู้เป็นหุ้นส่วนเกินสามคน ชำระเพิ่มสำหรับจำนวนในที่เกินอีก คนละ 200 บาท
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด
– จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 – 25,000 บาท
– จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด 5,000 – 250,000 บาท
ภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา
ต้องยื่นขอเป็นผู้มีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อ สรรพากรพื้นที่ ที่ตั้งของสถานประกอบการ
- ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีและครึ่งปี (ภ.ง.ด.90 และ 94)
- หากมีรายได้เกิน 1,200,000 ต่อปี ต้องยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30
นิติบุคคล
ต้องยื่นขอเป็นผู้มีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อ สรรพากรพื้นที่ ที่ตั้งของสถานประกอบการ
- ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ประจำปี และ ครึ่งปี (ภ.ง.ด.50 และ 51)
- หากมีรายได้เกิน 1,200,000 ต่อปี ต้องยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30
ภาษีป้าย
ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดตั้งป้ายใหม่ หรือแสดงป้ายใหม่ จะต้องชำระภาษีป้ายต่อเจ้าพนักงาน
ภายใน 15 วัน และจะต้องยื่นชำระภาษีป้ายทุกปีที่ยังติดตั้งป้าย
สถานที่ขออนุญาต
กรุงเทพฯ ยื่นขอ ณ สำนักงานเขต ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
ต่างจังหวัด ยื่นขอ ณ สำนักงานเทศบาล หรือสุขาภิบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล
ซึ่งดูแลพื้นที่ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
กฎหมายและระเบียบเฉพาะธุรกิจ
ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ธุรกิจที่มีการต่อ ประกอบ ซ่อมเครื่องยนต์ รถยนต์ การพ่นสี การปะ เชื่อม ยางรถยนต์ และ การสะสมน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ต้องขออนุญาตประกอบกิจการก่อนดำเนินการ
สถานที่ขออนุญาต
กรุงเทพฯ ยื่นขอ ณ สำนักงานเขตที่ตั้งสถานประกอบการ
ต่างจังหวัด ยื่นขอ ณ สำนักงานเทศบาล หรือ สำนักงานสุขาภิบาล หรือ องค์การบริหารส่วน
ตำบล ซึ่งดูแลเขตพื้นที่ที่ตั้งสถานประกอบการ
ค่าธรรมเนียม แต่ละประเภท ไม่เกิน 10,000 บาท
การปิดป้ายแสดงราคาค่าบริการ
คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจบริการซ่อมรถ ต้องปิดป้ายแสดงราคาค่าบริการให้เห็นชัดเจนในที่เปิดเผย ณ สถานที่ตั้ง การฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีกฎและระเบียบด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานที่ต้องถือปฏิบัติ
รายละเอียดการลงทุน
ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนเริ่มต้น
จะแตกต่างกันตามขนาดและลักษณะของกิจการจากข้อมูลเฉลี่ยของการสำรวจการลงทุนเริ่มต้นของผู้ประกอบธุรกิจ จำแนกดังนี้
- ค่าตกแต่งอาคาร เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงาน คิดเป็นร้อยละ 15
- ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ คิดเป็นร้อยละ 11 ประกอบด้วย แม่แรงขนาดใหญ่ ปั๊มลม เครื่องเจีย สามขารองรถยนต์ เครื่องชาร์ตแบตเตอรี่ ที่เป่าลม ประแจ และไขควง เป็นต้น
- เงินทุนหมุนเวียน คิดเป็นร้อยละ 74 ส่วนใหญ่เป็นค่าอะไหล่ วัสดุสิ้นเปลือง ค่าแรงงานค้า เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำประปาและ ไฟฟ้า เป็นต้น
อัตราผลตอบแทนทางการเงิน
อัตราผลตอบแทนทางการเงินของธุรกิจซ่อมรถยนต์จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของ
กิจการ ทำเลที่ตั้ง และความสามารถในการบริหารธุรกิจ จากการสำรวจพบว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากรายได้ทั้งปี ประมาณ ร้อยละ 11 ส่วนผลตอบแทนที่ได้จากเงินลงทุนทั้งหมด ประมาณร้อยละ 8 ต่อปี โดยจะได้รับเงินลงทุนทั้งหมดคืน ภายในระยะเวลาประมาณ 4 ปี
การตั้งราคาและโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม
ปัจจัยการตั้งราคา
ประกอบด้วย
- ต้นทุนค่าอะไหล่ ค่าแรง
- ความยากง่ายของงาน
- ทำเลที่ตั้ง ค่าเช่าสถานที่
- ค่าบริการของอู่ซ่อมเครื่องรถยนต์ในระดับเดียวกันในท้องตลาด
โครงสร้างราคา
คำนวณโดย ต้นทุนผันแปร บวก ต้นทุนคงที่จัดสรร บวก กำไรที่ต้องการ
- ต้นทุนผันแปร ประกอบด้วย ค่าอะไหล่ ค่าแรงงาน และค่าวัสดุสิ้นเปลือง เช่น ค่าน้ำมันเครื่อง เป็นต้น
- ต้นทุนคงที่จัดสรร ประกอบด้วย ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าเสื่อมราคาสิ่งปลูกสร้าง/เครื่องมืออุปกรณ์
การบริหาร/การจัดการ
โครงสร้างองค์กร
ประกอบด้วยงานหลักดังนี้
- ด้านการบริหาร ด้านการเงิน จัดซื้อ บัญชี บุคคล ธุรการ ต้อนรับลูกค้า และบริหารงานทั่วไป
- ด้านการให้บริการมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้ข้อแนะนำลูกค้า ตรวจเช็ค และซ่อมรถยนต์
พนักงานและการอบรมพนักงาน
พนักงาน
- พนักงานประจำ เพื่อทำงานทั่วไปด้านการเก็บเงิน ต้อนรับลูกค้า ทำความสะอาด เป็นต้น โดย จำนวนจะขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน
- ช่างซ่อม จะมีทั้งพนักงานประจำและพนักงานรายวัน โดยแบ่งเปอร์เซ็นจากค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้า
การอบรมพนักงาน
โดยปกติจะไม่มีการฝึกอบรมช่าง จะเน้นการฝึกอบรมขณะปฏิบัติงาน
วิเคราะห์ข้อดี ข้อด้อย โอกาส และอุปสรรค
ข้อดีและข้อด้อย
ข้อดี
- เป็นธุรกิจที่ไม่สลับซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูง เพียงแต่มีประสบการณ์ในการซ่อมเครื่องยนต์
- มีโรงเรียนสอนซ่อมเครื่องยนต์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และใช้ในการหาช่างหรือผู้ช่วยช่างได้
ข้อด้อย
- ช่างซ่อมเครื่องยนต์ฝีมือดีหายาก เข้าออกเปลี่ยนงานบ่อย
- ต้องมีพื้นที่ให้บริการสำหรับการซ่อมและจอดรถยนต์ ในกรณีเช่าพื้นที่ จะมีค่าใช้จ่ายสูง
โอกาสและอุปสรรค
โอกาส
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้มีผู้ใช้บริการจากศูนย์บริการทั่วไปมากขึ้น เนื่องจากอัตราค่าบริการ
ต่ำกว่า
- รถยนต์ใหม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่ผู้ใช้บริการบางส่วนยังนิยมใช้รถเก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ซึ่งมักเสียและเข้าซ่อมบ่อย
- ชาวต่างชาติยังไม่สามารถประกอบอาชีพซ่อมเครื่องยนต์ได้โดยเสรี เนื่องจากมีการคุ้มครองตาม
พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว
อุปสรรค
- ผู้ประกอบกิจการบางส่วนให้บริการโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือคิดค่าบริการสูงเกินไป ในขณะที่ภาครัฐไม่มีการควบคุมด้านมาตรฐานการให้บริการ ทำให้ผู้ใช้บริการขาดความเชื่อถือและจะใช้บริการผู้ที่คุ้นเคยและทราบแน่ชัดว่าไว้วางใจได้เท่านั้น
- เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบกิจการไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้สูง อาศัยเพียงทักษะและประสบการณ์
บางส่วน ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาประกอบธุรกิจมาก ส่งผลให้การแข่งขันสูง
ข้อเสนอแนะ
ด้านการบริหารจัดการ
- ต้องมีความรู้พื้นฐานในธุรกิจให้บริการของตนเอง และติดตามความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
- ต้องมีความเป็นผู้นำและพื้นฐานความรู้ด้านการบริหารจัดการ
- ส่งเสริมและให้โอกาสพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจในลักษณะแบ่งปันผลประโยชน์จากรายได้
- ให้ความสำคัญกับการสรรหาและฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร
- ให้ผลตอบแทนและสิ่งจูงใจที่เหมาะสมเพื่อให้แรงกระตุ้นในการปฏิบัติงานของพนักงาน
- ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการบริหารหรือเสนอความคิดเห็น มีความรักและภักดีต่อองค์กร
- ดำเนินการให้ถูกต้องต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
- จัดทำแผนธุรกิจที่เหมาะสม ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- ต้องให้ความสำคัญและเวลากับการบริหารอย่างใกล้ชิด
ด้านการตลาด
การบริการและสถานที่ให้บริการ
การบริการ
- ให้บริการที่รวดเร็ว และตรงต่อเวลา แก่ผู้มาใช้บริการ
- ให้บริการด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ ยืดหยุ่น และเป็นกันเองกับผู้มาใช้บริการ
- สร้างตราหรือเครื่องหมายเพื่อให้ลูกค้าระลึกถึงและจดจำได้ง่าย
- สร้างมาตรฐานด้านการให้บริการและอัตราค่าบริการ
สถานที่ให้บริการ
- ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การให้บริการที่ทันสมัย และให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- เลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสม สะดวกต่อการเดินทางมาติดต่อและอยู่ใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
การส่งเสริมการขาย
- ทำป้ายโฆษณาหน้าสถานที่ให้บริการให้สะดุดตาและสามารถสื่อความหมายที่ดีต่อลูกค้า
- ลงโฆษณาในสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยต้นทุนที่ต่ำ
- ทำโบชัวร์ แผ่นพับ และเอกสารอื่นๆเพื่อเผยแพร่และแนะนำบริการ
ด้านบัญชีและการเงิน
- ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายประจำมากเกินไป
- มีโครงสร้างเงินลงทุนที่เหมาะสม ไม่ก่อภาระหนี้มากเกินไป
- บริหารการเงินอย่างเหมาะสมให้ธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินสูง
- นำกำไรจากการดำเนินงานเป็นเงินทุนสำรองหรือสำหรับการขยายธุรกิจ
- แยกบัญชีระหว่างธุรกิจและส่วนตัวเพื่อสามารถควบคุมและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน
ของธุรกิจได้ถูกต้อง
- ควรจัดทำงบการเงินให้ถูกต้อง
- นำระบบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชีมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน
ขอรายละเอียดข้อมูลผ่านเครื่องโทรสาร หรือติดต่อสำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ โทร 0-2547–5954-5 โทรสาร 0-2547–5954
ตัวอย่าง รายละเอียดเงินลงทุนของธุรกิจซ่อมรถยนต์
รายการ จำนวนเงิน(บาท)
เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงาน
– โต๊ะ / เก้าอี้ 4,000
– ตู้เอกสาร 8,400
– โทรทัศน์ 7,300
– เครื่องเสียง 7,000
– ตู้เย็น 5,500
– เครื่องโทรศัพท์ 6,000
– เครื่องคิดเลข 600
– เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ 9,200
รวม 48,000
ค่าเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการให้บริการ
– ปั้มลม 12,000
– แม่แรง 4,700
– เครื่องเจียร 1,300
– รถยนต์ / รถมอเตอร์ไซด์ 110,000
– ไขควง, คีม ,ประแจอื่นๆ 34,000
รวม 162,000
เงินทุนหมุนเวียน 100,000
รวมเงินลงทุนทั้งหมด 310,000
ที่มา ประมาณการจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบกิจการจำนวน 10 ราย ในช่วงเดือน
ธันวาคม พ.ศ.2543-มกราคม พ.ศ.2544 และปรับรายการลงทุนซึ่งผู้ประกอบกิจการ
ส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนและมีความจำเป็นต่ำออก
ตัวอย่าง รายละเอียดรายรับ-รายจ่าย ของธุรกิจซ่อมรถยนต์
รายการ จำนวนเงิน(บาท)
รายรับ 498,000
รายจ่าย
– เงินเดือนพนักงาน 121,200
– ค่าจ้างรายวัน 8,400
– ค่าเช่าสถานที่ 81,600
– ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ 30,000
– ค่าวัสดุสิ้นเปลือง 25,800
– ค่าน้ำมัน 19,800
– ค่าขนส่ง 2,400
– ค่าน้ำประปา 4,356
– ค่าไฟฟ้า 13,080
– ค่าโทรศัพท์ 11,640
– ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด 32,400
– ค่าประกันภัย 1,250
– ค่าภาษีต่างๆ 8,920
– ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย 59,316
รวม 420,162
กำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 77,838
หัก ภาษีเงินได้(30%) 23,351
กำไร(ขาดทุน)สุทธิ 54,487
ที่มา ค่าเฉลี่ยจากผลประกอบกิจการปี พ.ศ.2543 ของผู้ประกอบกิจการจำนวน 10 ราย
ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2543-มกราคม พ.ศ.2544
ตัวอย่าง ผู้ประกอบกิจการซ่อมรถยนต์รายหนึ่ง ได้ลงทุนเช่าที่ดิน 60 ตารางวา อายุสัญญาเช่า 5 ปี ค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารซ่อมรถยนต์ มีช่างซ่อมให้บริการ 5 คน และมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
1. ต้นทุนคงที่
1.1 ต้นทุนคงที่ที่เป็นตัวเงิน (ต่อปี)
(1) ค่าเช่าที่ดิน = 240,000 บาท
(2) เงินเดือนพนักงานประจำ = 360,000 บาท
(3) ค่าไฟฟ้า = 24,000 บาท
(4) ค่าน้ำประปา = 3,000 บาท
(5) ค่าโทรศัพท์ = 12,000 บาท
(6) ค่าภาษีป้าย = 3,000 บาท
(7) ค่าทำบัญชี = 5,000 บาท
รวม = 647,000 บาท
1.2 ต้นทุนคงที่ที่ไม่เป็นตัวเงิน
(1) ค่าอาคารสำนักงาน 300,000 บาท
คิดค่าเสื่อมราคาร้อยละ 20 = 60,000 บาท
(2) ค่าตกแต่งภายใน 50,000 บาท
คิดค่าใช้จ่ายตัดจ่ายร้อยละ 10 = 5,000 บาท
(3) ค่าเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงาน 74,500 บาท
คิดค่าเสื่อมราคาร้อยละ 20 = 14,900 บาท
(4) ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ 350,000 บาท คิดค่าเสื่อมราคา
ร้อยละ 20 = 70,000 บาท
รวม = 149,900 บาท
รวมต้นทุนคงที่ทั้งหมด = 796,900 บาท
2. ประมาณการจำนวนรถยนต์ที่ให้บริการ
ในเวลา 1 วันสามารถซ่อมรถยนต์ได้ = 30 คัน
ในเวลา 1 ปี(300 วัน)ซ่อมรถยนต์ได้ = 9,000 คัน
ประมาณการมีรถยนต์มาใช้บริการร้อยละ 80 = 7,200 คัน
3. ต้นทุนคงที่จัดสรรต่อคัน = 796,900 บาท
7,200
= 110.68 บาท
กรณีที่ลูกค้านำรถยนต์เข้ามาซ่อมและมีต้นทุนผันแปรดังนี้
4. ค่าแรงงาน เนื่องจากเป็นการจ้างช่างประจำ จึงรวมค่าแรงงานอยู่ในส่วนของต้นทุนคงที่
5. ค่าอะไหล่เครื่องยนต์ = 1,000 บาท
6. ค่าวัสดุสิ้นเปลือง = 200 บาท
7. ต้นทุนทั้งหมด = 1,000 + 200 + 110.68 = 1,310.68 บาท
8. ผู้ประกอบกิจการต้องการมีกำไรร้อยละ 20 ของต้นทุนทั้งหมด = 262.14 บาท
9. อัตราค่าบริการกำหนดดังนี้
อัตราค่าบริการ = ค่าอะไหล่และวัสดุ + ต้นทุนคงที่จัดสรร + กำไร
(บาท) (บาท) (บาท/คัน) (บาท)
= 1,000 + 200 + 110.68 + 262.18 บาท
= 1,572.86 บาท
ผู้ประกอบกิจการจะคิดอัตราค่าบริการประมาณ = 1,600 บาท