ธีโอดอร์ รูสเวลท์ แบบอย่างเรียนรู้สหวิทยาการ

ธีโอดอร์ รูสเวลท์ แบบอย่างเรียนรู้สหวิทยาการ
 
วันที่ : 19 มิถุนายน 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
 
         ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt, Jr.) ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา ผู้ทำให้โครงการขุดคลองปานามาสำเร็จได้ในปี ค.ศ.1903 เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ค.ศ.1906 รวมถึงได้รับเลือกให้มีรูปสลักใบหน้าบนหน้าผา เมาน์ท รัชมอร์ (Mount Rushmore) อนุสาวรีย์ให้กับอดีตประธานาธิบดี 4 คน ซึ่งเป็นวีรบุรุษของคนอเมริกัน
 
         บุคลิกภาพของ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ ซึ่งเป็นคนที่มีพลังในการทำงาน มีความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ในสหวิทยาการ ทำให้กลายเป็นบุคคลที่ผ่านประสบการณ์หลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง นักกฎหมาย นักประวัติศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา นักสำรวจ นักเขียน รวมถึงทหาร
 
         ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ของอดีตประธานาธิบดีท่านนี้ถือว่า ใช้ชีวิตนอกห้องเรียนมากกว่าในห้องเรียน สนามฝึกทักษะของ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ จึงมีตั้งแต่ลานกีฬาไปจนถึงห้องประชุม
 
         กีฬาที่ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ ชื่นชอบคือ การชกมวย ซึ่งเป็นกีฬาชนิดแรกที่เขาฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก โดยเขาได้เข้าร่วมแข่งขัน และได้รับรางวัลตำแหน่งรองชนะเลิศจากการแข่งขันชกมวยของฮาร์วาร์ด นอกจากนี้เขายังใช้เวลาว่างที่มีอยู่ไปกับกีฬาพายเรือ เทนนิส อันเป็นการเพิ่มพูนความแข็งแกร่งให้กับร่างกายแก่คนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็กดังเช่นเขา
 
         ในขณะเดียวกันอดีตประธานาธิบดีท่านนี้ ยังรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ตรวจสอบ แก้ไขวารสารของนักเรียน และได้รับเชิญให้อยู่ในสมาคมที่มีชื่อเสียงว่า เชิญแต่เฉพาะคนที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการมาร่วมเท่านั้นคือ สมาคมเกียรตินิยม Phi Beta Kappa ซึ่งทำให้ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้รู้ในหลากหลายสาขา
 
         ถือได้ว่าเป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเลิศ เขาจบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (magna cum laude) ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง เขามักอ่านหนังสือเป็นเวลานาน และอ่านหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งหนังสือเกี่ยวกับวิชาชีววิทยา ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาสนใจ และหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ อัตชีวประวัติ ปรัชญา วาทศิลป์ รวมถึงจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ภายในหนังสือ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่มากกว่าตำราเรียนที่มีอยู่
 
         ความสนใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างเป็นสหวิทยาการ และการฝึกฝนทักษะในหลายด้าน จึงเป็นการวางรากฐานที่ทำให้อดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลท์ มีความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ส่งผลให้เขาสามารถทำงานในบทบาทที่หลากหลาย และกลายมาเป็นผู้นำกลุ่มรีพับลิกันที่มีหัวก้าวหน้า ผลักดันร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเสมอภาคในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่คนทุกลุ่ม
 
         โลกปัจจุบันที่การแข่งขันสูง การมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่าหนึ่งอย่าง นับเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิต เนื่องจากประเด็นในสังคมในปัจจุบัน มีความซับซ้อนจนจำเป็นต้องนำความรู้หลากหลายสาขามาร่วมคิด แท้ที่จริงแล้ว คนเราไม่ได้มีความสามารถจำกัดอยู่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพด้านอื่น ที่พร้อมจะถูกพัฒนาและนำออกมาใช้ หากถูกค้นพบและได้รับการฝึกฝน เรียนรู้ และทดลองทำอย่างสม่ำเสมอ
 
         การที่เราจะมีความรู้ความชำนาญมากกว่าหนึ่งด้าน ย่อมเกิดจากการเรียนรู้เพิ่มเติม หรือการนำความรู้ที่มีออกมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เรามีความรอบรู้ ความชำนาญ ในวิชาชีพหลายด้าน
 
         นักศึกษาควรตระหนักว่า การมีความรู้เพียงด้านทฤษฎีหรือวิชาการด้านต่าง ๆ นั้นไม่เพียงพอ ทุกสาขาวิชาชีพที่เรียนนั้นจะต้องมีความสามารถทักษะอื่นที่จำเป็นร่วมด้วย เพราะ ย่อมจะได้รับโอกาสมากกว่าคนที่มีทักษะความรู้เพียงด้านเดียว อีกทั้งยังเป็นหลักประกันในการนำความรู้ที่มีมาใช้ประโยชน์เพื่อตนเอง และสังคมในด้านต่าง ๆ ในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
 
         หากเพียงตระหนักว่า คนเราแต่ละคน มีความสามารถที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าสิ่งเดียว และลองขยับความคิดเปิดกว้าง พัฒนาศักยภาพในด้านอื่น ๆ โดยไปเรียนรู้และฝึกฝนเพิ่มเติม เราจะรับรู้ได้ว่าศักยภาพของเราในการทำสิ่งต่าง ๆ นั้นมีอยู่อย่างเหลือเฟือ
 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *