ธรรมชาติของความแตกต่าง

ธรรมชาติของความแตกต่าง
 
วันที่ : 26 เมษายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์โคราชรายวัน
 
              มนุษย์ทุกคนมีความแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนใคร ในการทำงานกับมนุษย์ ความแตกต่างไม่ใช่เรื่องที่ ๆ ไม่ดี หากเรามองในเชิงบวก การเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของความแตกต่าง จะช่วยให้เราสามารถตอบสนองความต้องการและปฎิบัติต่อผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

              ดังนั้น ในการปฏิบัติต่อผู้อื่น เราจึงต้องใส่ใจในความรู้สึกนึกคิดของเขาด้วยว่า คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร และเราควรจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไรจึงบรรลุผลสำเร็จมากที่สุด โดยไม่สามารถสรุปรวบรัดได้ว่าเหมือนกันกับเรา เห็นได้ว่าบุคคลแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เช่นมีรสนิยมที่ไม่เหมือนกัน แม้ในเรื่องเดียวกัน ในสิ่งเดียวกัน เราอาจจะชอบแต่เขาอาจจะไม่ชอบ สิ่งที่เราคิดว่าดีสำหรับเขาด้วยนั้น อาจเป็นสิ่งที่เขารังเกียจ และทำให้เขาอาจตีความเจตนาดีของเราผิดไปได้
มีคำกล่าวไว้ว่า

              จงปฏิบัติต่อผู้อื่น เฉกเช่นเดียวกับที่ต้องการให้เขาปฏิบัติต่อเรา”
  
           
หากเราปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ดี สิ่งที่น่าพึงพอใจ เราย่อมได้รับการปฏิบัติที่ดี ที่ทำให้เราพึงพอใจและสุขใจกลับมาเป็นการตอบแทน  
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากคำกล่าวข้างต้น สำหรับผู้ที่อยู่ในบทบาท ‘นำ’ ผู้อื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความจริงที่ว่าถ้ามีการนำย่อมต้องมีผู้ยินดีติดตาม ในขณะเดียวกันการเป็นฝ่ายตามก็หมายถึงการมีผู้นำให้พึ่งพาอาศัย ฉะนั้นทั้งฝ่ายผู้นำและฝ่ายผู้ตามย่อมต้องเดินไปด้วยกัน จะละทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมไม่ได้ ผู้นำเองจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจทีมงานที่เป็นผู้ปฏิบัติแต่ละคน ว่าแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ในการสื่อสารและการสร้างความคาดหวังในทีมงานแต่ละคน และผลักดันให้ทีมงานทำงานจนบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องปฏิบัติหรือใช้เทคนิคที่แตกต่างกันให้เหมาะกับแต่ละบุคคล

              การพัฒนาความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น จึงเป็นทักษะสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรฝึกฝน โดยในภาคปฏิบัติ สิ่งที่เราควรทำ ได้แก่ การฝึกลักษณะนิสัยไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น” อาทิ

              ไม่เอาความต้องการของตนเองเป็น “ศูนย์กลาง
หากเราเป็นผู้นำ เพื่อให้งานเกิดขึ้นได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายระดับสูงและไม่ทำร้ายจิตใจของผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนให้งานบรรลุผลได้ สิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักถึงคือความต้องการของผู้ที่ปฎิบัติที่อยู่ภายใต้เรา โดยคำนึงว่า เขาจะคิดอย่างไร’ ‘เขาเข้าใจหรือไม่’ ‘เขาปรารถนาเช่นไร’ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ที่สำคัญ ต้องไม่คิดว่าตนเองเก่งกว่า และไม่ยึดความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง หากเราไม่สนใจและเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น เท่ากับว่าเรากำลังทำลายตนเอง เพราะเราจะถูกต่อต้านและไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานในที่สุด

              ช่างคิด สังเกต ก่อนตีความ  
เราเข้าใจแล้วว่า ในคนแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันทั้งด้านความคิด ความแตกต่างด้านร่างกาย ความแตกต่างทางด้านจิตใจ ความแตกต่างทางด้านอารมณ์ ความแตกต่างทางด้านความรู้ ประสบการณ์ ความแตกต่างทางด้านอุปนิสัยใจคอ รวมทั้งความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ทำให้การแสดงออกต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเพื่อนร่วมงานแต่ละคน โดยไม่ด่วนตีความตัดสินหรือสรุปว่าทุกคนต้องคิดและทำเหมือน ๆ กัน เราควรเป็นคนที่ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น เริ่มต้นจากการเป็นคนช่างสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานของเราแต่ละคนเป็นเช่นไร สังเกตท่าทางปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของเรา ควรเป็นคนรู้จักคิด ไตร่ตรองและคิดถึงผลที่อาจเกิดขึ้นแก่คนอื่นเสมอ และควรเป็นคนที่ชอบรับฟังความคิดเห็นของทีมงาน พยายามทำความเข้าใจในความคิดและการปฏิบัติที่แตกต่างกันของแต่ละคน
  
           
เส้นทางแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลวในบทบาทผู้นำ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ที่จะพัฒนาความเข้าใจผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะผู้นำต้องนำคน จึงจำเป็นต้องเข้าใจคนทุกคนที่ต้องนำ’ มิเช่นนั้นแล้วย่อมไม่สามารถนำพาทั้งทีมให้ร่วมแรงร่วมใจไปสู่เป้าหมายได้ ดังนั้น ผู้ปรารถนาความสำเร็จในฐานะผู้นำ จึงควรเรียนรู้ในการไวต่อความรู้สึกของผู้ร่วมงาน และปฏิบัติต่อกันด้วยความเข้าใจ 

              นอกจากนี้ เราต้องตระหนักว่า มุมมองของเราแต่ละคนในเรื่องเดียวกันอาจมีความแตกต่างกัน แต่ละคนนั้นต่างมี อคติ ซึ่งอคติเป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิด และมีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจและตีความสิ่งที่เห็นหรือได้ยิน เราต้องระวังเรื่องนี้ โดยต้องพยายามเข้าใจในสิ่งที่แต่ละคนพูด ที่สำคัญต้องไม่ใช้อารมณ์และความรู้สึกของเราพิพากษาตัดสินผู้อื่น แต่ใช้เหตุผลในการสื่อสารข้อเท็จจริง

 
 
Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *