ท่ายืน ชี้อนาคตการพูด
|ท่ายืน ชี้อนาคตการพูด
วันที่ : 9 ตุลาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : งานวันนี้
ในการพัฒนาทักษะการพูดนั้น มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรเรียนรู้ แม้ไม่ใช่การพูด นั่นคือ การยืนพูด
เราอาจไม่เห็นว่าการยืนพูดนั้น สำคัญอย่างไร แต่แท้จริงแล้วมีความสำคัญมาก เพราะอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า “ผู้ฟัง คือ ผู้ชม” พวกเขาไม่ได้ฟังเราเท่านั้น แต่เขาจะมองเรา ยิ่งเมื่อเราต้องยืนพูดอยู่ด้านหน้าเวที หรือหน้าห้อง เราย่อมอยู่ในสายตาของผู้ฟังตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าทีเดียว
การยืนนั้นสะท้อนบุคลิกภาพของผู้พูด สำหรับบางคนที่ไม่ได้ระมัดระวังหรือใส่ใจในเรื่องนี้ ท่ายืนของเขาอาจทำให้เขากลายเป็นตัวตลกในสายตาผู้ฟัง ดูไม่น่าเชื่อถือ ดูขาดความมั่นใจในตนเอง หรือดูเคร่งเครียด เกินไปและอาจเป็นเหตุให้ผู้ฟังจดจ่อกับท่ายืนของเรามากกว่าที่ฟังสาระที่เราสื่อสารได้
ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ท่ายืนที่เหมาะสม และ ไม่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้เป็นท่ายืนของเราที่เหมาะสมกับบุคลิกของเรามากที่สุดต่อไป
ท่ายืนแนะนำ
การยืนที่ดูเหมาะสมนั้น ควรเป็นท่ายืนที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สามารถพูดและเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา และจะต้องทำให้ผู้ชมนั้นเห็นเป็นปกติธรรมชาติ ไม่เกิดความรู้สึกสะดุดตากับท่ายืนของเรา โดยควรยืนหลังตรง เท้าทั้งสองควรห่างกันประมาณ 1 คืบ ให้ปลายเท้าอยู่ล้ำกัน ไม่ควรให้ปลายเท้าอยู่ตรงในแนวเดียวกัน ในขณะยืนนั้น ต้องรู้สึกว่าไม่เครียด ขาดความเป็นตัวของตัวเอง จนรู้สึกว่าพูดตะกุกตะกัก แต่ต้องเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย มั่นใจที่จะพูด
ท่ายืนหลีกเลี่ยง
สำหรับท่ายืนที่เราควรหลีกเลี่ยงนั้น จากประสบการณ์ที่เห็นคนพูดมามาก พอสรุปได้ว่า ท่ายืนที่เราควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้
ท่าโรโบคอป เป็นท่ายืนตรงเกินไปเหมือนเคารพธงชาติ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวแบบเดียวซ้ำ ๆ แข็งเหมือนหุ่นยนต์ เช่น มือทำท่ายกขึ้นลงแบบใด ก็ทำแบบนั้นตลอดการพูด เป็นต้น
ท่าคนใช้ถูกดุ เป็นท่ายืนในลักษณะที่ทำเหมือนคนถ่อมตน เช่น ทำไหล่ห่อ ๆ ก้มหลัง เอามือไขว้ไว้ข้างหน้า แต่ท่านี้จะทำให้ผู้พูดไร้ความสง่างาม
ท่าอย่าปล่อยฉันไว้เพียงลำพัง เป็นท่ายืนที่ดูเหมือนต้องพึ่งพิงบางสิ่งที่ใกล้ตัวไว้ให้มากที่สุด เช่น เอามือจับขาตั้งไมค์ หรือจับสายไมค์ไว้แน่นตลอดเวลาโดยไม่มีความจำเป็น
ท่านายแบบนางแบบ ท่านี้สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้พูดจนเกินไป คิดว่าตนเองเดินอยู่บนแคตวอร์ก กำลังโชว์เสื้อผ้าอยู่ คือ เดินไป เดินมา ตลอดเวลาอย่างไม่มีความหมาย หรือยืนเอนไปด้านหน้ามากเกินไปจนดูผิดธรรมชาติ
ท่าตาดูดาว เท้าติดดิน ท่านี้เป็นลักษณะของคนช่างคิด เวลาพูด แทนที่จะมองผู้ฟัง กลับชอบเงยหน้าขึ้น มองไปข้างบน เหมือนกับคนที่คิดอะไรอยู่ แล้วพูดออกมา ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไม่ได้พูดกับตน
ท่าเปิดทางสุนัขผ่าน ท่านี้เป็นท่ายืนของคนลืมตัว คือ ยืนขาห่างออกจากกันมากเกินไป โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่สวมกระโปรง การยืนเช่นนี้จะทำให้สะดุดตาได้ง่าย และจะทำให้เสียบุคลิกที่ดีไป
จำไว้ว่า ท่ายืนสามารถสร้าง “ความไม่ประทับใจ” ครั้งแรกได้ ถ้าเรายืนไม่เหมาะสมจนเกิดความสะดุดตาผู้ฟัง ดังนั้น การฝึกท่ายืนจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เราอาจฝึกโดยการมองตัวเองในกระจก และควรให้เพื่อน ๆ ลองวิพากษ์วิจารณ์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ายืนที่เหมาะสมของเรา โดยต้องไม่ลืมว่าต้องเป็นท่ายืนที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ และส่งเสริมให้เราพูดได้เป็นอย่างดี