ทุจริตต่อหน้าที่
ทุจริตต่อหน้าที่
ปรกติแล้วลูกจ้างมักจะมองว่านายจ้างเอาเปรียบ หากไม่พอใจก็หาเรื่องไล่ออก โดยไม่มีเหตุผล ซึ่งก็จะนำไปสู่การฟ้องร้อง อ้างว่านายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นคดีนำไปสู่ศาลแรงงาน ดังเช่นกรณีนี้มาดูกันว่านายจ้างเลิกจ้างเป้นธรรมหรือไม่
นายธรรม เป็นลูกจ้างบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยทำงานในตำแหน่งพนักงานประจำฝ่ายสินไหมทดแทน ตำแหน่งหัวหน้าตรวจงาน ทำงานกับบริษัทดังกล่าวมานานหลายปี มีความรู้ความสามารถในวด้านประกันภัยเป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นคนกว้างขวางรู้จักคู่ค้าของบริษัท เกือบทุกสาขา ด้วยความที่รู้จักมักคุ้นกับคู่ค้าของบริษัท วันหนึ่งนายธรรม ได้โทรแจ้งพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุประจำสาขารวม 4 สาขา ให้เรียกเงินจากอู่ที่นำรถยนต์ของบริษัทเข้าซ่อม แต่มีบางอู่ไม่ยินยอม และได้ร้องเรียนมายังบริษัท ว่าเป็นนโยบายของบริษัทหรือไม่ บริษัทจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและทำการสอบสวนนายธรรม ซึ่งนายธรรมได้ยอมรับสารภาพ และขอให้บริษัทช่วยเหลือโดยรับรองว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก คณะกรรมการสอบสวนได้มีมติให้เลิกจ้างนายธรรม
นายธรรมไม่พอใจคำสังดังกล่าว จึงได้ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงาน โดยอ้างว่าบริษัทเลิกจ้างตนโดยไม่ได้กระทำความผิดและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับให้บริษัทจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฝ่ายบริษัทให้การว่านายธรรม สั่งให้พนักงานสินไหมทดแทนประจำสาขาที่ตนเองรับผิดชอบ เรียกร้องผลประโยชน์จากอู่ซ่อมรถยนต์ที่นำรถยนต์มาซ่อม เป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงและไม่เหมาะสมนายะรรมจึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้บริษัท จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างค้างจ่าย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
บริษัทยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา(คดีแรงงานยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย) ศาลฎีกาเห็นว่า นายธรรมทำงานในตำแหน่งพนักงานประจำฝ่ายสินไหมทดแทนรถยนต์ ได้โทรศัพท์ไปหา ว. พ. ส. และ ซ. พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุประจำสาขา 4 สาขา ว่าให้เรียกร้องผลประโยชน์เป็นเงินจากอู่ซ่อมรถที่คนทั้งสี่ต้องนำรถที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทเข้าซ่อม การกระทำดังกล่าวของนายธรรมดังกล่าว เป็นการคดโกงไม่ซื่อตรง โดยการเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากลูกค้าของบริษัท อันมีผลทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างยิ่ง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ บริษัทสามารถเลิกจ้างนายธรรม โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอเรื่องค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย นอกจากที่ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง
กรณีดังกล่าวคงเป็นอุทาหรณ์สำหรับนายจ้างและลูกจ้างเป็นอย่างดีนะครับ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9102/2546 )