ทิศทางพัฒนาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552

ทิศทางพัฒนาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552

 

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์

         การเผชิญปัญหาการแข่งขันที่จะรุนแรงในปี 2552 ที่หลายฝ่ายออกมาบอกว่าจะเป็นปีที่ “เผาจริง” ส่วนที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ขึ้นอยู่กับปัจเจกชน ซึ่งโลจิสติกส์นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ หากจะนำซัพพลายเชนไปใช้ร่วมด้วย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างสูง โดยพื้นฐานที่ต้องเข้าใจถึงโลจิสติกส์ ในฐานะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ และกระจายสินค้า อย่างมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลทันเวลา และประหยัดต้นทุน แต่การที่จะดำเนินกิจกรรมของโลจิสติกส์ให้บรรลุเป้าหมายได้เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทั้งในระดับภายในองค์กร และระดับระหว่างองค์กร คือ ซัพพลายเออร์และลูกค้า ซึ่งความสัมพันธ์มีทั้งที่ต่ำกว่าและเหนือกว่า จึงต้องนำระบบการจัดการซัพพลายเชน ซึ่งจะให้น้ำหนักการจัดการความร่วมมือและความสัมพันธ์ ที่เรียกว่า “Collaborate Advantage” ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนด้วยการจัดการ “SRM” เป็นการจัดการเครือข่ายของ “คู่ค้า” ให้เป็น “หุ้นส่วนธุรกิจ” โดยให้กิจกรรมโลจิสติกส์ขับเคลื่อนอยู่บนเครือข่ายของโซ่อุปทานที่เป็น “Win-Win Advantage” โดยที่ประโยชน์ของการจัดการซัพพลายเชนที่ดีจะส่งผลต่อการลดต้นทุนสินค้าคงคลัง และลดการขนส่งเที่ยวเปล่า ซึ่งต้นทุนสินค้าคงคลังและขนส่งเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของต้นทุนโลจิสติกส์ ที่กล่าวมานี้ อาจจะมีผู้คิดในใจว่า “พูดง่ายแต่ทำยาก” โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งขาดอำนาจต่อรองทั้งจากซัพพลายเออร์และกับลูกค้า แต่การที่จะให้ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่อยู่รอดพ้นปี 2552 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ตลาดถดถอยจากการส่งออก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง , หนี้การค้าจะลากยาวและเก็บเงินยาก , เงินตึงจากสภาพคล่องที่ลดลง แหล่งเงินจะเข้าถึงยากบวกกับความไม่สมานฉันท์-แบ่งฝ่ายของคนในชาติ และการเมืองที่ง่อนแง่นจากรัฐบาลที่ไม่ได้รับการเชื่อมั่นและไม่มียุทธศาสตร์และการไม่บูรณาการของภาคการเมืองและหน่วยงานที่จะจัดการปัญหาทั้งด้านการเมืองในประเทศและเศรษฐกิจขาลง
         ดังนั้น ทิศทางของการจัดการธุรกิจในปี 2552 ก็คือทิศทางของการนำระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเข้ามาประยุกต์ใช้ในระดับปฏิบัติการ โดยนำมาเป็นเครื่องมือของธุรกิจในการจัดการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า ทั้งในองค์กรและระหว่างองค์กร รวมถึงการลดพื้นที่และจำนวนที่ต้องเก็บสินค้าคงคลังให้เหลือน้อยที่สุด โดยการขจัดกิจกรรมคอขวด (Bottle neck) และค่าใช้จ่ายที่ไม่มีมูลค่าเพิ่ม (Non Value Added Cost) เสริมสร้างประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการกระจายสินค้า-บริการ ผ่านช่องทางบนเครือข่ายของความร่วมมือและความสัมพันธ์ (Collaborate & Relationship) ทั้งกับคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งจะต้องพัฒนาให้เป็นจุดแข็งสู่การลดต้นทุนรวมและเพิ่มประสิทธิภาพของการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะกับ SME โมเดลของธุรกิจต้นแบบที่นำมาใช้จึงต้องนำโมเดลของ SME ที่ประสบความสำเร็จมากกว่านำโมเดลของบริษัทข้ามชาติมาเป็นต้นแบบ เพราะจากพื้นฐานด้านตลาด ทุน และการจัดการ รวมถึง ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของธุรกิจข้ามชาติหรือธุรกิจที่เป็น Mega Company อาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งนี้ ทิศทางของการพัฒนาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในปี 2552  ธุรกิจขนาดกลางและ SMEs จะต้องเร่งที่จะเข้าใจ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดอานิสงค์จริง โดยขจัดโครงสร้างสายบังคับบัญชาที่เป็นอุปสรรคและระบบอุปถัมม์แบบเครือญาตในองค์กร รวมถึง รื้อ แก้ไข ปรับเปลี่ยน วัฒนธรรมในองค์กรที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการ “Big Change” ที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับลดต้นทุนโลจิสติกส์ จะเป็นโจทก์ที่ท้าทาย สำหรับผู้บริหารธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการบริหารธุรกิจให้สามารถแข่งขันฟันฝ่าอยู่รอดจากวิกฤติรอบนี้ได้อย่างปลอดภัย โดยกุญแจแห่งความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ของปัญหาที่กำลังจะเผชิญ (Awareness) การมีวิสัยทัศน์ (Vision) และความเป็นผู้นำของผู้บริหาร (Leadership) “โจทย์เหล่านี้คำตอบไม่ใช่อยู่ที่รัฐบาลหรือคนนอกที่จะมาช่วย แต่อยู่ที่ตัวของผู้บริหารธุรกิจ” ว่าจะต้องกำหนดเป็นแผนธุรกิจในการนำระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะต้องลงมือทำเสียแต่เดี่ยวนี้.. ก่อนที่จะสายไป

ที่มา www.tanitsorat.com วันที่ 26 ธันวาคม 2552

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *