ทำ Team ให้ Work

ทำ Team ให้ Work
วันนี้ดิฉันมีข่าวดีแบบร้ายๆ หรือจะมองเป็นข่าวร้ายแบบดีๆ มาบอกค่ะ ในฐานะคนทำงาน คนในองค์กร หัวหน้างานหรือเจ้าของกิจการ ท่านผู้อ่านแทบทุกท่านคงต้องประสบพบทั้งข้อดี และข้อเสียขององค์กร ได้ปลาบปลื้มชื่นชมกับจุดแข็งของที่ทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องทนกล้ำกลืนฝืนใจกับจุดอ่อน และปัญหาสารพัดเรื่องในหน่วยงาน
นั่นคือข่าวร้ายค่ะ
ข่าวดีคือ เชื่อหรือไม่คะว่า ทุกองค์กรมีปัญหา และปัญหาส่วนใหญ่ไม่ไกลกัน
เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกหัวข้อของปัญหา ล้วนมาจากแหล่งเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน กลยุทธ์ กระบวนการ อุปกรณ์ และคน
ผู้บริหารยุคนี้ ส่วนใหญ่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า พื้นฐานสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจ “รุ่ง” หรือ “ริ่ง” คือปัจจัยเรื่อง “คน”
แม้แก้ปัญหาอื่นๆ ได้ แต่องค์กรไร้คนที่มีประสิทธิภาพ ความสำเร็จยากที่จะสมบูรณ์ยืนยง
หากมีคนเก่ง คนดี มีใจให้องค์กร ปัญหาอื่นๆ มีสิทธิแก้
แก่นแท้ความสำเร็จวันนี้…ต้องมีคนเก่ง คนดี
รหัสตัวนี้ หากถอดได้…เท่าไร เท่ากันค่ะ
ดังนั้น ข่าวดี ในข่าวร้ายคือ ทุกองค์กรมีปัญหาหลักๆ คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่อง “คน” ดังนั้น ใครคลี่คลายสลายอุปสรรคที่มักพบเรื่องคนได้ก่อน จะได้เปรียบหน่วยงานอื่นนับพันนับหมื่นองค์กรทันที
ปัญหาเรื่องคนที่ดิฉันได้มีโอกาสสัมผัสจากการเป็นทั้งคนทำงานเอง ตลอดจนเป็นวิทยากร และที่ปรึกษา มีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะผู้นำ การสื่อสาร การบริหารข้อขัดแย้ง ฯลฯ
ท่ามกลางสารพันปัญหาที่มาจาก “คน” อุปสรรคหนึ่งซึ่งดิฉันพบในทุกองค์กรคือ “การทำงานเป็นทีม” หรือ Teamwork นั่นเอง
ปัญหานี้มีให้เห็นตั้งแต่ระดับประเทศ ไล่เรียงไประดับกระทรวง องค์กรน้อยใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน จนไปถึงหน่วยงานย่อยน้อยนิด ล้วนแต่ติดขัดเรื่องทีมทั้งสิ้น
บางท่านมักชี้ว่าคนไทยทำงานเป็นทีมไม่เป็น…ซึ่งดิฉันไม่สู้จะเห็นด้วย
จากประสบการณ์ของดิฉันที่ได้มีโอกาสทำงานกับหลากหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ทุกที่มีปัญหาเรื่องทีมทั้งนั้น จะมากจะน้อย อาจโยงใยถึงเรื่องวัฒนธรรมประจำชาติบ้าง เช่น ญี่ปุ่นจะเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มมากกว่าตัวบุคคล โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบางสังคม เช่น อเมริกา หรือยุโรปเหนือ ซึ่งเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลสูง
พี่ไทยเรา หากพูดว่าทำงานเป็นทีม “ไม่เป็น” ดิฉันว่าไม่น่าจะใช่ เราทำอะไรได้ทั้งนั้น “เป็น” ทั้งสิ้น หากอยากทำ หากสภาวะเหมาะสม
ดังนั้น หน้าที่ของผู้นำ และองค์กรคือ ต้องทำให้คน “อยาก” ทำงานเป็นทีม ตลอดจนสร้างสภาวะให้เหมาะเจาะ เพื่อเพาะทีม พร้อมเติมเชื้อเรื่องทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานร่วมกัน
ดิฉันขออนุญาตแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเป็นวิทยากรเรื่องทีม โดยรวบรวมจากปัญหาจริงของหลากหลายองค์กร และจากทฤษฎี ตลอดจนการวิจัยของหลากหลายค่าย สรุปได้ว่าทีมจะเกิดหรือไม่ จะได้เรื่องไหม จะบินไกลหรือไปไม่ถึงฝัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ดังนี้
1. ทีมมีเป้าหมาย มีฝันร่วมกัน เพื่อหล่อหลอมใจ สลายความเป็นตัวตนของแต่ละคนในทีม หรือไม่
การมีเป้าหมายเดียวกัน มีฝันที่ชัดเจน เห็นภาพเหมือนกันว่าเมื่อเดินไปถึงเส้นชัยจะเป็นอย่างไร ถือเป็นหัวใจของการทำงานเป็นทีม
หากปราศจากเป้าเดียวกัน การทำงานเป็นทีมยากที่จะเกิด เนื่องจากต่างคนต่างมีมุมมองของตน มีหนทางของใครของมัน ต่างมีโจทย์ส่วนตัวส่วนกลุ่มที่ต้องทุ่มให้ หากไม่เห็นภาพร่วมกัน ต่างจึงทำงานกันไปคนละทาง ห่างไกลความเป็นทีม
ในระดับองค์กร วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ถือเป็นเป้าหมาย และเครื่องมือสำคัญที่จะโน้มนำให้คนในองค์กรมองจ้อง และก้าวไปในทางเดียวกัน เหมือนเป็นเข็มทิศ ที่ไม่ว่าจะบิดไปทางใด สภาวะรอบข้างจะโกลาหลแค่ไหน เข็มทิศก็ไม่บิดเบือน มุ่งชี้บอกทาง คนในทีมจึงมีหลัก ไม่หลงพลัดกระจัดกระจาย
2. คนในทีมตระหนักถึงบทบาทของตนในการทำงานในทีมหรือไม่
ทีมที่ดีควรประกอบด้วยบุคคลที่มีทักษะ และประสบการณ์ที่หลากหลาย ต่างคนต่างชำนาญต่างกัน แต่เป็นความเก่ง ความสามารถที่ต้องใช้ผสมผสานกันเพื่อไปให้ถึงฝัน
บุคคลในทีมต้องรู้ว่าตัวเองมีบทบาทอะไรในทีม ต้องทำอะไร เมื่อไร ร่วมกับใคร
บทบาทที่ชัด ถือเป็นการสกัดปัญหาที่อาจเกิดในการทำงานร่วมกันเป็นทีม นั่นคือ อุปสรรคที่เกิดจากความเหลื่อมกันของบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเหลื่อมแบบทับซ้อนซ่อนเงื่อน หัวแม่เท้าทับกันอยู่แบบสู้ตาย หรือบทบาทเหลื่อมแบบห่างกันเป็นวา หาผู้รับผิดชอบไม่พบ ไปจบแบบตายน้ำตื้น เพราะงานบางอย่างไม่มีเจ้าภาพชัดเจน
ความชัดเจนของบทบาท ถือเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าทีม ซึ่งจะเป็นหลักในการร่วมกำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกันกับลูกทีม การแบ่งสรรปันส่วนหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อตอบโจทย์ของทีมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการทำงานเป็นทีม
3. ทีมมีกฎกติกามารยาทของการทำงานร่วมกันหรือไม่
จากการวิเคราะห์วิจัยของค่ายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทีมส่วนใหญ่ใช้เวลา และสติในการสร้างกฎกติกามารยาทของการทำงานร่วมกันเป็นทีมน้อยเกินไป โดยเฉพาะในช่วงต้นของการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งหลายประเด็นที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้ หากต่างเข้าใจขอบ และกรอบของการทำงานเป็นทีมตั้งแต่แรกเริ่ม
เนื้อหาของกฎกติกาขึ้นกับองค์กร หน่วยงานหรือโจทย์เฉพาะกิจ สามารถคิดได้ตามสะดวก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการและกระบวนการตัดสินใจของทีมหากไม่เห็นพ้องต้องกัน วิธีการประชุมของทีม ความถี่ของการประชุม วิธีการสื่อสาร และแนวทางการประสานงาน เป็นต้น
กฎกติกาที่ตั้งไว้ในตอนแรก หากต้องปรับ หากต้องเปลี่ยนไปตามความจำเป็น ก็ไม่ว่ากัน เช่นไม่เคยคาดคิดว่าทีมจะไม่เข้าประชุมตรงเวลา หรือเบี้ยวลดเลี้ยวไม่เข้าประชุมทีมเสียดื้อๆ กฎกติกาก็อาจต้องมีการปรับเพื่อกระตุ้นเสริม หรือเริ่มวิธีใหม่ในการประชุม เช่นไม่ยืดเยื้อ ทำให้คนเบื่อหน่าย เริ่มตรงเวลา เลิกตรงเวลา ใครมาไม่ทันเกินกี่ครั้ง ต้องตักเตือน เป็นต้น
ที่สำคัญคือ เมื่ออยู่ด้วยกัน ต้องมีวิธีการลดความไม่แน่นอน ลดข้อขัดแย้ง ลดการแบ่งแยก โดยการมีขอบ มีกรอบที่ชัดเจน แต่ยืดหยุ่น เป็นเครื่องทุ่นแรงการทำงาน แถมเป็นเครื่องถนอมความรู้สึกของคนในทีมค่ะ
สามข้อแรกนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างทีม ให้ท่านผู้อ่านลองพินิจพิจารณาว่ามีส่วนใดที่พัฒนาได้ในองค์กร
สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อว่าทีม จะ “เวิร์ค” หรือ “ไม่เวิร์ค” มีปัจจัยใดเป็นหัวใจ เป็นปอด เป็นตับ…เมื่อนับครบแล้ว การสร้างทีมไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ
ที่มา : พอใจ พุกกะคุปต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *