ทำบุญด้วยการพูด
แม้ว่าจะเป็นนักพูดที่มีค่าตัวในระดับเลข ๕ หลัก แต่ถ้าเป็นงานพูดเพื่อถวายความรู้ให้กับพระสงฆ์แล้ว อาจารย์สุรวงศ์ วัฒนกูล นักพูดชื่อดัง จะไม่คิดเงินเลยสักบาทเดียว
ซึ่งก่อนหน้านี้เขายอมรับว่า “เป็นนักพูดหน้าเงิน คือ พูดเมื่อไรต้องได้เงินเมื่อนั้น” แต่เมื่อได้มาพูดคู่กับ อาจารย์ผาณิต กันตามระ คำว่า “คนหน้าเงิน” ก็หายไป
อาจารย์สุรวงศ์ บอกว่า การที่จะมีชื่อเสียงในการพูดนั้นคือ ต้องพูดประกบ กับนักพูดที่มีชื่อเสียง จะพลอยทำให้ตนเองเป็นที่รู้จักไปด้วย ดังนั้น เมื่ออาจารย์ผาณิต ชวนไปพูด ณ วัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี จึงตัดสินใจ ตามไปทันที โดยไม่ได้ถามค่าตัวเลย ซึ่งปกติแล้วจะต้องมีการตกลงราคา ค่าพูดไว้ก่อน
เมื่อขึ้นเวทีจับไมค์ก็พูดชนิดที่เรียกว่าหายใจไม่ทัน ยิ่งได้ประกบคนดังก็ต้อง ปล่อยมุกให้เต็มที่ ครั้นเมื่อพูดจบปรากฏว่าพระพยอม เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ได้จัดกระเช้าผลไม้มาให้คนละกระเช้า ในกระเช้ามีซองขาว เขียนว่าเป็นค่าพาหนะไว้ซองละ ๕๐๐ บาท
ผมตั้งท่าจะหยิบซองขาวใส่กระเป๋าเสื้อ อาจารย์ผาณิต รีบคว้าซองตัดหน้า พร้อมกับซองของตัวเอง แล้วนำไปถวายคืนพระพยอม อีกทั้งยังพูดว่าเราทั้งสองขอถวายคืน ผมได้ยินอย่างนี้ถึงกับควันขึ้นหูเลย ทั้งสองกับผีอะไร ยังไม่ได้พูดตกลงอะไรกันเลย ผมโดนหักคอทำบุญ โดยมารยาทก็ต้องจำใจ ในใจก็คิดว่าอาจารย์ผาณิตคบไม่ได้ นี่คือความรู้สึกที่พูดแล้วไม่ได้ค่าตัวของอาจารย์สุรวงศ์
เขาเล่าต่อว่า หลังจากนั้นอีก ๑ เดือน ได้พบกับอาจารย์ผาณิตอีกครั้ง ในงานทอล์คโชว์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และครั้งนี้อาจารย์ผาณิตเอ่ยปากพูดขึ้นอย่างเสียงดังฟังชัดว่า “สุรวงศ์ พี่ดูออกว่าเธอยังไม่พอใจพี่เรื่องเงิน ๕๐๐ บาทที่วัดสวนแก้ว คนเราคบกันต่อพอใจ ไว้ใจ และเข้าใจกัน” ซึ่งขณะที่พูดนั้น สร้างความสงสัยให้กับกรรมการบริษัทอย่างมากว่า ทำไมพิธีกรจึงมาเถียงกันในเรื่องเงินเพียง ๕๐๐ บาท
“ผมอายแทบแทรกแผ่นดินหนีไม่ทัน แต่เป็นพื้นปูนมันแข็งกว่าดินเลยหนีไม่ได้” นี่คือความรู้สึกของอาจารย์สุรวงศ์
สิ่งหนึ่งที่อาจารย์สุรวงศ์ทำได้ดีที่สุด ณ เวลานั้นคือ การตอบสวนกลับไปว่า “วันหน้าถ้าจะทำบุญขอให้บอกก่อน อย่าหักคอกัน ให้ผมคิดเองบ้าง อย่ามาบงการชีวิตผม ซึ่งผมเองก็ต้องยอมรับว่ามารยาทไม่ดี เพราะแสดงนิสัยไม่ดีต่อรุ่นพี่”
แทนที่อาจารย์ผาณิตจะโกรธ กลับพูดด้วยรอยยิ้มว่า “สุรวงศ์ ขอโทษนะ แค่พี่เอาเงินวัดคืนวัดเธอยังทนไม่ได้ แล้วคนอย่างเธอจะกล้าเอาเงินในกระเป๋าถวายวัดหรือ”
อาจารย์สุรวงศ์ ยอมรับว่า คำพูดของอาจารย์ผาณิตแทงใจดำมาก ถึงกับทำให้ต้องกลับไปนอนเป็นทุกข์ กับคำพูดดังกล่าวอยู่หลายวัน ในที่สุดก็คิดได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๑ เมื่อถูกเชิญไปพูดถวายความรู้กับพระ ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมใดก็จะพูดให้ฟรีๆ
จากการที่ได้ไปร่วมฝึกอบรมพระและบรรยายธรรมหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดประยุรวงศาวาส วัดบวรนิเวศ วัดชนะสงคราม และวัดสวนแก้ว อาจารย์สุรวงศ์ ได้ให้ข้อคิดในการบรรยายธรรมะว่า
“เมื่อก่อนนี้พระส่วนใหญ่จะเอาตนเองเป็นที่ตั้ง การดำรงอยู่ในสมณะต้องทำให้คนบรรลุ ในแก่นธรรม ในระดับลึกๆ ได้ การเทศน์ออกมาจึงเป็นเรื่องจริงจัง แต่กลับทำให้ผู้ฟังตามไม่ทัน เกิดความเครียด มากกว่าความสุขจากการฟังธรรมะ ดังนั้นพระต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเทศน์ ต้องเอาญาติโยม เป็นศูนย์กลาง ในการเทศน์ ซึ่งญาติโยมมีความต้องการอยู่ไม่กี่อย่าง คือ สนุกสนาน มีข้อคิดดีๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน”
เมื่อถึงหลักธรรมในการครองตน อาจารย์สุรวงศ์ ตอบว่า “ผมมีหลักธรรมประจำใจง่ายๆ อยู่ ๒ ข้อ คือ ๑.คนเราทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น หรือที่เรียกว่า ผลมาแต่เหตุ แต่เดิมนั้นผมเคยหนีเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ ในที่สุดก็อ่อนเรื่องการพูดภาษาอังกฤษ ๒.ไม่มีใครได้อะไรมาโดยไม่เสียอะไรไป แปลว่า อยากจะได้อะไรต้องลงทุน เวลาไปจอดรถที่ไหนก็ตามจะให้ทิปกับพนักงานจอดรถทุกครั้ง เพราะคิดว่า ไม่มีที่จอดรถใดได้มาฟรีโดยไม่มีน้ำใจ”
ส่วนพระเครื่องคู่ใจนั้น อาจารยสุรวงศ์ แขวนเหรียญรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้มาจาก อาจารย์ผาณิต องค์เดียว
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะให้เหรียญ อาจารย์ผาณิต ได้บอกว่าด้านหลังเหรียญเป็นรูปพระพุทธเจ้า แต่เมื่อพลิกเหรียญดูก็ไม่เห็นว่ามีรูปอะไร มีเพียงลวดลายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ร.๕ เท่านั้น จึงถามกลับไปว่า
ไม่เห็นมีพระพุทธเจ้าอย่างที่บอกเลย
อาจารย์ผาณิต ตอบกลับมาว่า “พระท่านเป็นอนัตตา คือ ไม่มีตัวตน คนที่เห็นธรรมเท่านั้นจึงจะเห็นพระพุทธเจ้า”
นอกจากนี้แล้วยังอาจารย์ผาณิตได้พูดเป็นปริศนาธรรมไว้อย่างน่าคิดว่า “เหตุที่ให้แขวน ร.๕ นั้น เพราะพระองค์เป็นผู้เลิกทาสทางกาย ส่วนพระพุทธเจ้านั้นได้เลิกทาสทางใจ”
นักพูดชื่อดังบอกด้วยว่า เดิมทีนั้นแขวนสร้อยทอง แต่เปลี่ยนมาเป็นด้าย ๗ สี ของหลวงปู่โหยด ส่วนเป็นวัดอะไรนั้น จำได้แต่เพียงอยู่ในจังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น เหตุที่ประทับใจท่านเพราะมีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งมีลูกศิษย์ซึ่งเป็นคนมีฐานะ ต้องการที่จะซื้อรถเบนซ์ถวาย โดยหลวงปู่ได้ถามกลับไปว่ารถเบนซ์นั้นคันละเท่าไร ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า ประมาณ ๔-๕ ล้านบาท
เมื่อได้ยินเช่นนั้น หลวงพ่อก็ของบิณฑบาตเป็นเงินสด ทันทีที่ลูกศิษย์ได้ฟังถึงกับตกใจ แต่ก็ตกลงที่จะถวายเงินสดแทน ขณะเดียวกันหลวงพ่อได้ให้เหตุผลที่ต้องการรับเงินสดมากกว่ารถเบนซ์ไว้อย่างน่าฟังว่า
ฉันนั่งรถเบนซ์เข้าออกวัด ฉันอาจจะสบายตัว แต่ฉันไม่สบายใจ เพราะเด็กนักเรียนข้างวัดไม่มีโรงเรียนจะเรียนหนังสือ ฉันจึงอยากนำเงิน ๔-๕ ล้านบาท ไปสร้างโรงเรียนจะดีกว่า เมื่อมีโรงเรียน เด็กก็จะเดินเข้าและออกจากโรงเรียนด้วยความฉลาด ให้ฉันนั่งรถกระบะเก่าๆ ไปไหนมาไหนดีกว่า ถึงตัวจะไม่สบายเท่าไรแต่ใจมันสบายยิ่งกว่าตัวหลายเท่า
ตลอดระยะเวลาที่เดินสายทอล์คโชว์ เกือบจะประสบอุบัติเหตุหลายครั้ง แต่ก็แคล้วคลาดมาโดยตลอด อาจารย์สุรวงศ์ ยังพูดถึงรุ่นของพระเครื่องไว้อย่างน่าคิดว่า
“เรามักจะเชื่อกันฝังอยู่ในหัวว่า สมเด็จรุ่น ๑ จะขลังกว่ารุ่นต่อๆ มา ถ้าเกิดผมแขวนสมเด็จรุ่น ๕ แล้วต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ปรากฏว่าระหว่างทางสิบล้อจะชน ระหว่างนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานให้หลวงพ่อช่วย พระท่านคงไม่มาบอกว่า อาตมาต้องไปช่วยคนแขวนรุ่น ๑ รุ่น ๒ รุ่น ๓ และรุ่น ๔ ก่อน ส่วนรุ่น ๕ จะแวะมาช่วยทีหลัง ความขลังน่าจะไม่มีการแบ่งรุ่น แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า การปลุกเสกพระรุ่น ๑ หากมีพระที่มีจิตบริสุทธิ์จริง ส่วนรุ่นอื่นๆ ปลุกเสกด้วยพระที่ไม่เคร่งครัดในศีลธรรม ความขลังก็อาจจะแตกต่างกัน”
ส่วนจุดประสงค์ในการแขวนพระนั้น อาจารย์สุรวงศ์ บอกว่า แขวนพระเพื่อจุดประสงค์ทั้ง ๒ อย่าง คือ เพื่อเตือนตนให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ส่วนอำนาจพุทธคุณหรือปาฏิหาริย์นั้นเป็นผลพลอยได้ แขวนพระแล้วไม่ได้หมายความว่าจะรอดตาย แคล้วคลาดจาดอุบัติเหตุทุกครั้งไป