ทำความรู้จักกับ ‘ไอคิว-อีคิว’
ทำความรู้จักกับ ”ไอคิว-อีคิว”
Admin on Sat May 19, 2007 5:55 am
ข่าวจาก มติชน
“ไอคิว-IQ” ย่อจากศัพท์ Intelligence Quotient คือความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญาซึ่งเกิดจาก 2 ส่วนคือ จากยีนส์หรือพันธุกรรม และจากการเลี้ยงดู คำนี้บัญญัติขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยทั่วไปยึดตัวเลข 100 เป็นระดับไอคิวเฉลี่ยของคนปกติ คิดตามหลักสถิติแล้วคนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68 ของประชากรทั้งหมดมีไอคิวอยู่ที่ระดับ 85-115 ทั้งนี้ การวัดไอคิวต้องอาศัยปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อมรอบตัว กิริยาอาการ สีหน้าแววตา ท่าทาง ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลต่อการทำการทดสอบทั้งสิ้น
ปัญหาที่พบจากการศึกษาคือ ครอบครัวไม่มีการปลูกฝังจิตใจที่ดีให้แก่เด็กไอคิวสูง ไม่ได้สอนให้รู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น เมื่อเด็กไม่สามารถปรับตัวในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ปัญหาจึงเกิดขึ้น ทำให้จิตใจแปรเปลี่ยน สมองเฉื่อยชา ไม่รู้วิธีจัดระบบให้ตัวเอง คนประเภทนี้เรียกว่า “อีคิวต่ำ” แม้มีสติปัญญาดีเลิศ มีระดับไอคิวสูง แต่ถ้าอีคิวต่ำ สมองที่ปราดเปรื่องก็อาจนอกลู่นอกทางได้เมื่อประสบปัญหาในชีวิต ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไป แต่เด็กที่ไม่ได้ถูกสอนมาให้รู้จักรับมือปัญหา เมื่อเขาไม่สามารถหาหนทางแก้ไข ทางออกจึงเป็นไปในทางที่ผิด เช่น ฆ่าตัวตายหนีปัญหา
“อีคิว-EQ” ย่อมาจาก Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence คือ ความฉลาดทางอารมณ์ คนที่มีอีคิวดีคือ คนที่รู้จักและเข้าใจอารมณ์ตัวเองได้ รู้จักแยกแยะควบคุมอารมณ์ และสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างถูกต้องตามกาลเทศะ ปรับตัวให้เข้ากับสังคมอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ระบบของอีคิวจะเริ่มเสีย เห็นได้ว่าระยะ 10 ปีที่ผ่านมาสุขภาพจิตของคนเราเสื่อมลงมาก มีปริมาณคนไข้ทางจิตสูงขึ้น
ปัจจุบันอีคิวมีบทบาทเด่นชัดในแวดวงการศึกษา เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีเด็กที่เรียนเก่งจำนวนไม่น้อยไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆ ได้ หรืออย่างเหตุการณ์ที่เด็กสอบได้เกรดเฉลี่ยไม่ดีแล้วฆ่าตัวตาย กรณีเช่นนี้ไม่ใช่ปัญหาของเด็กคนนั้นอย่างเดียว แต่หมายถึงสังคมหรือกลไกการศึกษาที่ละเลยเรื่องความสามารถทางอารมณ์ด้วย
จากการวิจัยพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต อีคิวมักจะนำไอคิว ซึ่งขณะนี้อีคิวสามารถวัดได้จากแบบทดสอบโดยประเมินจากบุคลิกภาพ แต่เป็นการประเมินจากความคิดเห็นซึ่งวัดได้ยากกว่าไอคิว
อย่างไรก็ตาม ถ้าประเมินแล้วพบว่าอีคิวไม่ดีก็สามารถแก้ไขได้ โดยขั้นแรกพ่อแม่ต้องแสดงออกถึงความรักที่ถูกทาง ต้องสอนให้เด็กรู้จักรอคอย ฝึกการอดทน สอนให้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ฝึกให้เป็นคนยืดหยุ่น มองโลกในแง่ดี รู้จักการให้ การเสริมสร้างอีคิวแก่เด็กไม่ใช่เรื่องยากหากพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี
ไอคิวกับอีคิวจึงควรต้องพัฒนาไปพร้อมกัน และให้ทั้งสองสิ่งอยู่คู่กันอย่างสมดุล เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติ