ทักษะบริหารจัดการสำหรับเอสเอ็มอี
ทักษะบริหารจัดการสำหรับเอสเอ็มอี
เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จำเป็นที่จะต้องมีทักษะพื้นฐานในด้านการบริหารจัดการอยู่ในตัวที่พร้อมที่จะนำออกมาใช้ ผมใช้คำว่า “ทักษะ” เพราะ ทักษะ เป็นเรื่องที่บุคคลแต่ละคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งมาแต่กำเนิด!!! “ทักษะ” เป็น พรแสวง ไม่ใช่ พรสวรรค์
แต่ในการแสวงหาหรือพัฒนาทักษะเพิ่มเติมสำหรับเจ้าของหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เจ้าตัวควรรู้ตัวก่อนว่า ตนเองมีศักยภาพในด้านใดบ้าง หรือ ยังขาดศักยภาพในด้านใดที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น
การทบทวนว่าตนเองมีอะไรดีหรือมีอะไรด้อยอยู่ในตัว อาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับเอสเอ็มอีไทยโดยทั่วไป
เพราะเอสเอ็มอีไทยมักจะเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจในการทำธุรกิจ และมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง
เอสเอ็มอีหลายราย จึงละเลยที่จะทบทวนจุดอ่อนจุดด้อยของตนเอง
และอาจเป็นธรรมชาติต่อเนื่องที่การพยายามหาจุดอ่อนจุดด้อยของตนเองเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นตัวเองในแง่ลบ
ดังนั้น เพื่อให้ท่านเจ้าของหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้มีโอกาสที่จะทบทวนศักยภาพในการบริหารจัดการของตนเองว่า มีจุดแข็งจุดอ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง ท่านลองตอบคำถามที่จะทำให้ท่านประเมินตัวของท่านเองได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
เมื่อประเมินพบว่าตนเองมีจุดแข็งด้านใด ก็จงพยายามนำจุดแข็งนั้นมาใช้ หรือเมื่อประเมินพบว่าตนเองมีจุดอ่อนด้านใด ก็ต้องพยายาม “กำจัดจุดอ่อน” นั้นให้ได้ด้วยการพัฒนาทักษะในด้านนั้นๆ ให้กับตัวเอง
ลองให้คะแนนตัวท่านเองดู นะครับ….
1. ทักษะด้านการตลาด
๐ ท่านมีความสามารถในการมองหาทำเลที่จะทำธุรกิจมากน้อยเพียงใด
๐ ท่านรู้วิธีการพยากรณ์การขายให้แม่นยำหรือไม่
๐ วงจรของธุรกิจที่ทำอยู่เป็นอย่างไร ขึ้นลงอย่างไร มีฤดูกาลที่ขายดีหรือขายได้น้อยหรือไม่
๐ ท่านรู้จักการประเมินคู่แข่งขันหรือไม่ ใครเป็นคู่แข่งโดยตรง ใครเป็นคู่แข่งทางอ้อม
๐ ท่านรู้จักวิธีการวิจัยทางการตลาดเพื่อให้ได้คำตอบที่อยากทราบหรือไม่
๐ ธุรกิจของท่านมีการประกันคุณภาพและการประกันการให้บริการหรือไม่ อย่างไร
๐ ท่านมีกลยุทธ์ทางการตลาดหรือไม่ ท่านรู้วิธีการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดหรือไม่
๐ ท่านมีวิธีการควบคุมดูแลและกระตุ้นพนักงานขายอย่างไรหรือไม่
๐ ท่านรู้จักวิธีการกำหนดตำแหน่งของผลิตภัณฑ์หรือไม่ ท่านกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของท่านไว้อย่างไร
๐ ธุรกิจที่ท่านทำอยู่มีช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างไรได้บ้าง ท่านใช้ช่องทางการจำหน่ายแบบใดอยู่
๐ ท่านมีวิธีการบริหารจัดการคลังสินค้าอย่างไรหรือไม่
๐ ท่านรู้จักวิธีการออกแบบบรรจุภัณฑ์/ที่จะทำให้สินค้ามีคุณค่าเพิ่มน่าซื้อน่าขายมากขึ้นหรือไม่
๐ ท่านใช้วิธีใดในการกำหนดราคาและส่วนลดของสินค้า
๐ ท่านรู้จักวิธีการโฆษณาและการส่งเสริมการขายหรือไม่
๐ ท่านทราบวิธีการควบคุมและการตัดสินใจเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อหรือให้เครดิตกับลูกค้าหรือไม่
๐ ท่านรู้วิธีการนำสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดหรือไม่
2. ทักษะด้านการเงินและการบัญชี
๐ ธุรกิจของท่านมีการวางแผนกำไรไว้หรือไม่ ท่านรู้วิธีวางแผนกำไรหรือไม่
๐ ธุรกิจของท่านมีการทำรายงานกำไรขาดทุนทุกเดือนหรือไม่
๐ ธุรกิจของท่านมีการจัดทำงบประมาณประจำปีหรือไม่ ท่านมีบทบาทอย่างไรในการจัดทำงบประมาณประจำปีของธุรกิจของท่าน
๐ ธุรกิจของท่านมีการจัดทำงบดุลหรือไม่ ท่านอ่านงบดุลเป็นหรือไม่
๐ ท่านรู้วิธีการบริหารเงินสดของธุรกิจหรือไม่
๐ ธุรกิจของท่านมีการวิเคราะห์สัดส่วนด้านการเงินหรือไม่
๐ ธุรกิจของท่านมีการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนหรือไม่
๐ ท่านมีนโยบายการควบคุมหนี้สินอย่างไร ท่านรู้วิธีกำหนดนโยบายการควบคุมหนี้สินหรือไม่
๐ ในธุรกิจของท่าน ใครเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการลงบัญชี
๐ ท่านรู้วิธีการควบคุมต้นทุนธุรกิจของท่านหรือไม่
๐ ธุรกิจของท่านใช้แหล่งเงินทุนจากที่ไหน แต่ละแหล่งเป็นจำนวนเงินเท่าไร มีต้นทุนทางการเงินหรือไม่ มากน้อยเท่าใด
๐ ใครเป็นผู้รับผิดชอบการทำบัญชีเงินเดือนและกำหนดนโยบายการขึ้นเงินเดือน
๐ ท่านรู้วิธีที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการขอความสนับสนุนทางการเงินมาให้ธุรกิจของท่านหรือไม่
๐ ธุรกิจของท่านมีการใช้นักบัญชีหรือไม่ นักบัญชีที่ท่านใช้อยู่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
3. ทักษะด้านการบริหารงานการผลิต
๐ ท่านมีนโยบายและวิธีการควบคุมการจัดซื้อวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่ต้องใช้ในการผลิตอย่างไร หรือไม่
๐ การปรับปรุงคุณภาพในสายการผลิต ทำอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ
๐ ท่านมีนโยบายและวิธีการควบคุมสินค้าคงคลังในโรงงานอย่างไร หรือไม่
๐ ท่านใช้ระบบการควบคุมคุณภาพหรือระบบการบริหารจัดการคุณภาพระบบใดอยู่ สินค้าของท่านอยู่ในข่ายที่จะต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานใดของรัฐหรือไม่
๐ ท่านมีนโยบายและวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างไร
๐ ในโรงงานของท่านมีระบบการควบคุมและวางแผนการผลิตอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ
๐ ท่านทราบหรือไม่ว่าตัวโรงงานและอุปกรณ์จะต้องได้รับการดูแลปรับปรุงอย่างไรบ้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4. ทักษะด้านการบริหารคน
๐ ท่านมีนโยบายหรือกฎระเบียบในการกำกับดูแลพนักงานอย่างไร หรือไม่
๐ การสรรหาและการคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานทำอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ
๐ ท่านได้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และมีข้อตกลงพิเศษอย่างใดกับพนักงานคนใดหรือไม่
๐ ท่านมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการว่าจ้างงานหรือไม่
๐ ท่านมีวิธีการสอนงานแก่พนักงานเข้าใหม่อย่างไร
๐ ท่านมีวิธีการฝึกอบรมพนักงานเก่าหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด
๐ ท่านมีระเบียบที่แน่นอนในการลงโทษพนักงานที่ทำผิดหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือไม่
๐ ท่านมีระเบียบเกี่ยวกับการเกษียณ การต่ออายุ พนักงานหรือไม่
5. ทักษะด้านกฎหมายธุรกิจ
๐ ธุรกิจของท่านต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายใดๆ หรือไม่
๐ ท่านจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์และใบอนุญาตต่างๆ หรือไม่
๐ ท่านมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรหรือไม่ ใครเป็นผู้ดำเนินการในการจ่ายภาษีอากรให้กับธุรกิจของท่าน
๐ ธุรกิจของท่านต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ อย่างไร
๐ ท่านทราบวิธีการเก็บหนี้ที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
๐ ท่านมีความรู้ก่อนที่จะลงนามเซ็นสัญญาหรือข้อตกลงการเช่าซื้อต่างๆ หรือไม่
๐ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ท่านทราบหรือไม่ว่าจะต้องหาใช้ที่ปรึกษากฎหมายจากที่ไหน
หัวข้อต่างๆ ที่ผมรวบรวมนำมาเสนอนี้ จะเป็นแนวทางที่ท่านจะใช้ประเมินศักยภาพในด้านต่างๆ ของการบริหารจัดการธุรกิจของท่านได้เป็นอย่างดี
ในธุรกิจขนาดใหญ่ ทักษะในด้านการบริหารจัดการต่างๆ เหล่านี้ จะกระจายกันออกไปตามจำนวนผู้บริหารหรือตามขนาดใหญ่เล็กของแผนกต่างๆ ในบริษัท
แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางครั้ง เถ้าแก่ ก็ต้องลงลุยเองทุกด้าน
ดังนั้น การพัฒนาเพิ่มทักษะในด้านที่ท่านขาดหายไปหรือยังไม่มีความเชี่ยวชาญชำนาญพอ จะเป็นการเริ่มต้นไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของท่านในทุกๆ ด้านได้เป็นอย่างดี
เมื่อประเมินพบว่าตนเองมีจุดแข็งด้านใด ก็จงพยายามนำจุดแข็งนั้นมาใช้ หรือเมื่อประเมินพบว่าตนเองมีจุดอ่อนด้านใด ก็ต้องพยายาม “กำจัดจุดอ่อน” นั้นให้ได้ด้วยการพัฒนาทักษะในด้านนั้นๆ ให้กับตัวเอง
เรียบเรียงโดย : เรวัต ตันตยานนท์