ตื่นก็ยิ้ม หลับก็ยิ้ม

ตื่นก็ยิ้ม หลับก็ยิ้ม
เขียนโดย :หนูดี วนิษา เรซ
จาก :นิตยสาร Secret ฉบับปฐมฤกษ์ (http://www.secret-thai.com/)

สำหรับคนทำงาน วันหนึ่ง ๆ อาจมีเรื่องมากมายเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยที่เราควบคุมไม่ได้ หลายเรื่องก็ทำเอาเรายิ้มไม่ออกทีเดียว หรือแม้กระทั่งไม่ใช่เรื่องงาน บางครั้งเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับคนและอารมณ์อันหลากหลายก็ทำให้รอยยิ้มหดหายไปได้มากพอควร งานของหนูดีต้องพบเจอคนมากมายค่ะ หลาย ๆ สิ่ง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือความควบคุม แต่ด้วยความที่เรียนด้านสมอง ก็เลยรู้ว่าสมองของเราชอบความปลอดภัย และความคงที่ ชอบรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต นี่เองหนอ คา ๆ ถึงชอบดูหมอกันนัก

จริง ๆ แล้ว สมองของเราได้รับการออกแบบมาเพื่อดูแลชีวิตให้อยู่รอดในสถานการณ์ต่าง ๆ เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นเครื่องมือเอาชีวิตรอดนั่นเอง และสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรารอดชีวิตได้ คือการที่เราคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำ คราวนี้ทำอย่างไรดีคะ ถ้าเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้มีสิทธิ์เกิดขึ้นตลอดเวลา

สิ่งหนึ่งที่หนูดีฝึกทำเป็น Mind Training จนติดเป็นนิสัยก็คือ การจัดเวลาที่สมองคาดเดาได้ว่าอะไรดี ๆ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เวลาช่วงนี้หนูดีจัดไว้ตอนเช้ากับตอนเย็นค่ะ คือทันทีเมื่อตื่นนอน และทันทีก่อนนอนค่ะ

เมื่อก่อนหนูดีจะติดนิสัยตื่นสายใกล้ ๆ เวลาเรียน หรือเวลาไปทำงาน เพราะชอบการนอนเยอะ ๆ พอตื่นมาปุ๊บก็ต้องรีบกระโดดขึ้นจากเตียง อาบน้ำแปรงฟันอย่างรวดเร็ว บางครั้งแถมการอ่านข่าวร้าย ๆ จากหนังสือพิมพ์เข้าไปอีก แล้วก็วิ่งหน้าตั้งออกไป หลายครั้งรีบมากจนไม่มีเวลากินอาหารเช้า แถมลืมกุญแจรถบ้าง ลืมหนังสือเรียนบ้างเป็นประจำ รีบขับรถออกไป แล้วก็มานั่งโทษตัวเองว่า สงสัยหนูดีจะเป็นอัลไซเมอร์ตั้งแต่เด็กเสียแล้วสิ เริ่มต้นวันด้วยความตื่นเต้น สะเทือนขวัญขนาดนี้ ตอนเย็นกลับมาบ้านก็ไม่ต่างกัน แต่เป็นทางตรงกันข้ามค่ะ คือกลับมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย สะโหลสะเหลเข้ามาเลย เพราะใช้พลังงานไปอย่างเต็มที่เกินเหตุ บางครั้งเลิกงานแล้วก็ยังอยู่ต่อจนค่ำ ด้วยความเป็นห่วง แม้กลับบ้านแล้ว บางครั้งก็ทำอะไรเรื่อยเปื่อยจนนอนดึกไม่รู้ตัวก็มี

นับเป็นโชคดีที่หนูดีในอดีตได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วยศาสตร์ดี ๆ สองสายที่บังเอิญมาเหมือนกันโดยมิได้นัดหมาย ศาสตร์แรกก็คือ วิทยาศาสตร์ด้านสมองนี่ละค่ะ ที่เมื่อเรียนแล้วก็รู้เลยว่า หากเราต้องการให้สมองทำงานได้ดีแล้ว เราต้องหมั่นดูแลอารมณ์ให้สมดุลสม่ำเสมอด้วย เพราะสมองส่วนอารมณ์เกี่ยวพันกับสมองส่วนคิดอย่างแยกไม่ออก และอีกศาสตร์หนึ่งเป็นของดีใกล้ตัว คือ ศาสนาพุทธ ของเรานี่เอง วิถีปฏิบัติที่หนูดีคุ้นชินคือแนวทางของหมู่บ้านพลัม ที่สอนให้ตื่นขึ้นมาตอนเช้ากับบทกวีที่ว่า
“ตื่นนอน รอยยิ้มผลิบาน มีเวลาดี ๆ อีกถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง ตั้งปณิธานมีความแจ่มใสทุกขณะ”

หนูดีฝึกตัวเองไว้เลยว่า ตื่นขึ้นมาตอนเช้าสิ่งแรกที่จะทำคือยิ้ม และทักทายคนในบ้านด้วยความแจ่มใส เหลือเวลาไว้กินอาหารเช้าสบาย ๆ อาจออกไปเดินเล่นออกกำลังกาย หรือรำมวยจีนสักนิดก่อนไปทำงาน เราอาจจะต้องตื่นเช้าขึ้นหน่อย แต่ก็คุ้มค่า ส่วนสิ่งของที่ต้องเอาติดตัวไปทำงานก็เขียนโน้ตไว้ตั้งแต่ก่อนนอน คราวนี้ไม่ลืมอะไรแล้วค่ะ ออกเดินทางสบาย ๆ ไม่ต้องขับรถปาดหน้าใคร

ส่วนหัวค่ำกลับมาบ้าน หนูดีทำอาหารกินเองสัปดาห์ละสองครั้ง ถ้าเป็นไปได้ เพราะการทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ดีมากสำหรับสมอง แถมเรายังได้กินข้าวซ้อมมือสุดอร่อยด้วย ออกกำลังกายสักนิด คุยกันสบายใจกับคนในครอบครัวสักหน่อย หนูดีลด และงดโทรทัศน์มาเป็นเวลาสองปีแล้ว และก่อนนอนหนูดีจะมี “เวลาคุณภาพกับธรรมะ” ประมาณสิบห้านาทีถึงครึ่งชั่วโมงทุกคืนค่ะ ซึ่งกิจกรรมก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการเบื่อหน่าย เช่นการฝึกการนั่งสมาธิพุทโธ ฝึกนั่งสมาชิกกับแก้วคริสตัล (ซึ่งมีราคาพอสมควร ทั้งบ้านหนูดีเลยมีอันเดียว และต้องแย่งกับคุณแม่อยู่เรื่อย) อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเพลงสวดมนต์ (เดี๋ยวนี้ออกใหม่เยอะและเพราะจริง ๆ ค่ะทั้งของไทยและทิเบต) โดยเฉพาะการอ่านหนังสือธรรมะนั้นเป็นกิจกรรมสุดโปรดเริ่มตั้งแต่เล่มเล็ก ๆ จนตอนนี้ขยายมาอ่านพระไตรปิฏกแล้ว สนุกจริงๆ และอีกสิ่งที่หนูดีทำเสมอคือการทบทวนศีลห้าแนวหมู่บ้านพลัมที่หนูดีรับมาปฏิบัติเป็นเวลาหนึ่งปีเศษแล้ว เราเรียกกันว่า “ข้อฝึกอบรมสติห้าประการ” ยืดยาวและลึกซึ้งกว่าที่เราคุ้นชินกันพอสมควรค่ะ ทุกอาทิตย์หนูดีต้องมาทบทวนว่า ศีลห้าของหนูดีบกพร่องไปตรงไหนหรือเปล่า ทำแบบนี้แล้วหลับสบาย หลับไปด้วยรอยยิ้มทุกที

ตั้งแต่เริ่มชีวิตเช่นนี้ หนูดีรู้สึกว่าสมองทำงานได้ดีขึ้นมาก เพราะความคิดรก ๆ ความรีบเร่งด่วนถูกลดทอนไปเยอะ แน่นอนว่าระหว่างวันเราคงต้องเจอะเจออะไรที่เราควบคุมไม่ได้แน่นอน แต่ลองมาฝึกสมองง่าย ๆ ทุกเช้าและก่อนหลับ แล้วจะพบเหมือนหนูดีค่ะว่าเป็นการเปิดและปิดฉากวันที่ดีจริง ๆ ก่อนนอนบางครั้งหนูดีจึงอดคิดถึงวลีหนึ่งขณะดับไฟนอนไม่ได้เลยว่า “แฮ็ปปี้เอนดิ้งอีกแล้ว”

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *