ตระกูลล่ำซำ ตอน 5 (จบ)
|ตระกูลล่ำซำ ตอน 5 รุ่นที่ 5 การสืบสานกิจการ
วันที่ 26 ธันวาคม 2534 เป็นวันที่คณะกรรมการมีมติให้ บัณฑูร ล่ำซำ บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวของบัญชา ขึ้นดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” แทนบรรยงค์ ล่ำซำ ในขณะที่มีอายุเพียง 39 ปี ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับตอนที่บัญชาเข้ามารับตำแหน่งเดียวกันนี้ เมื่อปี 2505 เป็นอันหมดยุคของผู้ก่อตั้งและผู้สร้าง เข้าสู่ยุคของผู้สานและพัฒนาธนาคารกสิกรไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยมีเครือญาติผู้ใหญ่เป็นทัพหลังคอยหนุนช่วย
ความแตกต่างระหว่างการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของบัญชาและบัณฑูรก็คือ บัญชาก้าวเข้ามาอย่างบังเอิญและฉุกละหุก โดยไม่ได้มีการตระเตรียมหรือมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเนื่องจากเกษม ล่ำซำ ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก
แต่ถึงกระนั้นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของบัณฑูร ไม่เพียงแต่จะเป็นภาระหน้าที่อันหนักอึ้งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งท้าทายความสามารถของเขา ว่าจะนำพากิจการธนาคารกสิกรไทย ไปสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์มากกว่าหรือน้อยกว่าสมัยที่ผู้เป็นบิดาของเขาได้บุกเบิกและพัฒนาไว้
บัณฑูร ล่ำซำ มีชื่อเล่นว่า ปั้น เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2496 เส้นทางชีวิตในวัยเด็กและชีวิตการงานของบัณฑูร ถูกหล่อหลอมให้เป็นคนเจ้าระเบียบอยู่ในกรอบแบบประเพณีไทยๆ มาตั้งแต่เยาว์วัย โดยถูกฝึกให้เล่นดนตรีไทย และเป็นคนที่ชอบเครื่องดนตรีไทยเอามากๆคนหนึ่ง ขณะที่มีบุคลิกคล้ายกับบัญชามากที่สุดก็คือ เป็นคนเจ้าระเบียบและให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบและมีวินัยเอามากๆ โดยมีการศึกษาจบระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี จากสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากฮาร์วาร์ด ของสหรัฐ ในปี 2520 จากนั้นก็กลับมาประเทศไทย และอาสาสมัครเป็นทหารเกณฑ์เพื่อรับใช้ชาติ โดยเป็นทหารสัญญาบัตรเพียงสองปีก็ปลดประจำการและเริ่มต้นเป็นพนักงานธนาคารกสิกรไทยทันทีในปี 2522
ตลอดระยะเวลายาวนาน ผู้เป็นบิดาได้กรุยทางสร้างรากฐาน ในการเข้ามารับช่วงการบริหารไว้เป็นอย่างดี จึงทำให้การรับตำแหน่งของบัณฑูร ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น ที่สำคัญก็คือ เจ้าสัวบัญชาได้มีการโยกย้ายเอาผู้บริหาร ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับบัณฑูร ขึ้นมาทำงานในระดับที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าทีมบริหารงานในยุคของบัณฑูรนี้ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนวัยหนุ่มเกือบทั้งสิ้น ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น บัณฑูรไม่เพียงจำชื่อพนักงานระดับล่างได้ดีเช่นเดียวกับบัญชาผู้เป็นบิดา หากแต่เขายังได้ทำความรู้จักมักคุ้นกับพนักงานเป็นอย่างดีโดยเฉพาะตลอดระยะเวลาที่เขาดูแลกิจการสาขาเป็นเวลา 3 ปีนั้น ปรากฏว่าเขาสามารถจดจำชื่อผู้จัดการสาขาได้ทั้ง 343 สาขา อย่างไม่น่าเชื่อ
งานแรกของบัณฑูรที่ธนาคารกสิกรไทย เป็นงานดูแลกิจการสาขาในต่างประเทศ รวมทั้งติดตามความเปลี่ยนแปลงของระบบธนาคารโลก อันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ช่วยให้เขามีวิสัยทัศน์กว้างไกล ในการนำพาธนาคารกสิกรไทยให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ เฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากลไก และระบบการบริหารสู่ความมีประสิทธิภาพก้าวทัดเทียมกับระบบการบริหารธนาคารของชาติตะวันตก ทั้งนี้ด้วยกลยุทธ์ “รีเอ็นจิเนียริ่ง” หรือ “การยกเครื่ององค์กร”
โดยสรุปแล้ว นโยบายรีเอ็นจิเนียริ่งที่บัณฑูรนำมาใช้ในธนาคารกสิกรไทย นับตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2540 ก็นับว่าใกล้จะสมบูรณ์แบบและบังเกิดผลสำเร็จอยู่ในระดับพอใจยิ่งทั้งของผู้บริหารและของผู้ใช้บริการธนาคารกสิกรไทย โดยทำการรีเอ็นจิเนียริ่งไปทั้งหมด 512 สาขา ทั่วประเทศ โดยผลของการปรับปรุงทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยเพิ่มความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถลดจำนวนพนักงานที่จะใช้ในสาขาที่เปิดใหม่ จากเดิมที่ใช้ 14 คน เหลือเพียง 7 คนต่อสาขา โดยมีประสิทธิภาพเท่าเดิม
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทยได้ขยายกิจการไปยังประเทศจีน รวมทั้งได้รับรางวัลเกี่ยวกับสถาบันการเงิน จากนิตยสารต่างๆมากมาย
ในปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจได้ถาโถมรุมกระหน่ำสถาบันการเงิน การธนาคารไทยอย่างรุนแรงที่สุด อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ทุนนิยมไทย กระทั่งก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อชะตากรรมของประเทศอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเป็นเหตุให้ “ธนาคารตระกูลเจ้าสัว” หลายตระกูลต้องล่มสลายลง ขณะที่ธนาคารที่ตระกูลเจ้าสัวที่ยังไม่ล่มสลายต้องดิ้นรนอย่างสุดเหวี่ยง เพื่อรักษาสถานภาพแห่งความเป็นเจ้าของให้ยืนยาวที่สุด อย่างน้อยให้รอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งตรงกับรัฐบาลของ พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ในช่วงกลางปี 2540 โดยเริ่มจากการปิดสถาบันการเงิน 16 แห่ง และในเดือนกรกฎาคม ได้เปลี่ยนโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินสู่ระบบลอยตัว มีผลทำให้ หนี้ต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนทะยานสูงขึ้นมหาศาล เกิดหนี้เสีย
ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทยนอกจากจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธนาคารอื่นแล้ว ยังเป็นธนาคารที่โดดเด่นที่สุดในปี 2540 เพราะผู้บริหารระดับสูงได้มีการ “รีเอ็นจิเนียริ่ง” องค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการบริหารพร้อมทั้งได้ขวนขวายเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องตลอดมา
หลังจากสิ้นปี 2541 การเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกประการโดยธนาคารได้รับเงินค่าขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 376 ล้านหุ้น เป็นเงิน 33,088 ล้านบาท นับเป็นธนาคารแรกที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนเข้าประเทศ ภายหลังจากที่ได้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ส่งผลกระทบให้ผู้นำตระกูลล่ำซำต้องสูญเสียฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไปในที่สุด นั่นคือ กลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อยเพียง 7 % ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม บัณฑูร ก็ยังคงดำรงตำแหน่งบริหารอันเดิมอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จเบื้องต้น ในการนำธนาคารกสิกรไทยทะยานฟ้าฝ่าวิกฤติยุคไอเอ็มเอฟของผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 5
ว่าไปแล้ว ความสำเร็จและความโดดเด่นของ บัณฑูร ล่ำซำ จะไม่ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาได้เลย หากปราศจากการประสานงานระหว่าง “ทีมงานคนรุ่นใหม่” กับบรรดา “ขุนพลมือเก่า” ซึ่งมากด้วยบทเรียนและประสบการณ์ ที่คอยช่วยประคับประคองและประสานได้อย่างกลมกลืน ขณะที่การตั้งรับในช่วงวิกฤติก็รอบคอบรัดกุมพอสมควร จึงไม่ถึงกับเลวร้ายหรือทรุดหนักเช่นธนาคารพาณิชย์บางธนาคาร เช่น รู้ว่าการเสียหนึ่งแต่ได้หนึ่งเพื่อรักษาฐานที่มั่นเป็นอย่างไร
ในปี 2541 ธนาคารกสิกรไทย ได้รับเลือกจากนิตยสาร Global Finance ให้เป็นสุดยอดธนาคารของประเทศไทย และได้รับเลือกเป็นธนาคารที่ดีที่สุดในประเทศไทย จากนิตยสาร Euromoney และได้รับเลือกจากวารสาร “การเงินธนาคาร” ให้เป็นธนาคารแห่งปี 2541 นอกจากนี้ในช่วงกลางปี 2542 บัณฑูร ล่ำซำ ได้รับคัดเลือกจากนิตรสาร “เอเชียวีค” ให้เป็นผู้นำนักธุรกิจและไฟแนนซ์ ในปี ค.ศ.2000 โดยสิ้นไตรมาสแรกของปี 2542 นั้นปรากฏว่าธนาคารกสิกรไทยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 13,576 ล้านบาท มีเงินกองทุน 70,000 ล้านบาท