ตระกูลล่ำซำ ตอน 4
|ตระกูลล่ำซำ ตอน 4 รุ่นที่ 4 ความเจริญรุ่งเรืองของธนาคารกสิกรไทย
บัญชา ล่ำซำ บุตรชายคนโตของ โชติ ล่ำซำ (ผู้นำตระกูลรุ่นที่ 3) และในฐานะที่เป็น “เจเนอเรชั่น “ หรือ “รุ่น” ที่ 4 ของตระกูลล่ำซำ ทำให้ชีวิตในปฐมวัยของเด็กชายบัญชา นอกจากจะได้รับความสะดวกสบายไม่ต้องลำบากยากแค้นเหมือนกับชีวิตในวันเด็กของเจ้าสัวบางคนแล้ว ยังได้รับการประคบประหงมเป็นอย่างดีท่ามกลางเครือญาติตระกูลล่ำซำที่พำนักอยู่ในบ้านประจำตระกูลที่ชื่อ “บ้านสิญญาณ” แต่ก็ยังถูกฝึกฝนให้เป็นคนขยันหมั่นเพียรบุกบั่นมุ่งมั่นและต่อสู้ชีวิต รวมทั้งการทำงานบ้านสารพัด
ในด้านของบัญชา ล่ำซำ ถือว่าเป็นคนซีเรียสและเจ้าระเบียบ ตั้งแต่เล็กโดยจะจัดของเรียบร้อยมาก สันหนังสือเรียงเท่ากัน เวลาไปเที่ยวหรือทัวร์ที่ไหนก็ตาม ก็วางแผนแล้วก็ไปตามนั้น และเป็นคนใจกว้าง ในวัยเรียน บัญชา ได้เข้าเริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนสุรศักดิ์ จากนั้นก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ลักษณะเด่นในวัยเรียนก็คือ ความขยันหมั่นเพียร ความมีมานะบุกบั้นในการศึกษาสูงยิ่ง และเอาใจใส่อย่างจริงจังในการทำการบ้านและอ่านหนังสือ แม้ผลการเรียนจะอยู่ในระดับปานกลางแต่ในด้านความคิดความอ่านเหนือกว่าเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน
จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และได้เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2486 ภายหลังได้ย้ายมาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แผนกเคมี แต่เนื่องจากทำกิจกรรมกับสโมสรมากเกินไปจนไม่มีเวลาทบทวนตำรา ทำให้ไม่อาจสำเร็จการศึกษาได้ จึงเป็นเหตุให้ บัญชา ล่ำซำ ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
ในปี 2490 ไม่เพียงแต่เป็นปี ที่ตระกูลล่ำซำกำลังบุกเบิกกิจการธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น ทว่าเป็นปีที่ บัญชา ล่ำซำได้ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หลังจากสอบไม่ผ่านแผนกวิชาเคมี ถึงแม้มีโอกาสที่จะเรียนซ้ำชั้น หรือสอบซ่อมใหม่ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นเป็นประเทศผู้ชนะสงครามใหม่ๆ และเป็นประเทศที่กำลังมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาการล้ำยุคกว่าทุกประเทศในโลก โดยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน
ระบบการเรียนในอเมริกาบังคับให้ทำงานหนัก ทำด้วยตนเองและทำงานแข่งกับเวลา จนสร้างนิสัยที่จะสู้งานหนัก และทำงานให้เสร็จโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคหรือความเหน็ดเหนี่อย บางครั้งก็ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำต่อเนื่องกันเป็นอาทิตย์ นับเป็นประสบการณ์และบทเรียนอีกอย่างหนึ่งที่บัญชา ล่ำซำ ได้เรียนรู้
ในปี 2493 บัญชา สำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์ อาร์เบอร์ จึงได้กลับประเทศไทยปลายปี 2493 เพื่อช่วยกิจการในครอบครัว ทันทีที่กลับถึง บัญชาก็ได้ร่วมก่อตั้งและเข้าบริหารกิจการบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ร่วมกับจุลินทร์ โดยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ ในวัยเพียง 26 ปีเท่านั้น
ในปี 2494 ก็ได้หมั้น กับ ม.ร.ว.สำอางวรรณ เทวกุล และได้แต่งงานกันในปี 2495 โดยมีบุตรธิดารวมกัน สามคน คือ บัญฑูร ล่ำซำ (ผู้นำตระกูลในรุ่นที่ 5) ,สุวรรณ ล่ำซำ ,วรางคณา ล่ำซำ
ในปี 2496 ก็ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และเข้ากอบกู้บริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า โดยในช่วงนั้นสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจมีความชะงักงันอีกครั้งเนื่องจากสงครามเกาหลีได้ยุติลง ทำให้สินค้าเกษตรตกต่ำไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ไม้สัก และแร่ธาตุ ทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับการชาดดุลการค้า นับแต่ปี 2495 เป็นต้นมา
ตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา นอกจากบัญชาจะทุ่มเทพัฒนากิจการเมืองไทยประกันชีวิตและบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้าแล้ว บัญชายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการชักชวนบริษัทประกันภัยอื่นๆ ให้มาร่วมกันก่อตั้งสมาคมประกันชีวิตอีกด้วย เพราะฝีมือในการบริหารที่เป็นเลิศ ด้วยความสามารถ ด้วยกลยุทธ์ ด้วยแนวทางและนโยบายบริหารที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่เพียงแต่รักษากิจการประกันภัยของตระกูลให้ดำรงอยู่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้เท่านั้น ทว่ายังทำให้กิจการของตระกูลสามารถเจริญก้าวหน้าและมีรากฐานอันมั่นคง สามารถดำรงความเติบใหญ่อยู่ได้แม้ในขณะที่วิกฤติทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงตราบทุกวันนี้
ในปี 2505 บัญชาลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย แต่ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด) จนกระทั่งถึงปี 2520 ผู้นำตระกูลล่ำซำคนอื่นๆ จึงก้าวมารับตำแหน่งแทน
การก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยของบัญชา ล่ำซำ ด้วยวัยเพียง 38 ปี ไม่เพียงแต่เป็นเพราะโชคชะตาชีวิตและด้วยความบังเอิญ หากแต่เป็นตามมติของสภาตระกูล เมื่อมารับตำแหน่งนายบัญชาเห็นว่าขั้นต่อไปก็คือ การสานความเจริญก้าวหน้าของธนาคารต่อไปให้เต็มที่ จึงได้ตั้งเป้าหมายให้ธนาคารกสิกรไทยก้าวขึ้นสู่ระดับผู้นำของวงการ ทั้งขนาดของสถาบันและคุณภาพ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายบัญชา ได้วางแผนระยะยาวขึ้นเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกันทุกด้าน เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตให้กับธนาคารกสิกรไทย ด้านหนึ่งคือ การเตรียมการเพิ่มทุน เพื่อขยายกำลังการประกอบธุรกิจพร้อมๆกับด้านการขยายเครือข่ายสาขา เพื่อยึดพื้นที่วางจุดขายให้กว้างขวาง การขยายฐานทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการขยายงานดังกล่าว และอีกด้านหนึ่งซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปคือการส่งเสริมการตลาด
กลยุทธ์สำคัญอีกกลยุทธ์ที่บัญชานำมาใช้ ก็คือ การพัฒนาทรัพยากรคน อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากประสบการณ์ของตนเองสมัยเข้าทำธุรกิจประกันชีวิต บัญชา มองธุรกิจธนาคารได้ขาดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “คน” หรือ “บุคลากร” ดังนั้นนโยบายเร่งสร้างและขยายบุคลากรที่มีคุณภาพ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน มีการเปลี่ยนแปลงระบบรับพนักงาน คือเปลี่ยนจาก “ตั้งรับ” มาเป็นฝ่าย “รุก” ด้วยการไปสัมภาษณ์ถึง มหาวิทยาลัย โดยเน้นนักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้ายเป็นหลัก เขาเห็นว่าคนที่เขารับเข้าทำงานนั้น ไม่จำเป็นต้องเก่งนัก เก่งพอประมาณ และมีกิจกรรมพิเศษต่างๆ “คนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้ามีคนดีงานก็เสร็จไปแล้ว 60% ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเรามอบหมายงานให้ถูกคน ถูกอุปนิสัย ถูกความสามารถของเขา แต่ถ้ามอบงานให้ไม่ถูกคนแล้ว นอกจากงานจะไม่เดิน ยังจะทำให้อย่างอื่นช้าตามไปอีก ผมจึงถือว่าคนเป็นปัจจัย เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุด”
ไม่เพียงแค่นั้น บุคลากรที่เข้ามาทำงานในธนาคารกสิกรไทยทุกคน ยังได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้ศึกษาต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด รวมทั้งธนาคารยังให้ทุนแก่บุคคลภายนอกไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศอีกด้วย โดยเริ่มให้ทุนตั้งแต่ปี 2509 ที่สำคัญบัญชามีนโยบายเรื่องบุคลากรไว้ชัดเจนว่า จะสร้างคนแต่ไม่ซื้อคน
นอกจากนี้ บัญชายังมีมรรควิธีอันเป็นเคล็ดลับ ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน คือ ต้องมีเงื่อนไข 3 ประการต่อไปนี้ “เจ้านายรัก ลูกน้องบูชา และเพื่อนฝูงเสน่หา” ซึ่งสามสิ่งที่ได้มานี้ บัญชาเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเป็นคน “ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน มานะ สามัคคี ไร้ริษยา และ บริหารเวลาเป็น”
สำหรับนโยบายและระบบในการแต่งตั้งพนักงาน รวมทั้งการให้ความดีความชอบ ในยุคบัญชา ให้โอกาสในการก้าวหน้าแก่พนักงานอย่างเท่าเทียมกัน คือให้ความยุติธรรมในการเลื่อนขั้น โดยได้ยึดถือผลงานยิ่งกว่าความอาวุโส และการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะองค์กร นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำงานชิ้นหนึ่งๆ เพื่อให้พนักงานร่วมกันทำเป็นทีม
นอกจากความพยายามในการขยายกิจการสาขาของธนาคารกสิกรไทยให้กว้างใหญ่ไพศาล ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด บัญชา ยังให้ความสำคัญในการสร้างภาพพจน์ของธนาคารอีกด้วยเนื่องเพราะในยุคนั้น ด้านหนึ่งภาพพจน์ของธนาคารทั่วไป มีภาพลักษณ์ไม่แตกต่างจากโรงรับจำนำ อีกทั้งการให้บริการที่ไม่แตกต่างจากระบบราชการเท่าใดนัก ยิ่งหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มปัญญาชนที่ก้าวหน้าในยุคนั้นมองว่าธนาคารเปรียบเสมือนปลิงดูดเลือดสังคม และเสือนอนกิน บัญชา จึงพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทย โดยการวิธีในการบริหารที่มุ่งจับคนรวยซึ่งเป็นตลาด “ระดับบน” มาสู่คนชั้นกลางซึ่งเป็นตลาด “ระดับล่าง” นอกจากนี้ยังเน้นให้พนักงานเห็นคุณค่าของคำว่า “บริการ” แก่ลูกค้าทุกระดับเท่าเทียมกัน โดยในยุคบัญชา ได้กำหนดคำขวัญของธนาคารใหม่เป็น “บริการทุกระดับประทับใจ” และใช้สัญลักษณ์ประจำธนาคารเป็นรูป “รวงข้าว”
สำหรับกลยุทธ์ “เดินเข้าหาลูกค้า” นับเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลยิ่งเพราะทำให้ไม่เพียงแต่ธนาคารกับลูกค้ามีความใกล้ชิดผูกพันกันเท่านั้น แต่ยังทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นที่นิยมชมชอบของลูกค้าอีกด้วย เพราะลูกค้าบางคนรู้สึกภูมิใจที่มีพนักงานของธนาคารไปพบถึงที่ทำงานหรือที่บ้าน แทนที่เขาจะเข้าไปพินอบพิเทากับเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารธนาคารเช่นแต่กาลก่อน นอกจากนี้ยังมีการบริหารแบบกระจายอำนาจ รวมทั้งออกติดตามผลการดำเนินในแต่ละสาขาด้วยตัวเอง
สำหรับความก้าวหน้าเติบใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย เริ่มปรากฏเด่นชัดในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาแบกรับภารกิจในการบริหาร เป็นต้นมา นั่นก็คือในปี 2509 ธนาคารได้เพิ่มทุนจากเดิม 20 ล้านบาทเป็น 50 ล้านบาท เพื่อให้รองรับการเติบใหญ่ของธนาคาร และเพื่อให้มีกองทุนสูงพอสำหรับการขยายสินเชื่อให้กับกิจการต่างๆได้อย่างกว้างขวาง
การที่กิจการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เอง เป็นเหตุให้สำนักงานใหญ่แออัดคับแคบ ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2510 คณะกรรมการบริหารจึงอนุมัติตามข้อเสนอของบัญชาให้ย้ายสำนักงานใหญ่จากตึกเล็กๆ บนถนนเสือป่า มาตั้งอยู่ ณ อาคาร 9 ชั้น เลขที่ 142 ถนนสีลม ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทย ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตราตั้ง (ตราครุฑ) ให้เป็นธนาคารพาณิชย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยผลงานที่ให้บริการธนาคารพาณิชย์ต่อประชาชน ธุรกิจ และสถาบันต่างๆ เป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
จากแรกเริ่มเมื่อปี 2505 เมื่อบัญชาเริ่มเข้าทำงาน ธนาคารมีสาขาอยู่เพียง 36 สาขา จัดอยู่ในระดับ 9 ของธนาคารพาณิชย์ไทย แต่หลังจากปี 2510 ธนาคารกสิกรไทยได้ก้าวมายืนแถวหน้าของวงการธนาคารอย่างสง่าผ่าเผย ดังจะเห็นได้จากในปลายปี 2513 มียอดเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 2,233.5 ล้านบาท สินทรัพย์ 2,719 ล้านบาท มีสาขา 78 สาขา และมีพนักงาน 1,645 คน รวมทั้งมีการขยายสาขาไปยังลอนดอน, แฮมเบอร์ก ,นิวยอร์ก ,ลอสแองเจลิส,ฮุสตัน,เทกซัส,โตเกียว,ฮ่องกง
กล่าวได้ว่า ความสำเร็จของพี่ใหญ่ บัญชา ล่ำซำ ในการสรรค์สร้างธนาคารกสิกรไทย สมบัติอันล้ำค่าของตระกูลล่ำซำให้เติบใหญ่ มั่นคง และเกรียงไกร ในเวลาเพียง 10 ปีแรกที่เขาเข้ามาบริหารนั้น เพราะบัญชามีแนวทางการบริหารที่ถูกต้อง มีนโยบายที่ดี และมีกลยุทธ์ที่เยี่ยมยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสายตาอันยาวไกลที่เรียกว่ามี “วิสัยทัศน์” ที่ดี โดยเล็งเห็นว่าจะต้องแปรเปลี่ยนธุรกิจของครอบครัวให้เป็น “ธุรกิจของมหาชน” โดยในปี 2518 นำเอาหุ้นของธนาคารกสิกรไทย เข้าตลาดหลักทรัพย์ และในปี 2522 ได้นำเอาบริษัทประกันภัยอันเก่าแก่ของตระกูล คือบริษัทกวางอันหลง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทภัทรประกันภัย และบริษัทภัทรธนกิจ เข้าตลาดหลักทรัพย์
ในปี 2519 บัญชาได้เลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริการ และได้ให้บรรยงค์ ล่ำซำ ผู้เป็นน้องชาย เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน หลังจากนั้นกิจการก็ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน
ในช่วงปี 2524-2526 ประเทศไทยก็ได้ประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง พร้อมๆกับความตกต่ำของเศรษฐกิจโลก ปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศ มีการปิดสถาบันการเงินต่างๆ ในปี 2527 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการปรับค่าเงินบาทจาก 23 เป็น 27 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการใช้นโยบายดอกเบี้ยแพง เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของสินเชื่อผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทำให้ธนาคารกสิกรไทยต้องมีการเพิ่มทุน โดยให้พนักงานช่วยกันขายหุ้น ซึ่งปรากฏว่าสามารถเพิ่มทุนได้ถึง 1,000 ล้านบาท นับว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2527 ธนาคารกสิกรไทยดูเหมือนจะเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว ที่นอกจากจะไม่แสดงอาการว่าถูกกระทบกระเทือนแล้ว ยังมีกิจกรรมในเชิงรุกสถานการณ์ รวมทั้งการพัฒนาที่ก้าวหน้าล้ำยุคเหนือกว่าธนาคารอื่นหลายธนาคาร นั่นคือได้พัฒนารุดหน้าจนเป็นธนาคารอิเล็กทรอนิกส์สามารถให้บริการด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งระบบในปี 2527 โดยสามารถติดตั้งได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี บริการเหล่านี้ได้แก่ ฝาก-ถอน ทั่วประเทศ ธนาคารทางโทรศัพท์ การถอนเงินอัตโนมัติ ฯลฯ
ในปี 2534 หลังจากที่นำพาธนาคารกสิกรไทยกลายมาเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 3 รองจากธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารกรุงไทย โดยมีพนักงานทั้งสิ้น 15,039 คน มีสาขาทั่วประเทศ 363สาขา มีสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 42 แห่ง มีสาขาในต่างประเทศ 5 สาขา มียอดทรัพย์สินทั้งสิ้น 286,106 ล้านบาท บัญชาได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บทำให้สุขภาพของบัญชาย่ำแย่ลงเป็นลำดับ แต่คณะกรรมการธนาคารได้ตกลงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ และให้บรรยงค์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการอำนวยการ และมีมติแต่งตั้งให้บัณฑูร ล่ำซำ บุตรชายคนเดียวของบัญชา ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ นับเป็นการถ่ายอำนาจการบริหารกิจการของตระกูลล่ำซำ จาก รุ่นที่ 4 ไปสู่ รุ่นที่ 5 ด้วยความเรียบร้อย ปราศจากปัญหาและอุปสรรคใดๆ