ตระกูลล่ำซำ ตอน 3

ตระกูลล่ำซำ ตอน 3 รุ่นที่ 3 ก่อกำเนิดธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงที่ อึ้งยุกหลง ถูกฆาตกรรมถือว่าตระกูลล่ำซำยังมีโชคอยู่บ้างที่บุตรชายทั้งสามของอึ้งยุกหลง อันได้แก่ โชติ,จุลินทร์ และ เกษม โตเป็นหนุ่ม จึงสามารถรับช่วงในการดำเนินธุรกิจต่อจากผู้เป็นบิดาได้แล้ว นอกจากจะประคับประคองกิจการต่างๆ ยังมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยนายโชติ ล่ำซำ เน้นขยายงานของล่ำซำเดิม แต่ จุลินทร์มุ่งสร้างงานเพิ่มขึ้นนอกจากบริษัทเดิม เช่น ร่วมลงทุนและบริหารในบริษัทค้าพืชผลไทย บริษัทพืชผลอีสาน บริษัทไทยนิยมพาณิชย์
ในปี 2483 รัฐบาลได้จัดตั้งหอการค้าไทยขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจของคนไทย จุลินทร์ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นประธานหอการค้าไทยคนแรก
นายโชติ ล่ำซำ ได้แต่งงานกับ น้อม และได้มีบุตรและธิดา ทั้งหมด 8 คน ประกอบไปด้วย บัญชา,ชูจิตร,ชัชนี,ธนาทิพย์,บรรยงค์,บรรจบ ,ยุพิน และ ยุตติ ตามลำดับ โดยบัญชาเป็นบุตรคนโต เกิดเมื่อปี 2468 ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 4
ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อเช้าวันนที่ 8 ธันวาคม 2484 วันที่จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ก่อสงครามและเข้ายึดครองประเทศไทย กระทั่งรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม จำต้องประกาศร่วมกับญี่ปุ่นสู้รบกับประเทศสัมพันธมิตร ผลของการประกาศสงครามครั้งนั้น มิเพียงแต่ทำให้การค้าต่างประเทศของไทยกับประเทศตะวันตกต้องหยุดชะงักลงเท่านั้น ทว่ายังทำให้กิจการและทรัพย์สินของสาขาธนาคารชาวตะวันตกผู้เป็นประเทศคู่สงครามต้องตกเป็นของรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมเนียมของการทำสงครามทั่วไป ที่ต้องยึดทรัพย์สินของชนชาติศัตรูคู่สงครามเอาไว้ ทั้งภาคธนาคารพาณิชย์ข ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยเฉพาะกิจการส่งออกพืชเกษตร กิจการโรงสี กิจการเดินเรือ กิจการประกันภัย ที่เคยถูกต่างชาติพยายามดาหน้าเข้ามายึดครองมาเป็นเวลาช้านาน ได้สิ้นสุดแทบจะสิ้นเชิง ในขณะที่อิทธิพลและบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ได้ดาหน้าเข้ามาประกอบธุรกิจการค้าแทนที่ชาวตะวันตก พร้อมกับพวกเขาต่างก็ได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อความเติบโตของธุรกิจครอบครัวที่นับวันมีอนาคตรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาล ดังที่กล่าวว่า “สงครามเป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้ทำลาย” เพราะเป็นการกรุยทางสร้างโอกาสอันดีสำหรับคนไทยเชื้อสายจีนให้เริ่มต้นดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของตนเองขึ้นในประเทศไทยแทนที่สาขาธนาคารพาณิชย์ของชาติตะวันตก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามได้สร้าง “นายทุนนายธนาคาร” ขึ้นมาหลายกลุ่ม เป็นต้นว่า กลุ่มโสภณพณิช,กลุ่มรัตนรักษ์,กลุ่มเตชะไพบูลย์,กลุ่มเอื้อชูเกียรติ,กลุ่มนันทาภิวัฒน์,กลุ่มชลวิจารณ์และกลุ่มล่ำซำ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2488 ธนาคารกสิกรไทย ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 5 ล้านบาท สำนักงานใหญ่เป็นตึกแถว 3 ชั้น 5 คูหา ตั้งอยู่แถวถนนเสือป่า โดยนายโชติ ล่ำซำ ร่วมกับพี่น้อง และเพื่อนฝูงเป็นผู้ก่อตั้ง ด้วยเห็นว่าสงครามมหาเอเชียบูรพาจะยุติลงในไม่ช้า และภายหลังสงครามเศรษฐกิจของไทยและโลกจะฟื้นตัวและเฟื่องฟูกว่าแต่ก่อนอย่างแน่นอน การผลิตจะขยายตัว ในขณะที่ความต้องการกำลังทุนจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าระหว่างประเทศเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นตามลำดับ มีแต่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ที่จะเป็นสถาบันเศรษฐกิจรองรับสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นได้ดี ในขณะนั้น ธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่จำกัดไม่เพียงพอจะรองรับการฟื้นฟูของเศรษฐกิจหลังสงคราม
นโยบายของนายโชติ ล่ำซำ ในการก่อตั้งธนาคารกสิกรไทย คือ เน้นลูกค้ารายย่อยและเน้นลูกค้าในชนบทเป็นสำคัญ สอดคล้องกับชื่อ “กสิกรไทย” ที่หมายถึงชาวนาชาวไร่ที่เป็นมวลชนหลักของประเทศ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่มากกว่า 80 % ของประชากรทั้งหมด
ต่อมาธนาคารกสิกรไทยก็เริ่มเปิดสาขาแรกของตัวเองขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2488 เนื่องจากหาดใหญ่เป็นอำเภอที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจการค้าขายเป็นอันมาก เป็นศูนย์กลางติดต่อการค้าขายของภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และสินค้าที่มาจากมลายูและสินค้าที่จะส่งไปมลายูก็ตาม ต่อมาก็มีการขยายสาขาไปตามจังหวัดที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟู ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย เป้าหมาย ของผู้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจภาคการเกษตร มากกว่าที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคพาณิชยกรรมและภาคอุตสาหกรรม เพราะเห็นว่าธนาคารกสิกรไทยควรยึดเอาตลาดล่าง คือตลาดที่มี “มวลชน” เป็นฐานสำคัญนั่นเอง โดยในช่วงนั้นบุตรของโชติ และจุลินทร์ อันได้แก่ บัญชา และ ปรีชา ก็ได้เริ่มเข้าช่วยงานในธนาคาร โดยทำหน้าที่เป็นเสมียน
ในปี 2489 จุลินทร์ ล่ำซำ ยังได้ร่วมมือกับบุคคลในคณะราษฎร จัดตั้งบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำจำกัด ขึ้นอีกด้วย โดยมีเกษม ล่ำซำ น้องชายคนเล็ก เข้ามาช่วย บริษัทนี้จัดตั้งเพื่อเป็นคลังสินค้าที่รับจำนำสินค้าทั่วไป และทำหน้าที่กัมปะโดให้แก่ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งกัมปะโด เป็นการว่าจ้างนักธุรกิจหรือพ่อค้าที่มีฐานะมั่นคง และเป็นที่รู้จักกว้างขวางเป็นที่เชื่อถือในท้องถิ่น ให้มาเป็นพนักงานประจำของธนาคาร ซึ่งทำหน้าที่หาเงินฝาก และปล่อยสินเชื่อโดยกัมปะโดจะต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันวงเงินสินเชื่อให้แก่บุคคลที่กัมประโดแนะนำมา แต่ภายหลังก็ได้ยกเลิกระบบกัมประโด เนื่องจากความยุ่งยากในการจัดการ
ภายหลังเกิดรัฐประหารในปี 2490 กลุ่มทหารรุ่นใหม่ในกองทัพบกเริ่มแผ่อำนาจ และได้แตกแยกกันออกเป็น 2 ขั้นอำนาจ คือ สายราชครู และ กลุ่มบ้านสี่เสาฯ โดยมีจอมพลผิน ชุณหะวัณ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำของแต่ละกลุ่ม ทางกลุ่มล่ำซำเองแม้จะมีความโน้มเอียงมาทางฝ่าย กลุ่มบ้านสี่เสาฯ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งกลุ่มราชครู โดยจุลินทร์ ค่อนข้างจะสัมพันธ์กับกลุ่มสายราชครู ขณะที่เกษม ล่ำซำ น้องชาย สนิทกับกลุ่มบ้านสี่เสาฯ ต่อมาปรากฎว่ากลุ่มบ้านสี่เสาฯ ชนะขาดลอยต่อกลุ่มราชครู นับว่าตระกูลล่ำซำเป็นการแทงหวย หรือเลือกข้างอย่างได้ผล
นับแต่ปี 2490 เป็นต้นมาธุรกิจของตระกูลล่ำซำ มีการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายทางลูกชายผู้สืบตระกูล ตลอดถึงลูกเขยที่เข้าไปต่อสายกับตระกูลเจ้าสัวบางตระกูล เช่น ตระกูลหวั่งหลี และตระกูลลิ่วเฉลิมวงศ์ ในปีนี้เอง พี่น้องตระกูลล่ำซำ ได้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่จัดการทรัพย์สินของตระกูล บริษัทนี้ชื่อว่า “บริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัด” โดยมีกฎเหล็กสำหรับบริษัทว่า หุ้นของบริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัด นั้น เมื่อต้องการโอน ไม่ว่าจะโดยวิธีขายหรือยกให้กันเปล่า ฟรีๆ ห้ามโอนให้กับบุคคลภายนอกตระกูล “ล่ำซำ” อย่างเด็ดขาด และผู้ที่จะมาเป็นกรรมการของบริษัทได้จะต้องเป็นชาย และชายผู้นั้นจะต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสกุลของตระกูลล่ำซำเท่านั้น ยกเว้นเมื่อหาผู้ชายเป็นผู้สืบสกุลล่ำซำไม่ได้จึงจะอนุโลมให้ผู้ถือหุ้นเกินกว่า 10 หุ้นขึ้นไป ที่มีความเกี่ยวพันกับตระกูลล่ำซำ โดยการสมรสมาเป็นกรรมการของบริษัทนี้ได้
หลังจากผู้นำตระกูลรุ่นที่ 3 ได้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยเพียง 3 ปี และก่อตั้งบริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัด ได้เพียงไม่ถึงปี คือในปี พ.ศ.2491 โชติ ล่ำซำ ผู้นำที่อาวุโสสูงสุดของตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 3 ได้ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญยิ่งสำหรับตระกูลล่ำซำและธนาคารกสิกรไทย ทำให้ จุลินทร์ ล่ำซำ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และ เกษม ล่ำซำ น้องชายคนเล็กที่จบวิชาการธนาคาร จากอังกฤษ มาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
นอกจากกิจการธนาคารกสิกรไทยและธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายที่ โชติ ล่ำซำ ได้มอบให้พี่น้องและลูกหลานดำเนินการ ปรัชญาในการทำงานของโชติ ล่ำซำ ก็ยังเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานในการประกอบธุรกิจ “การที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือชีวิต ต้องเริ่มจากทำงานหนัก ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และเหนือสิ่งอื่นใด เราไม่สามารถทำทุกสิ่งด้วยตนเองได้ เพราะฉะนั้นจะต้องสรรหาผู้ใต้บังคับบัญชาที่เหมาะสมและต้องใจกว้าง ดูแลทุกข์สุขเขาให้ดีด้วย “
เกษม ล่ำซำเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางระบบธนาคารกสิกรไทยตามรูปแบบของธนาคารอังกฤษ รวมทั้งยังเป็นนายธนาคารอาวุโสที่คนในวงการธนาคารต่างให้การยอมรับกันมาก ที่สำคัญคือ เขาเป็นผู้นำคนสำคัญในการเป็นผู้ก่อตั้ง “สมาคมธนาคารไทย” และได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของสมาคม นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มประเพณีการฝึกและส่งพนักงานไปอบรมที่อังกฤษ รวมทั้งการให้ทุนแก่นักศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศ และกลับมาทำงานที่ธนาคารหลังจบการศึกษา
ธนาคารกสิกรไทยภายใต้การบริหารงานของเกษม ล่ำซำ และ จุลินทร์ ล่ำซำ ยังคงยึดนโยบาย เป้าหมายและเข็มมุ่งเฉกเช่นเดียวกันกับยุคของ โชติ ล่ำซำ ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธนาคาร คือ มุ่งขยายกิจการไปตามหัวเมืองส่วนภูมิภาคเป็นหลัก มากกว่าที่จะให้ความสนใจในเขตกรุงเทพฯและธนบุรี แต่อย่างไรก็ตามในช่วง ปี 2496 ถึง 2504 เกษม ล่ำซำ ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยเริ่มที่จะหันมาขยายงานในกรุงเทพฯและธนบุรี โดยอาศัยการเช่าหรือซื้ออาคาร มาเปิดดำเนินการ มากกว่าการซื้อที่ดินและสร้างอาคารเป็นการถาวรในปัจจุบัน
บทบาทและภาระหน้าที่ของเกษม ล่ำซำ นั้นไม่เพียงแต่จะเป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์และนโยบายที่โชติ ล่ำซำผู้เป็นพี่ชายกำหนดไว้เท่านั้น ทว่า เขายังสร้างผลงานด้วยการขยายกิจการของธนาคารให้เติบใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะขยายสาขาไปยังที่ตามหัวเมืองอันเป็นจุดสำคัญทางธุรกิจในแต่ละภูมิภาคของประเทศ และยังเป็นผู้วางรากฐานระบบสาขาในส่วนกลางให้กับธนาคารกสิกรไทยอีกอ้วย
จนกระทั่งในปี 2505 เกษม ล่ำซำ เสียชีวิตด้วยเครื่องบินตกที่ไทเป เกาะไต้หวัน ภาระหน้าที่ทั้งหมดในการบริหารกิจการธนาคารกสิกรไทย จำกัด จึงตกอยู่บนบ่าของ บัญชา ล่ำซำ ลูกชายคนโตของ โชติ ล่ำซำ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการที่มี จุลินทร์ ล่ำซำ เป็นประธานในที่ประชุม และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เนื่องจากความสำเร็จของเขาในการบริหารกิจการเมืองไทยประกันชีวิต และความสามารถในการกอบกู้วิกฤติของบริษัท ล่ำซำ ประกันภัย จำกัด นั่นเอง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *