ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน

ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน
ในวงนักวิชาการรวมทั้งนักนโยบายของนานาประเทศล้วนให้ความสำคัญกับการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของ World Economic Forum อย่างมาก เนื่องจากเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการเป็นอิสระ ไม่หวังผลกำไร ทำหน้าที่หลักในการเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รายงานที่ World Economic Forum รายงานเป็นประจำทุกปีคือ Growth Competitiveness Index (GCI) หรือ “ดัชนีการเติบโตของความสามารถในการแข่งขัน” ของแต่ละประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขหนึ่งที่นักวิชาการ นักนโยบาย และนักธุรกิจ ติดตามอย่างต่อเนื่อง การจัดทำ GCI ใช้ทั้งข้อมูลสาธารณะ และการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (Executive Opinion Survey) โดย GCI ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ คุณภาพของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระดับมหภาค การทำงานขององค์กรภาครัฐ และพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี โดยในแต่ละองค์ประกอบมีดัชนีย่อยๆ จำนวนมากที่ทำให้การวัดความสามารถในการแข่งขันมีความละเอียดและสมบูรณ์

ฟินแลนด์….แชมป์สามสมัย

ตั้งแต่ปี 2003 ประเทศที่ครองตำแหน่ง 5 อันดับแรกยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง….ฟินแลนด์ ครองแชมป์ 3 ปีซ้อน ติดตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และสวีเดน ส่วนเดนมาร์ก และไต้หวันผลัดกันครองอันดับ 4 และ 5 โดยในปีนี้เดนมาร์กได้ชัยชนะอย่างเฉียดฉิว

หลายคนอาจเข้าใจผิดไปว่า ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของฟินแลนด์เกิดจากความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของฟินแลนด์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของฟินแลนด์ อันที่จริงแล้ว คะแนนความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของฟินแลนด์ ยังคงเป็นรองซึ่งยังคงได้คะแนนสูงสุด ไม่มีใครลบสถิติได้…ฟินแลนด์เสียอีกที่ต้องเพลี่ยงพล้ำต่อไต้หวันบ้างในบางปี อย่างเช่นปีที่แล้ว ไต้หวันก็มีคะแนนนำฟินแลนด์

แต่สิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์ได้รับคะแนนสูงสุดในภาพรวมของ GCI คือความสามารถในการรักษาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐ ซึ่งอันที่จริงดัชนีทั้งสองตัวนี้ ฟินแลนด์ก็ไม่ได้สูงที่สุด เพียงแต่รักษาระดับไว้ที่อันดับ 3 มาโดยตลอด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ผลัดกันขึ้นผลัดกันลงอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มประเทศ Nordic อันได้แก่ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ล้วนเป็นประเทศที่ได้คะแนน GCI 10 อันดับแรกเสมอ และสิ่งที่ทำให้คะแนน GCI ของกลุ่มประเทศ Nordic เหล่านี้สูงตลอดเวลาคือคะแนนด้านประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คะแนน Transparency หรือ “ความโปร่งใส”

อาเซียน 5 ระดับ

ในการจัดระดับคะแนน GCI ของ World Economic Forum ประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้รับการจัดอันดับเพียง 7 ประเทศเท่านั้น อีก 3 ประเทศได้แก่ บรูไน พม่า และลาว ไม่ได้รับการจัดอันดับ โดย World Economic Forum ไม่ได้ให้เหตุผลแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม จากระดับคะแนน GCI ทำให้สามารถแบ่งอาเซียน 10 ประเทศออกเป็น 5 ระดับ คือ (1) ประเทศที่ได้คะแนน GCI สูงมากในระดับ 10 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับที่ 6 รองจากไต้หวัน (2) ประเทศที่ได้คะแนนในระดับสูงได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งได้อันดับที่ 24 (3) ประเทศที่ได้คะแนนในระดับปานกลางได้แก่ประเทศไทย ซึ่งได้อันดับที่ 36 (4) กลุ่มประเทศที่ได้คะแนนปานกลางค่อนข้างน้อย ได้แก่ อินโดนีเซีย ได้อันดับที่ 74 ฟิลิปปินส์ 77 และเวียดนาม 81 และ (5) เป็นประเทศที่ได้รับคะแนนต่ำมาก คือประเทศกัมพูชา ได้อันดับที่ 112

ไทย-มาเลเซีย คู่วิ่งที่นับวันจะทิ้งห่าง

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ไทยมองมาเลเซียเป็นลูกไล่ในขณะที่สิงคโปร์เป็นเหมือนแบบอย่างที่ไทยต้องการเป็น และท้าทายสิงคโปร์ในทุกเกมการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศสู่ความเป็น NICs หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งความพยายามในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในวันนี้สิงคโปร์ทิ้งห่างไทยไปแล้วอย่างไม่เห็นฝุ่น และไทยกลับต้องรั้งหลังมาเลเซียลงเรื่อยๆ

จากการจัดอันดับในปี 2004 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 และตกลงมาเป็นอันดับที่ 36 ในปี 2005 ในขณะที่มาเลเซียเลื่อนจากอันดับที่ 31 มาเป็นอันดับที่ 24 เฉพาะด้านความสามารถทางด้านเทคโนโลยีนั้น มาเลเซียขยับจากอันดับที่ 27 มาอยู่ในอันดับที่ 25 เทียบรัศมีกับ เสปน เบลเยียม และฝรั่งเศส ในขณะที่ประเทศไทยคงที่ในอันดับที่ 43 ทั้งในปี 2004 และ 2005

และจากการสำรวจปัญหาที่นักธุรกิจเห็นว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยคือความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ รองลงมาคือปัญหาคอร์รัปชัน การศึกษาของแรงงาน และนโยบายที่ไม่มีเสถียรภาพ

ส่วนปัญหาสำคัญของมาเลเซียคือเรื่องอัตราภาษีที่ค่อนข้างสูง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนปัญหาด้านเสถียรภาพของรัฐบาล นับว่าแทบไม่มีเลยในมาเลเซีย นอกจากนี้ ปัญหาด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักธุรกิจมองว่าเป็นปัญหาสำคัญมากของไทยที่มาเลเซียเขาพัฒนานำหน้าไปแล้วหลายช่วงตัว

เรื่อง : ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *