ซื้อเพื่ออนาคต
|ซื้อเพื่ออนาคต
การลงทุนในลูกหลานไม่ใช่การใช้เงินซื้อ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการเพียงอย่างเดียว เพราะมีหลายคนที่อยากให้ลูกเรียนดี ก็พยายามพาลูกไปเรียนพิเศษทั้งวัน โดยลืมนึกถึงเรื่องจิตใจของคนเรียน บางคนเครียดจัดเพราะเรียนมากไป เมื่อสุขภาพจิตเสียแล้วสุขภาพกายย่อมเสียตามไปด้วย ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมามีวันหยุดยาวหลายวัน และยังเป็นช่วงที่นักเรียน นักศึกษาปิดเทอมกันอยู่ จึงเป็นช่วงที่มีความสุขของหลายคน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนทำและไม่ทำงาน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครองในเมืองกรุง ที่เคยต้องตื่นเช้าฝ่าการจราจรที่เป็นปัญหา ที่ไม่ว่าใครเข้ามาดูแลก็ยังแก้ไม่ได้ซักที เพื่อพาลูกๆ หลานๆ ไปโรงเรียน ได้มีโอกาสตื่นสายได้อีกหน่อย หรืออีกแง่หนึ่งคือมีเวลาอยู่บ้าน และได้พูดคุย กินข้าวเช้าร่วมกันในบ้าน ไม่ต้องกิน นอนและโตในรถเหมือนช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม
ส่วนนักเรียน นักศึกษา ก็ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามใจชอบ ถ้าเรียนอยู่มหาวิทยาลัยก็มีการร่วมกลุ่มกับเพื่อนๆ ในชมรม ในคณะ ไปทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัด เช่น ไปสร้างสะพาน ไปเป็นครูอาสาสมัครสอนชาวบ้านที่อยู่ห่างไป เป็นต้น ถ้าเป็นเยาวชนตัวเล็ก อาจจะร่วมกลุ่มกับเพื่อนๆ เที่ยวเล่นตามประสาเด็ก หรือผู้ปกครองบางคนก็เอาเจ้าตัวยุ่งนี้ไปเป็นเพื่อนเล่นแก้เหงา หรือทำเรื่องปวดหัวให้กับตายายที่เคยนั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน
แต่เผลอแป๊บเดียวก็ถึงช่วงเปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนต้องเหงื่อตก เพราะเป็นช่วงที่ต้องจ่ายเงินมากว่าช่วงวันจ่ายในเทศกาลตรุษจีนเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน หนังสือ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า แต่ที่จ่ายทั้งหมดก็เพื่ออนาคตของลูกหลานตนเอง
และหากใครได้มีโอกาสได้เดินห้าง หรือร้านค้าที่ขายอุปกรณ์การเรียน อาจจะได้ยินคำว่า ?ซื้อเพื่ออนาคต? ตอนแรกที่ได้ยินก็คิดถึงการลงทุนเพื่ออนาคตของลูกหลาน โดยการซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนใหม่เพื่อเป็นกำลังใจที่จะตั้งใจเรียนต่อไป แต่พอกลับไปฟังอีกทีกลายเป็นว่าผู้ปกครองคนนั้น บอกว่า ?ให้ซื้อเสื้อผ้าขนาดใหญ่กว่าตัวเด็กเล็กน้อย เพราะเด็กอยู่ในช่วงที่กำลังโต เดี๋ยวเสื้อผ้าที่ซื้อนี้จะใส่ได้แค่เทอมเดียวก็ต้องเปลี่ยนใหม่แล้ว?
พอฟังจบ หันมาคิดเปรียบเทียบกับเรื่องการลงทุน จะเห็นว่ามีแนวความคิดคล้ายๆ กัน คือเมื่อมีความคิดจะลงทุนในหุ้น ก็ต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทที่ออกหุ้นมานี้ทำกิจการอะไร มีแนวโน้มการเจริญเติบโตอย่างไร มีรายได้จากอะไร มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างการเปรียบเทียบ การลงทุนในบุตรหลาน กับการลงทุนในหุ้น ดังนี้
การมองศักยภาพการเติบโต
การเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ใหญ่โตกว่าตัวของคนใส่ ซึ่งมีราคาแพงกว่า แถมยังใส่แล้วไม่สบายเหมือนกับใส่ให้พอดีตัว เพราะมองว่าตัวเด็กต้องโตขึ้นและเสื้อผ้าก็จะใส่ได้พอดี ซึ่งเสื้อผ้านี้อาจจะใส่ได้ถึง 2 ปี โดยไม่ต้องซื้อใหม่เลยก็ได้ ก็เปรียบเสมือนลงทุนในหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยตอนแรกซื้อหุ้นแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน แต่ถ้ามองเห็นศักยภาพของบริษัทว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีนี้ อาจจะขายได้ในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อในอีก 2 ปีข้างหน้า
ความเสี่ยง
จากเสื้อผ้าที่ซื้อมาใหญ่กว่าตัวเด็ก ถ้าเด็กไม่โตขึ้นเลย ความเสียหายที่เกิดขึ้นคือ เด็กใส่เสื้อผ้าที่ไม่สบายตัว และอาจจะบ่นจนพ่อแม่ทนไม่ไหว แล้วต้องเสียเงินเพื่อซื้อตัวใหม่ให้แทน เช่นเดียวกับหุ้น หากซื้อมาแล้วบริษัทไม่ได้ขยายตัว หรือมีผลประกอบการเหมือนกับที่คาดการณ์ไว้ก็ต้องยอมขายขาดทุนไป
แต่การลงทุนในหุ้น และลงทุนในลูกหลานนั้นแตกต่างกันในเรื่องผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ โดยการลงทุนในหุ้นนั้น ผู้ลงทุนย่อมต้องการได้รับผลประโยชน์เองทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่หากเป็นการลงทุนให้ลูกหลานได้เรียนสูงนั้น ผู้ลงทุนต้องการให้ผลประโยชน์นั้นตกกับลูกหลาน ไม่ใช่กับตัวเอง แต่หากตนเองย่อมได้รับผลประโยชน์โดยอ้อม คือเมื่อลูกหลานเรียนจบสูงๆ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ย่อมสร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล ช่วยเหลือและดูแลเมื่อถึงวัยเกษียณ
แต่การลงทุนในลูกหลานไม่ใช่การใช้เงินซื้อเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการเพียงอย่างเดียว เพราะมีหลายคนที่อยากให้ลูกเรียนดี ก็พยายามพาลูกเรียนพิเศษทั้งวัน โดยลืมนึกถึงเรื่องจิตใจของคนเรียน บางคนเครียดจัดเพราะเรียนมากไป เมื่อสุขภาพจิตเสียแล้วสุขภาพกายย่อมเสียตามไปด้วย
ตรงจุดนี้มีตัวอย่างที่เด่นชัดจากผลประกาศการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ประกาศไปเมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคม ว่าคนที่สอบได้ที่หนึ่งในสายวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนพิเศษเลย แต่ใช้เวลาว่างในการฝึกจิตใจ และใช้เวลากับครอบครัว จนสื่อบางรายเรียกครอบครัวนี้ว่าครอบครัวธรรมะ
ดังนั้นการลงทุนในลูกหลานไม่ใช่การลงทุนด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว แล้วจะได้ผลตอบแทนที่ดีงามได้ แต่ควรจะเพิ่มเติมเรื่องจิตใจเข้าไปด้วยเพื่ออนาคตของลูกหลาน
(นวพร เรืองสกุล และทีมงาน Knowledge Puls, นิตยสาร kid&family ปีที่ 10 ฉบับที่ 112 กรกฏาคม 2548)