ซื้อของสำหรับเด็กอย่างไรได้ประโยชน์?

ซื้อของสำหรับเด็กอย่างไรได้ประโยชน์?
• คุณภาพชีวิต
เน้นเสริมทักษะ-ปลอดภัยได้มาตรฐาน

ประชาชนควรตระหนักถึงการเลือกซื้อของขวัญและของเล่นสำหรับเด็กไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลไหนๆ สำหรับของเล่นที่จำหน่ายในประเทศไทย จากผลการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อหาปริมาณสารพิษจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท สารหนู แคดเมี่ยม แบเรียม และพลวงในของเล่นประเภทไม้เคลือบสี ตามที่กำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นตั้งแต่ปี 2532

พบว่า สีเคลือบบนของเล่นประเภทไม้ มีโลหะตะกั่วและโครเมี่ยมเกินมาตรฐานร้อยละ 42 และ 32 ของจำนวนตัวอย่างที่วิเคราะห์ตามลำดับ และในปี 2536 ได้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างของเล่นพลาสติกจากโรงเรียนต่างๆ ปรากฏว่า ไม่พบโลหะเกินมาตรฐาน แสดงว่าของเล่นประเภทนี้ได้การพัฒนาคุณภาพดีขึ้นต่างจากปี 2528 ซึ่งพบว่า ของเล่นพลาสติกมีตะกั่วเกินมาตรฐาน ISO/DP ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่น

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ตรวจสอบการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสีเทียน จำนวน 19 ตัวอย่าง พบว่า มีตะกั่วและโครเที่ยมเกินมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเทียน (มอก. 1149 – 2548) จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 27

ปัจจุบันประเทศไทยจะมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่น (มอก. 685 – 2540) ซึ่งกำหนดคุณลักษณะของของเล่น เช่น ขนาดไม่เล็กจนเกินไป วัสดุที่ใช้ต้องเป็นวัสดุใหม่ปราศจากวัตถุหรือสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พื้นผิวสะอาด ขอบไม่มีคมหรือเสี้ยน และชิ้นส่วนต่างๆ มีความทนต่อแรงดึงที่กำหนด การติดไฟและลักษณะทางเคมี ได้แก่ ปริมาณโลหะหนัก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับ ดังนั้นของเล่นในท้องตลาดส่วนใหญ่ จึงมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอฝากความห่วงใยไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครองทั้งหลาย ที่ตั้งใจจะซื้อของเล่นให้ลูกหลาน ควรพิถีพิถันในการเลือกซื้อของเล่นสำหรับเด็ก เช่น เลือกซื้อของเล่นที่ช่วยส่งเสริมทักษะและสติปัญญา ของเล่นที่เหมาะสมกับวัย ไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ควรหลีกเลี่ยงของเล่นที่มีลักษณะเป็นยางนิ่มเหนียว สีสดคล้ายขนมประเภทเยลลี่ เด็กอาจกลืนหรือกินเข้าไปทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ของเล่นที่มีความแหลมคมอาจขูดข่วนดวงตาและร่างกาย ลูกโป่งที่บรรจุก๊าซอาจติดไฟลุกไหม้ได้ เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เรียกว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก” หรือ “Blowing balloon” ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งห้ามขายตามมาตรา 36 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

หากผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ติดต่อสายด่วน สคบ. 1166 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *