จุดแข็งของธุรกิจเล็ก ที่ธุรกิจใหญ่ ‘ทำไม่ได้’

จุดแข็งของธุรกิจเล็ก ที่ธุรกิจใหญ่ “ทำไม่ได้”
ถ้ามองเพียงผิวเผิน หรือ มองเพียงไม่กี่มิติ หลายๆ ท่านก็อาจจะคิดว่า ธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้ทีมงานเพียงไม่กี่คน น่าจะถูกธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่า กลืนกินไปหมด

ใช่ครับ สำหรับธุรกิจที่ไม่มีนวัตกรรม หรือไม่มีความแตกต่าง แค่ซื้อมาขายไปธรรมดาๆ ต้นทุนในการซื้อย่อมสูงกว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ซื้อเป็นจำนวนมากในราคาที่ต่ำกว่า อย่างเช่นร้านโชห่วยทั่วๆ ไปที่ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีนวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมในเรื่องสินค้า-บริการ การตลาด และการขาย ที่ไม่ใช่แค่ซื้อมา-ขายไป ธุรกิจขนาดเล็กกลับมีความได้เปรียบและสามารถเปลี่ยนจุดอ่อนทั่วๆ ไปของธุรกิจขนาดเล็กให้กลายเป็นจุดแข็งที่ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจแบบข้ามชาติไม่อาจเลียนแบบได้ หรือ ทำได้ก็ไม่ดีเท่า!

จริงๆ แล้วธุรกิจขนาดเล็กมีจุดแข็งหลายเรื่อง ที่ธุรกิจขนาดใหญ่อยากทำแต่ทำไม่ได้ ลองดูบางประเด็นเผื่อจะช่วยให้เป็นทั้งกำลังใจและเป็นตัวจุดประกายสำหรับธุรกิจขนาดเล็กทุกๆ ที่ ผมขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์สัก 3 ประเด็นหลัก คือ 1.คน 2.โครงสร้าง 3.ความคิดสร้างสรรค์

1.จุดแข็งในเรื่องของ ทีมงาน หรือ คน

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้คนจำนวนไม่มาก ไม่ใช่จุดอ่อนที่เคยคิดว่าคนน้อยจะไม่เพียงพอในการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจในวันนี้และวันข้างหน้า หมดยุคที่จะทำเองทุกอย่าง เพราะหลายอย่างที่เราไม่จำเป็นต้องจ้างคนจำนวนมาก ก็สามารถใช้บริการ Outsource ที่มีให้บริการแทบทุกอย่าง ทั้งแม่บ้านทำความสะอาด บัญชี ส่งของไปจนถึงขายของ ฯลฯ ซึ่งแนวโน้มธุรกิจขนาดใหญ่พยายาม Outsource ให้มากที่สุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประจำ

ประเด็นสำคัญในเรื่องของ ทีมงาน หรือ คนในธุรกิจขนาดเล็กก็คือ เจ้าของกิจการสามารถสร้าง หล่อหลอม และรักษาความเอาจริงเอาจัง ความทุ่มเทของพนักงานได้อย่างเต็มที่และใกล้ชิด ชนิดที่ธุรกิจขนาดใหญ่ๆ อยากทำแต่ก็ทำไม่ได้

ในธุรกิจขนาดเล็ก แทบทุกคนจะรู้ค่าใช้จ่ายของบริษัท รู้จักเจ้าของ มีความคุ้นเคยที่พัฒนาต่อยอดไปเป็นความผูกพัน มีความรู้สึกเป็นส่วนร่วม อยู่บนเรือลำเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และทำงานด้วยกันโดยไม่ใช่เหตุผลเรื่องเงินหรือผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว! (ตรงนี้ต่างกับธุรกิจขนาดใหญ่ในยุคปัจจุบันอย่างมาก ที่เหตุผลที่อยู่เป็นเรื่องของประโยชน์ และเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า ไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับ หรือประโยชน์ที่ต้องจ่าย ก็ถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายทันที โดยไม่มีสายสัมพันธ์ที่เป็นความผูกพันแบบธุรกิจขนาดเล็ก)

2.จุดแข็งในเรื่อง โครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง

เชื่อหรือไม่ว่า องค์กร ธุรกิจขนาดใหญ่ใฝ่ฝันที่จะลดโครงสร้าง ไปจนถึงปราศจากโครงสร้างแต่ยังไม่สามารถทำได้ด้วยข้อจำกัดของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีจำนวนคนมาก โครงสร้างและขั้นตอนทำให้การทำงานล่าช้า หลายธุรกิจข้ามชาติยังต้องรอการอนุมัติจากสาขาหรือสำนักงานใหญ่ที่ต่างประเทศ

ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กโครงสร้างจะเป็นโครงสร้างตามตำแหน่ง แต่ในทางปฏิบัติบางครั้งเจ้าของและพนักงานแทบจะปฏิบัติหน้าที่เดียวกันในบางช่วงเวลา เพราะแต่ละคนก็จะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจขนาดเล็ก และเนื่องจากเป็นโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง ทำให้การคิด การตัดสินใจ และการปรับตัว การแก้ปัญหาในแต่ละสถานการณ์จะคล่องตัวและรวดเร็ว ประเภท เจอสถานการณ์ เจอปัญหา สามารถคิดและแก้เกมได้ทันที ซึ่งเป็นวิธีการที่ธุรกิจขนาดใหญ่อยากทำ แต่ทำไม่ได้อีกเช่นกัน

3.จุดแข็งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และ นวัตกรรม

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสำคัญๆ ที่เปลี่ยนโลกใบนี้มักจะเกิดจาก คนเพียงไม่กี่คน หรือ คนเพียงคนเดียว มากกว่าจะเกิดจากองค์กรหรือทีมงานจำนวนมาก ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีนวัตกรรม แต่ประเด็นคือธุรกิจขนาดเล็กเอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ที่สำคัญเป็นนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ที่มักจะใช้ต้นทุนน้อย หรือแทบไม่ต้องใช้ต้นทุนเลย ซึ่งต่างกับธุรกิจขนาดใหญ่ๆ ต้องใส่เงินทุน ใส่ทีมงานใส่สารพัดกว่าจะได้นวัตกรรมใหม่ๆ สักชิ้น ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องคิด ต้องดิ้นรน และต้องแสวงหาช่องว่าง ความอยู่รอด ทำให้บ่อยครั้ง เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มาโดยแทบไม่รู้ตัว

จาก 3 ประเด็นที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นจุดแข็งของธุรกิจขนาดเล็กที่ธุรกิจขนาดใหญ่อยากเลียนแบบ อยากทำ แต่ทำไม่ได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า จุดแข็งเหล่านี้ ธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้จุดแข็งที่มีเพื่อต่อยอด สร้างความรุ่งเรืองให้กับธุรกิจของตนเองได้หรือไม่ ?

แต่สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย ก็คือ…ธุรกิจขนาดเล็ก ไม่รู้ว่าตนเองมีจุดแข็งเหล่านี้ หรือใช้จุดแข็งที่มีเป็นจุดอ่อนในการทำธุรกิจ ถ้าคิดแบบนั้นก็ต้องตัวใครตัวมันแล้วนะครับ

เรียบเรียงโดย : ธีรพล แซ่ตั้ง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *