จัดระบบการจดจำ หนทางสู่ ‘เกียรตินิยม’

จัดระบบการจดจำ หนทางสู่ “เกียรตินิยม”
POSTED BY OOPZZZAA MARCH – 4 – 2009 – WEDNESDAY
ไลฟ์ ออน แคมปัส – ออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งจะผ่านการสอบครั้งสุดท้ายไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หากไม่มีอะไรผิดพลาด “ลลิลทิพย์ ชัยมโนนาถ” หรือ “น้ำผึ้ง” จะเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เพราะผลการเรียนเฉลี่ยที่ผ่านมาเธอมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.95 อีกทั้งก่อนหน้านั้นสาวหน้าหวานคนนี้ยังร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเปิดบ้านละครนิเทศฯ หนึ่งในทีมประชาสัมพันธ์งานจุฬาฯวิชาการครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ

จากเหตุที่กล่าวมาเราจึงพูดคุยกับสาวหน้าหวานคนนี้ถึงวิธีการเรียนว่า น้ำผึ้งมีวิธีการเรียนควบคู่กับการทำกิจกรรมอย่างไรจึงสามารถที่จะขึ้นรับพระราชทานปริญญาบัตรระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ

“ผึ้งเพิ่งจะรู้ว่าตัวเองควรเรียนนิเทศศาสตร์เมื่อตอนเรียนอยู่ ม.6 ค่ะ คือเพราะชอบดูโฆษณามันมีอะไรแปลกๆ เห็นแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองอยากทำแบบนี้บ้าง ผึ้งว่าที่จริงควรรู้ล่วงหน้าตั้งแต่เรียนม.3 แล้วว่าอยากจะเรียนอะไร เพื่อในช่วงเรียน ม.ปลายจะได้เตรียมตัวเข้าเรียนในคณะที่ตัวเองสนใจอยากจะเรียนจริงๆ”

น้ำผึ้งยังบอกอีกด้วยว่า ตอนช่วง ม.ปลายเธอเลือกเรียนสายศิลป์–คำนวณ ไว้ก่อน เพราะเธอคิดว่าอย่างน้อยถึงแม้ยังไม่รู้ว่าตัวเองสนใจเรียนคณะอะไรในมหาวิทยาลัยก็ตามก็สามารถที่ใช้สอบเข้าได้ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ บัญชี อักษรศาสตร์ หรือนิเทศก็ได้

“พอสอบเข้านิเทศฯ ได้แล้ว ก็ยังไม่รู้อีกนั่นล่ะว่าจะเรียนภาควิชาอะไรดีถึงจะเหมาะกับตัวเอง ซึ่งในช่วงปีหนึ่งก็เรียนรายวิชาพื้นฐานอยู่แล้ว ก็เรียนๆ ไปก่อน ตอนนั้นรู้แค่ว่าตัวเองน่ะชอบดูโฆษณาแต่จะคิดให้เป็นชิ้นงานได้หรือเปล่านี่ยังไม่รู้เลยนะ เขียนข่าวก็พอได้ พิธีกร ผู้ประกาศก็ได้

พอขึ้นชั้นปีที่สองก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองชอบอะไร เพราะว่าเริ่มมีรายวิชาพื้นฐานของแต่ละภาควิชาแล้ว เริ่มรู้สโคปแล้วว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ก็เห็นว่าตัวเองชอบวิธีคิดงาน ชอบวิธีทำงานของพีอาร์ แนวคิดของพีอาร์มันท้าทายน่ะ มันไม่ใช่โฆษณา คือคนไม่เข้าใจหรอกว่าเรากำลังสื่อสารอะไรออกไป เพื่อให้องค์กรหรือสิ่งที่เราพีอาร์นั้นได้ผลชัดเจนต่อองค์กร และส่งผลให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดี ก็เลยเลือกที่จะเรียนเจาะไปทางนี้ล่ะ”

ปรับตัวเข้ากับวิธีเรียนในมหาวิทยาลัย

เมื่อเราถามถึงชีวิตการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยของเธอ สาวหน้าหวานหัวเราะพร้อมกับบอกว่าในช่วงแรกเธอเป็นเหมือนกับอีกหลายๆ คนที่ไม่ค่อยจะเข้าห้องเรียนนัก เนื่องจากเห็นว่าเป็นรายวิชาพื้นฐานที่สามารถจะเร่งอ่านเมื่ออยู่ในช่วงใกล้สอบได้

“ปีหนึ่งนี่ไม่ค่อยเข้าเรียนหรอก บางวิชานี่แทบจะไม่เข้าเรียนเลย สนุกกับกิจกรรมนอกห้องเรียนเสียมากกว่า แล้วกิจกรรมของคณะนี่เยอะมาก อย่างละครเวทีก็ไปช่วยเขาทำ ส่วนถ้าไม่มีกิจกรรมก็ไปเดินเล่นอยู่นู่นมาบุญครอง สยามฯ

เคยมีนะเดินเที่ยวอยู่ เพื่อนโทร. มา ‘ผึ้งกลับมาด่วนเลย อาจารย์จะสอบย่อย’ เราก็โดดขึ้นสามล้อมาเลยเบบมาถึงใน 10 นาที ปรากฏว่าโดนแกล้ง”

”ที่โดดเรียนเนี่ย ผึ้งโดดเฉพาะวิขาที่ไม่มีเช็กชื่อนะ แต่รู้ตัวเฮ้ยเราโดดเรียนนะ เราต้องรับผิดชอบตัวเองนะ ไม่ใช่ว่าโดดแล้วแบบไม่เรียนไม่อ่านไม่ทำ แม้จะโดดก็ต้องตามเพื่อนละ วันนี้อาจารย์สั่งงานอะไรบ้างหรือเปล่า ต้องคอยตาม ส่วนพวกรายวิชาของคณะ อย่างวิชาถ่ายภาพ พวกอินโทรทูคอมมูนิเคชัน อะไรอย่างนี้จะเข้าเรียน

ไม่เข้าเรียนเราก็ไม่รู้ว่าอาจารย์เน้นตรงไหนเป็นพิเศษ ก็ต้องอ่านแบบทั้งหมด เป็นพันๆ หน้า แล้วยังมีพวกสรุปของรุ่นพี่ๆ เขาเก็บไว้ให้ อาจารย์ก็ไม่ได้ออกข้อสอบตามนั้น นั่นล่ะคือการค้นพบว่า ต้องเข้าเรียนนะ เพราะผลที่ออกมาคะแนนนี่ไม่ดีเลยตอนอยู่ปีหนึ่ง”

เมื่อรู้ตัวว่าไม่ควรโดดเรียน ตั้งแต่ชั้นปีที่สองเรื่อยมาจนถึงชั้นปีที่สี่ น้ำผึ้งบอกว่าเธอจึงเข้าเรียนทุกวิชา เพื่อทำความเข้าใจกับบทเรียนตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน มีข้อสงสัยอะไรหรือไม่เข้าใจเธอจะถามเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันก่อน และหากไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน เธอก็จะถามอาจารย์ผู้สอนจนเข้าใจตั้งแต่อยู่ในห้องจะไม่ปล่อยผ่านเลยไป

“การเข้าเรียนในห้อง จะจับทิศทางได้ว่าอาจารย์เน้นประเด็นอะไรมาก อย่างหนังสือมี 10 หน้า อาจารย์ก็อาจจะไม่พูดทั้งหมด แต่จะเน้นหัวข้ออะไร เราจะจับทางตรงนั้นได้ แล้วก็แลคเชอร์ไปตามที่อาจ่ารย์สอน เมื่อหมดชั่วโมงก็เอาเลกเชอร์มาเปรียบเทียบกับหนังสือดูว่ามีอะไรที่โดดขึ้นมาหรือเปล่า”

จัดระบบการจดจำ

หลังจากเข้าใจบทเรียนแล้ว หลังจากนั้นน้ำผึ้งบอกว่าทำให้การทบทวนอีกครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น โดยเธอยกตัวอย่างว่าเมื่อเข้าใจในทฤษฎีถ่ายภาพแล้ว ทำให้เธอจำได้ เมื่อต้องปฏิบัติการถ่ายภาพก็จะรู้และทำไปด้วยความเคยชิน

“เวลาอ่านหนังสืออีกรอบ เราจะเข้าใจว่าตรงนี้อาจารย์หมายถึงอะไร แล้วก็การอ่านหนังสือของผึ้งจะเป็นแบบอ่านแล้วจัดระบบอีกที พออ่านเข้าใจก็จะจัดระบบเป็น คือเหมือนตัวเองถ้าเป็นอาจารย์จะพูดในสิ่งที่เราอ่านให้คนอื่นเข้าใจ เราจะทำอย่างไรโดยการจัดระบบข้อมูลให้ง่าย เหมือนจัดเป็นแผนผังชาร์ต เหมือนเป็น mind mapping ไป

เหมือนมีหัวข้อหลักก็น่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วเราจำเป็นหัวข้อย่อยต่อไป พอเราเข้าใจหัวข้ออยู่แล้ว เราก็รู้ว่าเราจะอธิบายอย่างไร ถ้าอาจารย์ถามหัวข้อนี้”

น้ำผึ้งบอกอีกด้วยว่า การจัดระบบข้อมูลในการเรียนนั้นมีส่วนช่วยอย่างมากเมื่อถึงเวลาทำข้อสอบไม่ว่าจะเป็นข้อสอบแบบเลือกคำตอบ หรือข้อสอบแบบเขียนอธิบาย

“เวลาเข้าห้องสอบจะมีเวลาจำกัด ถ้าเราเขียนทุกอย่างไปหมดก็ใช่ว่าจะได้คะแนนดี เราต้องดูว่า หัวข้อนี้อาจารย์ต้องการอะไร เราก็ดึงมาจากสิ่งที่เราอ่านแล้วเราจำได้เป็นหัวข้อ เราก็น่าจะตอบหัวข้อนี้ แล้วจากหัวข้อเหล่านี้ที่เราดึงมา เราก็มาจัดระบบอีกทีแล้วเขียนๆ ให้บรรยายให้อาจารย์เข้าใจ เหมือนกันกับถ้าเราอ่านหนังสือมาแล้วจับประเด็นมาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ ไม่ใช่เราเขียนอะไรก็ไม่รู้ แล้วผึ้งชอบติวกับเพื่อนด้วย ผึ้งสามารถอธิบายให้เพื่อนเข้าใจได้เป็นเรื่องๆ ซึ่งนั่นก็เท่ากับเราทบทวนอีกรอบหนึ่งด้วย”

การทบทวนด้วยวิธีการติวกับเพื่อนั้น น้ำผึ้งบอกว่าเหมือนกับการดูโฆษณาที่คุ้นเคย ซึ่งสามารถทำให้เกิดการจดจำมากขึ้น เมื่อจดจำมากขึ้นความแม่นยำก็จะมากขึ้นไปด้วย จนถึงขั้นจดจำเป็นโฟร์ชาร์จ

“ตัวเองเป็นคนอ่านหนังสือช้ามากๆ การ์ตูนเล่มหนึ่งก็อ่าน 2-3 ชม. หนังสือเรียนอ่านแล้วคิด ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจจะรู้สึกไม่อยากผ่านไป แล้วอ่านครั้งแรกจะจำไม่ได้หรอก แต่เริ่มเข้าใจ อ่านรอบสองคือรอบจัดระบบ เริ่มจัดระบบลองเขียนใส่กระดาษคร่าวๆ พออ่านรอบสามก็หยิบกระดาษแผ่นนั้นมาดูพร้อมกับเปิดหนังสือ ถ้าพูดถึงเนื้อหาประมาณนี้ก็เนื้อหาน่าจะอยู่ตรงนี้ แล้วผึ้งจะจำเป็นภาพ

แม้แต่ตัวหนังสือก็จำเป็นภาพ บางทีจำเป็นหน้าเลยว่าอยู่ประมาณย่อหน้านี้ล่ะ ในหนังสือเขียนว่ายังไง จะเห็นเป็นภาพเลยจะจำได้ว่าอยู่ย่อหน้าไหน มันช่วยให้จำเวลาจำเหตุการณ์ได้ด้วยจริงๆ นะ”

ทำข้อสอบอย่างมีเหตุมีผล

กรณีข้อสอบประยุกต์ สาวหน้าหวานบอกก็เขียนอธิบายตามปกติ เพียงแต่จะเขียนตอบแบบประยุกต์โดยอยู่บนพื้นฐานที่มีทฤษฎีอ้างอิง ไม่ใช่ว่าเป็นความคิดเห็นลอยๆ ซึ่งหากเป็นความคิดเห็น เธอสามารถที่จะดึงความรู้มาอธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมเธอจึงมีความคิดเห็นแบบนั้น

“การเขียนคำตอบแบบมีเหตุมีผล มันทำให้ความคิดเห็นของเราหนักแน่นมากขึ้น ทำใมห้การตอบของเราดีขึ้น แม้เราจะตอบแตกต่างจากเพื่อน แต่อาจารย์อ่านแล้วมันก็มีเหตุและผลที่เราคิด เรามีทฤษฎีอ้างอิงได้ หรือถ้าไม่ใช่ทฤษฎีเป็นประสบการณ์มา ก็เอามาประมาเขียนได้ทั้งหมด การจัดระบบข้อมูลจากทฤษฎีสามารถที่จะเอามาใช้ได้ตรงนี้ คือแม้จะเป็นการตอบข้อสอบความคิดเห็นก็ตาม”

…ทั้งหมดนี้คือเทคนิคการเรียนของสาวหน้าหวานคนนี้ ใครอยากเรียนเก่งทำคะแนนได้สูงๆ แบบเธอ ก็ลองนำไปปรับใช้กับตัวเองดูบ้างได้…

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *