จังหวัดสุพรรณบุรี

จังหวัดสุพรรณบุรี

 “เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์

แหล่งปราชญ์ศิลปิน  ภาษาถิ่นชวนฟัง

จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ วัดเขาขึ้นของพระอาจารย์ธรรมโชติผู้สร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านบางระจัน  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง  อุทยานแห่งชาติพุเตย บึงฉวาก และมีขนมขึ้นชื่ออย่างสาลี่สุพรรณ

สุพรรณบุรีเป็นเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดี มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓,๕๐๐-๓,๘๐๐ ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก สืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เดิมจังหวัดสุพรรณบุรีมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ  หรือ พันธุมบุรี”  ต่อมาเมื่อพระเจ้ากาแต (เชื้อสายไทยปนพม่า) เสด็จขึ้นครองราชย์ และย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ได้ทรงสร้างวัดสนามชัยและบูรณะวัดป่าเลไลยก์  ทรงชักชวนข้าราชการออกบวช จำนวน ๒,๐๐๐ คน จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สองพันบุรีครั้นพระเจ้าอู่ทองทรงย้ายเมืองไปอยู่ทางฝั่งใต้ (ทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน) เมืองนี้จึงมีชื่อใหม่ว่า อู่ทองจนกระทั่งลุเข้าสมัยขุนหลวงพะงั่ว จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสุพรรณบุรีในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเมืองต้นกำเนิดวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน อันเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของของชาติไทย เมื่อไปถึงจังหวัดสุพรรณบุรีเราจะได้สัมผัสบรรยากาศของวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น ชื่อตำบล  ชื่อบ้าน ชื่อถนนและชื่อสถานที่สำคัญต่างๆ ในท้องเรื่องยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น บ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์  วัดแค ถนนนางพิม ถนนขุนไกร อำเภออู่ทองและอำเภอศรีประจันต์ 

            สุพรรณบุรี  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๕,๓๕๘ ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๐ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางปลาม้า อำเภอศรีประจันต์  อำเภอดอนเจดีย์  อำเภอเดิมบางนางบวช  อำเภออู่ทอง อำเภอสามชุก  อำเภอหนองหญ้าไซ อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอด่านช้าง

อาณาเขต

                ทิศเหนือ                 ติดต่อกับจังหวัดชัยนาท  และจังหวัดอุทัยธานี

                ทิศใต้                       ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม

                ทิศตะวันออก          ติดต่อกับจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสิงห์บุรี

                ทิศตะวันตก             ติดต่อกับจังหวัดกาญจนบุรี

การเดินทาง

v    รถยนต์ สามารถใช้เส้นทางในการเดินทางได้หลายเส้นทาง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๑ ชั่วโมง ดังนี้

  1. จากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอบางบัวทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี หรือ จากกรุงเทพฯ ผ่านนนทบุรี อำเภอบางบัวทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๑๐๗ กิโลเมตร
  2. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดปทุมธานี อำเภอลาดหลุมแก้ว ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๑๑๕  กิโลเมตร
  3. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๑๓๒  กิโลเมตร
  4. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเดิมบางนางบวช ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๒๒๘ กิโลเมตร
  5. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดอ่างทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๑๕๐  กิโลเมตร
  6. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครปฐม อำเภอกำแพงแสน ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๑๖๔  กิโลเมตร

v     รถโดยสารประจำทาง  บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศออกจาก สถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร ๒ ไปจังหวัดสุพรรณบุรีทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖  และมีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศออกจาก สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท สุพรรณบุรีทัวร์ โทร. ๐ ๒๘๘๔ ๙๕๒๒ (สุพรรณบุรี) โทร. ๐ ๓๕๕๐ ๐๘๑๗ รถออกจากกรุงเทพฯ เที่ยวแรก ๐๖.๐๐ น. เที่ยวสุดท้าย ๑๙.๐๐ น. ออกจากสุพรรณบุรี เที่ยวแรก ๐๔.๔๐ น. เที่ยวสุดท้าย ๑๘.๐๐ น. หรือ www.transport.co.th

v     รถไฟ  การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปสถานีรถไฟจังหวัดสุพรรณบุรีทุกวัน วันละ ๑ เที่ยว จากกรุงเทพฯ ๑๖.๔๐ น. ถึงสุพรรณบุรี ๑๙.๔๐ น. และ จากสุพรรณบุรี ๐๕.๐๐ น. ถึงกรุงเทพฯ ๐๙.๓๐ น. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๒๐, ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔, ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔ สถานีรถไฟสุพรรณบุรี โทร. ๐ ๓๕๕๑ ๑๙๕๐, ๐ ๓๕๕๒ ๑๗๙๙ หรือ www.railway.co.th/

เทศกาลงานประเพณี

            งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์  จัด ณ บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ มีการแสดงยุทธหัตถีชนช้างเทิดพระเกียรติ การออกร้านจำหน่ายสินค้าของอำเภอและหน่วยราชการต่าง ๆ รวมทั้งการแสดงมหรสพ งานนี้จะจัดในช่วงปลายเดือนมกราคม ระยะเวลาประมาณ ๙ วัน โดยจะกำหนดให้ตรงกับวันที่ ๒๕  มกราคม ของทุกปี

ประเพณีกำฟ้า  เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวไทยพวน จัดประมาณวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓  วันกำฟ้าชาวไทยพวนจะหยุดทำงาน แต่งตัวด้วยชุดแบบดั้งเดิม เตรียมอาหาร ขนมหวาน  คือ ข้าวหลาม  นำไปถวายพระ เมื่อถึงกลางคืนจะมีงานเลี้ยงฉลอง ประเพณีนี้ยังคงมีอยู่ในหมู่บ้านไทยพวน อำเภออู่ทองและตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า

            ประเพณีบุญบั้งไฟ    จัดขึ้นในหมู่ชาวไทยพวน ไทยเวียง ตรงกับวันขึ้น ๑๕  ค่ำ เดือน ๖ เพื่อเป็นการบูชาเทวดาให้ฝนตกตามฤดูกาล มีการจัดเตรียมบั้งไฟแห่แหนไปวัดเพื่อยิงบั้งไฟ ปัจจุบันยังคงหาดูได้ในตำบลต่างๆ เช่น ตำบลบ้านโข่ง บ้านขาม ดอนคาในอำเภออู่ทอง และ ตำบลวัดโบสถ์ ตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า

            งานเทศกาลทิ้งกระจาด   กำหนดจัดงานหลังสารทจีนไป ๓ วัน เริ่มวันที่ ๑๘ เดือน ๗ ของจีน ซึ่งตรงกับเดือน ๙ ของไทย  ราวเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี  สถานที่จัดงานอยู่ในเขตเทศบาล  ตั้งแต่สมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง จนถึงด้านหลังเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี

            ประเพณีตักบาตรเทโว  จัดขึ้นในเดือนตุลาคมหลังจากวันออกพรรษา จะมีการนำอาหาร  ขนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งขนมต้มลูกโยนใส่บาตรถวายแด่พระสงฆ์

            ประเพณีแต่งงานของไทยโซ่ง  พิธีแต่งงานดั้งเดิมของไทยโซ่ง หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายเจ้าสาวแล้ว เจ้าบ่าวจะจัดงานในวันขึ้น ๑ ค่ำ จนถึง ๑๓ ค่ำ ของเดือน ๔ เดือน ๖ และเดือน ๑๒    ยังมีจัดในหมู่ชาวไทยพวนที่ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง  ตำบลบ้านดอน ตำบลดอนมะเกลือ ตำบลหนองแดง อำเภออู่ทอง

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก

จังหวัดสุพรรณบุรีมีหัตถกรรมพื้นบ้าน สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกที่เป็นของฝากที่ขึ้นชื่อ เช่น เครื่องจักสาน ประเภทไม้ไผ่และหวายโดยเฉพาะลายดอกพิกุล ลายดอกลั่นทม และหนามทุเรียนสุพรรณเป็นลายที่มีความสวยงามและประณีต มีที่อำเภอสองพี่น้อง อำเภออู่ทอง อำเภอเดิมบางนางบวช  เครื่องทองเหลือง  มีที่อำเภอดอนเจดีย์  เครื่องเบญจรงค์  มีที่อำเภอเมือง ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาและการทอผ้า  มีที่อำเภอเมือง อำเภออู่ทอง อำเภอสองพี่น้อง

นอกจากนี้ยังมีอาหาร ขนม ของฝาก ได้แก่ ขนมสาลี่สุพรรณเนื้อเบานุ่ม รสชาติกลมกล่อม และขนมไทยอื่น ๆ แห้วกระป๋อง หน่อไม้กระป๋อง เห็ดโคน  เป็ดย่างน้ำผึ้ง ปลาม้า ไก่อบฟาง ปลาแดดเดียว เนื้อแดดเดียว มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *