จะทำให้บริษัทหันมาใส่ใจกับเรื่องโลจิสติกส์ได้อย่างไร

จะทำให้บริษัทหันมาใส่ใจกับเรื่องโลจิสติกส์ได้อย่างไร

 

โดย ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 
     ที่จริงแล้ว หลายๆ บริษัทเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในบริษัทหรือธุรกิจของตนเอง และเริ่มเห็นความจำเป็นในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของฟังก์ชันโลจิสติกส์ของบริษัทมากขึ้นจนทำให้บางบริษัทจากเดิมที่ไม่มีแผนก หรือสายงานด้านโลจิสติกส์ และไม่มีผู้บริหารดูแลรับผิดชอบ วางแผนและกำหนดทิศทาง พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้า ก็เริ่มปรับเปลี่ยนองค์กรและสรรหาผู้บริหารมาบริหารจัดการงานในส่วนนี้โดยเฉพาะ
     แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายไม่น้อย ยังมีบริษัท หรือภาคธุรกิจจำนวนมาก ที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญ และความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของตนเพื่อการแข่งขัน หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง หลายๆ บริษัทยังไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยน แปลงทางด้านการดำเนินธุรกิจ หรือการขับเคลื่อนทางธุรกิจสมัยใหม่ ที่จำเป็นต้องอาศัยขีดความสามารถด้านโลจิส ติกส์ เป็น “กลไกขับเคลื่อนความได้เปรียบ” หรือเป็น “อาวุธที่ใช้ต่อกรกับคู่แข่งทางธุรกิจ”
     บริษัทจำนวนไม่น้อย ยังไม่เข้าใจว่า “ทำไม หรือสาเหตุใด บริษัทจึงต้องหันมาให้น้ำหนักกับเรื่องโลจิสติกส์มากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่บริษัทน่าจะให้ความสำคัญมากกว่า และทุ่มเทสรรพกำลังไปดูแลและพัฒนา เช่น เรื่องนวัตกรรม ตราสินค้า และแผนการตลาด หรือการเร่งปรับปรุงการผลิตและเพิ่มมูลค่าเพิ่มในตัวผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่เรื่องการเสริมสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในบริษัท ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าใจได้ง่ายถึงเหตุและผล หรือมองออกว่า บริษัทจะได้อะไร และทำไมบริษัทถึงควรให้น้ำหนักในเรื่องเหล่านี้”
     พูดง่ายๆ ว่าเรื่องเหล่านี้บริษัทเข้าใจและมองออกถึงปัจจัยต่างๆ ที่สามารถ “บวกลบคูณหาร” ได้ ไม่เหมือนโลจิสติกส์ ที่ไม่เพียงแต่ยังไม่เข้าใจถึงที่มาที่ไป ว่าทำไมบริษัทถึงต้องสนใจ และไม่แน่ใจว่า โลจิสติกส์จะช่วยเหลือบริษัทในการทำธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด
     อันที่จริงแล้วมีวิธีการหลากหลายอย่างที่จะทำให้บริษัทหันมาตระหนักและเร่งใช้ระบบโลจิสติกส์เพื่อการแข่งขัน ซึ่งแต่ละวิธีการก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารบริษัทเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้บริหารได้ฟัง หรือได้ยินในงานสัมมนาฝึกอบรม หรือได้มีโอกาสศึกษาจากหนังสือตำราบริหารทางธุรกิจ หรือ ได้มีโอกาสพูดคุยศึกษาดูงานจากบริษัทอื่นๆ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ล้วนมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้บริษัทหนึ่งๆ หันมาให้ความสนใจในเรื่องโลจิสติกส์อย่างจริงจัง
     อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบริษัทอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้จะได้ผ่านประสบการณ์ ได้รับรู้เรื่องราวความสำคัญและความสำเร็จในเรื่องโลจิสติกส์ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็ยัง “มองข้ามโลจิสติกส์อยู่เช่นเดิม” ยังคงคิดว่าเรื่องอื่นๆ สำคัญกว่า บริษัทไม่น่าจะเสียเวลากับเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่บริษัทเหล่านี้คิด ก็มีทั้งถูกและผิด และที่สามารถเข้าใจได้และยังคงสับสนกับเรื่องโลจิสติกส์ปะปนกัน
     โดยบริษัทที่มองข้ามเรื่องโลจิสติกส์นี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ
      กลุ่มแรก เป็น กลุ่มที่ยึดติดกับการบริหารจัดการแบบเดิมๆ ที่ตนเองมีประสบการณ์มา ซึ่งเน้นเฉพาะในเรื่องการขายและการผลิตเป็นหลัก โดยยังคงมองว่า การขายของมากๆ กับการผลิตของให้ถูกเข้าไว้ถือว่าเป็น 2 สิ่งที่บริษัทควรให้ความสำคัญ ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นค่อนข้างจะไม่ได้อยู่ในหัวคิดของพวกเค้า ดังนั้นจึงไม่แปลก ถ้าเรื่องโลจิสติกส์จะถูกมองข้ามไป กลุ่มนี้โดยส่วนมากแล้วจะมองโลจิสติกส์แค่เพียงการขนส่งและต้องการรู้เรื่องโลจิสติกส์แค่เพียงการสนับสนุนการขายและการผลิตเท่านั้น และเมื่อเห็นว่าการจัดการโลจิสติกส์ มีบางส่วนจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการขายและการผลิต ก็จะเริ่มไม่ตอบรับกับเรื่องโลจิสติกส์ในทันใด หรือไม่ก็มองข้ามเรื่องโลจิสติกส์ไป
     กลุ่มที่ 2 เป็น กลุ่มที่มองว่าเรื่องโลจิสติกส์นั้นไกลตัว หรือไม่ก็มองว่าไม่เหมาะกับบริษัทของตน โดยมองว่าโลจิสติกส์แก้ยากและต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ๆ เท่านั้นถึงจะมีความสามารถดำเนินการได้ เข้าใจผิดๆ ว่าเทคนิคการบริหารต่างๆ ในเรื่องโลจิสติกส์ที่ได้รับรู้มาต้องใช้ทรัพยากร ทั้งเงินทุน ทั้งคนและเทคโนโลยีมาก บริษัทขนาดเล็กๆ ไม่เหมาะสม สู้ไปดำเนินการในเรื่องอื่นน่าจะเหมาะสมกว่า
     กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่เริ่มสนใจในเรื่องโลจิสติกส์ แต่ยังมักมอง การบริหารจัดการโลจิสติกส์ทั้งหมดไม่ออกยังคงไม่เข้าใจว่าจะจัดการอย่างไรภาพของโลจิสติกส์ยังคงไม่ชัดในสายของของเขา ส่วนมากยังมองไม่ออกว่าจะช่วยบริษัทลดต้นทุนได้อย่างไรหรือจะช่วยบริษัทของตนได้ในทางใดบ้าง ยังคงไม่มั่นใจว่าดำเนินการอย่างไรถึงจะทำให้บริษัทดีขึ้นเหมือนกับว่าบริษัทจะเริ่มให้น้ำหนักกับโลจิสติกส์ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ซึ่งสุดท้ายจึงมองข้ามเรื่องโลจิสติกส์ไปในที่สุด
     และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่มองว่าเรื่องโลจิสติกส์มีผลกับบริษัทน้อยมาก หรือไม่ก็มองว่า เรื่องโลจิส ติกส์ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับธุรกิจของบริษัท โดยกลุ่มนี้ จะประเมินคุณค่าของโลจิสติกส์ค่อนข้างต่ำ มองแค่เพียงว่า โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับเรื่องต้นทุนที่ผูกติดกับกิจกรรมทางธุรกิจเท่านั้น ซึ่งโลจิสติกส์ของบริษัทอาจจะมีสัดส่วนต้นทุนที่น้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมทางธุรกิจในส่วนอื่นๆ ซึ่งถ้าบริษัทมองแค่เพียงเรื่องต้นทุนกับงานโลจิสติกส์ ก็คงไม่ผิดแต่อย่างใดแต่เป็นที่น่าเสียดายมากตรงที่ คุณประโยชน์อื่นๆ ของโลจิสติกส์เพื่อการแข่งขัน ที่ยังจะช่วยบริษัทในด้านอื่นๆ ถูกมองข้ามไป
     จากกลุ่มต่างๆ ที่พอจะแบ่งได้ข้างต้น จะเห็นได้ว่า บริษัทที่มองข้ามในเรื่องการจัดการโลจิสติกส์ มีอยู่ด้วยกันหลากหลายประเภท และมีเหตุผลที่แตกต่างกันไปถึงสี่แบบ ซึ่งแต่ละแบบ ก็มีต้นเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การที่จะทำให้ บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องโลจิสติกส์ หรือทำให้โลจิสติกส์เข้าไปมีอิทธิพลกับบริษัทเหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นได้ยาก ตราบใดที่บริษัท “ยังตั้งกำแพงทางความคิดเช่นนี้อยู่” หรือการโน้มน้าวในเรื่องโลจิสติกส์ “ยังไม่สามารถผ่านกำแพงทางความคิดของบริษัทเหล่านี้ไปได้”
      จากที่ผมได้นำเสนอไปเกี่ยวกับความสำคัญของโลจิสติกส์ที่มีความจำเป็นต่อการบริหารงานในบริษัทว่า “ทำไม หรือสาเหตุใด บริษัทจึงต้องหันมาให้น้ำหนักกับเรื่องโลจิสติกส์ มากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่บริษัทน่าจะให้ความสำคัญมากกว่า และทุ่มเทสรรพกำลังไปดูแลและพัฒนา เช่น เรื่องนวัตกรรมตราสินค้า และแผนการตลาด หรือการเร่งปรับปรุงการผลิตและเพิ่มมูลค่าเพิ่มในตัวผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่เรื่องการเสริมสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในบริษัท ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าใจได้ง่ายถึงเหตุและผล หรือมองออกว่าบริษัทจะได้อะไร และทำไมบริษัทถึงควรให้น้ำหนักในเรื่องเหล่านี้”
     แต่ก็มีบางบริษัทที่ยังคงสับสนกับเรื่องโลจิสติกส์ปะปนกัน โดยบริษัทที่มองข้ามเรื่องโลจิสติกส์นี้ก็มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ยึดติดกับการบริหารจัดการแบบเดิมๆ, กลุ่มที่มองว่าเรื่องโลจิสติกส์นั้นไกลตัว, กลุ่มที่เริ่มสนใจในเรื่องโลจิสติกส์ แต่ยังมักมองการบริหารจัดการโลจิสติกส์ทั้งหมดไม่ออก, กลุ่มที่มองว่าเรื่องโลจิสติกส์ มีผลกับบริษัทน้อยมาก ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มบริษัทที่คิดลักษณะนี้จะต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในบริษัท หรือ ธุรกิจของตนเองให้มากขึ้น มาฉบับนี้ผมขอสรุปทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องโลจิสติกส์ว่ามีความจำเป็นและสำคัญต่อบริษัทได้อย่างไรเลยนะครับ
     หัวใจสำคัญสำหรับเรื่องโลจิสติกส์ ในชั่วโมงนี้ โดยเฉพาะสำหรับบริษัทจำนวนไม่น้อย คือ การทำให้บริษัท หรือ ผู้บริหารระดับสูง เข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นที่บริษัทจะต้องบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์อย่างจริงจัง ต้องทำให้บริษัทไม่เพียงแต่ตระหนักถึงเรื่องโลจิสติกส์เท่านั้น แต่ต้องให้บริษัทมองว่า การบริหารจัดการแบบเดิมๆ ที่บริษัทเคยทำมานั้น ไม่เพียงพอแล้วสำหรับความอยู่รอดของบริษัท เรื่องการจัดการโลจิสติกส์นั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เป็นเรื่องที่บริษัทดำเนินการอยู่ทุกๆ วัน และมีผลต่อต้นทุน ประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งของบริษัท การจัดการโลจิสติกส์เป็นกิจกรรมทางธุรกิจ ที่มองเห็นได้ จัดการได้ มีอยู่หลายส่วนงาน และแต่ละส่วนงาน มีทั้งที่เชื่อมโยงกันกับธุรกรรมอื่นๆ ซึ่งถ้ามีการจัดการอย่างเป็นระบบ จะสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทได้อย่างรวดเร็ว
     และที่สำคัญ โลจิสติกส์ มีผลต่อบริษัทค่อนข้างมากในการแข่งขัน ณ ปัจจุบัน ซึ่งการจัดการโลจิสติกส์ที่ดีสามารถช่วยได้มากกว่าการลดต้นทุนเท่านั้น สามารถใช้โลจิสติกส์เป็นอาวุธหนึ่ง ในการสร้างความได้เปรียบต่างๆ ในเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า หรือการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงกว่าคู่แข่ง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขายหรือฝ่ายผลิต เกิดความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

ที่มา Transport Journal วันที่ 1-11 ส.ค. 2552

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *