งบ…ฉุกเฉิน

งบ…ฉุกเฉิน

เหตุฉุกเฉินนั้นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว แต่มีความสำคัญแตกต่างกัน บางเหตุการณ์อาจแก้ไขได้ไม่ยากนัก แต่เรื่องฉุกเฉินบางอย่างอาจทำให้ผู้นำครอบครัวต้องปวดหัวกับการหาทางออก เพราะมักเป็นกรณีที่มีเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอด้วยน่ะสิ ดิฉันอยากจะเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวค่ะ เพราะเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น ความวุ่นวายจะเริ่มต้นขึ้นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว ซึ่งเรื่องฉุกเฉินเหล่านี้มีทางออก หากคุณเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า
งบสำรองฉุกเฉิน
การป้องกันความวุ่นวายหรือเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้นทำได้ไม่ยากนัก เพียงแต่คุณควรตั้งงบสำหรับเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ไว้ การออมเงินที่คุณพ่อคุณแม่ทำกันอยู่เป็นประจำนั้นถือเป็นเรื่องดี เพราะเงินออมเหล่านั้นสามารถนำมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ ดิฉันจึงเห็นด้วยที่ทุกครอบครัว ควรมีเงินเก็บไว้ใช้สำหรับยามฉุกเฉินค่ะ
สำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ หาเงินมาได้เท่าไหร่ก็ใช้ปรนเปรอความสุขไปเท่านั้น ดิฉันขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนพฤติกรรมได้แล้ว หากเมื่อใดก็ตามที่เกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้น และจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ดิฉันคิดว่ากว่าคุณจะเห็นค่าของเงินออมก็อาจสายเกินแก้แล้วค่ะ
อยากให้คุณพ่อคุณแม่ถามตัวเองกันได้แล้วว่าทุกวันนี้คุณมีเงินก้อนสำหรับใช้แก้ปัญหาฉุกเฉินหรือไม่ ? ถ้ายังไม่มีก็เริ่มต้นได้แล้วค่ะ จัดสรรเงินจากรายได้อย่างมีวินัย ตั้งงบประมาณไว้เลยว่า ในแต่ละเดือนนั้นจะแบ่งรายได้เข้ากองทุนฉุกเฉินของครอบครัวจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้อุ่นใจในอนาคต
เสริมรายได้ สร้างวินัยการออม
คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจไม่สามารถเก็บเงินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากรายได้ของทั้งสองคนนั้นพอดิบพอดีกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพราะหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว บางคนใช้ไม่ถึงเดือนก็มี ใครก็ตามที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ดิฉันคิดว่าคุณต้องหารายได้เพิ่มแล้วค่ะ
หากคุณเห็นความสำคัญของงบฉุกเฉินก็จะต้องทำงานให้หนักขึ้น เช่น คุณที่ได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการทำงาน คุณจะต้องตั้งเป้าหมายว่าในเดือนถัดไปจะต้องได้มากกว่าเดิม พูดง่ายๆ ก็คือจะต้องขยันกว่าที่มีรายได้ประจำก็ต้องหารายได้พิเศษ เคยเห็นใช่หรือไม่ว่ามีหลายครอบครัวที่ต้องทำงานเสริมในรูปแบบต่างๆ เช่น คุณแม่ขายเครื่องสำอาง ขายอาหาร หรือลงทุนอื่นๆ ที่จะทำให้มีกำไรเข้ามาเก็บไว้ในบัญชีฉุกเฉิน
ไม่ว่าคุณจะมีวิธีหาเงินมาอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้งบฉุกเฉินของคุณมีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็คือ จะต้องสร้างวินัยในการเก็บเงิน เช่น ผู้ที่ต้องฝากธนาคารก็จะต้องฝากเพิ่มขึ้นทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน แล้วลืมไปเลยว่าคุณมีเงินก้อนนั้นอยู่ มิเช่นนั้นเงินอาจไม่เหลือถึงตอนที่เหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่หลายท่านได้นำเงินบางส่วนไปซื้อฉลากออมสิน ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย แล้วยังมีโอกาสถูกรางวัลด้วย และหลายครอบครัวก็มีตู้เซฟสำหรับเก็บเงินสดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือแม้แต่การซื้อทองรูปพรรณหรือทองแท่งไว้ ซึ่งถือว่าเป็นการออมเงินอีกทางหนึ่ง ที่จะเป็นการสร้างหลักประกันของครอบครัวได้
สำหรับใครก็ตามที่ฝากอนาคตไว้กับหวยบนดินหรือใต้ดิน ดิฉันขอเตือนไว้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นอาจจะทำให้คุณเป็นหนี้นอกระบบ! หรือแม้แต่โรงรับจำนำก็ต้องเข้าออกเป็นประจำ
เงินสำคัญของครอบครัว
เมื่อเงินฉุกเฉินนั้นมีความสำคัญต่อทุกครอบครัว ดิฉันขอแนะนำให้คุณเริ่มคิดกันได้แล้วว่า ในครอบครัวคุณนั้นมีสมาชิกกี่คน อย่าลืมว่าเมื่อมีคนเยอะโอกาสที่จะใช้เงินฉุกเฉินก็มีมากตามไปด้วย ดังนั้นผู้นำครอบครัวจะต้องคำนวณว่า เงินเก็บที่มีอยู่เพียงพอสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือไม่ เช่น ถ้าในครอบครัวคุณมีเด็กและคนสูงอายุอาศัยด้วยอยู่ โอกาสที่คนเหล่านี้จะต้องใช้เงินฉุกเฉินนั้นก็มีสูง หากคำนวณแล้วพบว่าบัญชีเงินฉุกเฉินของคุณยังไม่ทำให้ทุกคนในครอบครัวอุ่นใจได้ ก็ต้องหาลงมือสะสมเงินกันได้แล้ว
สิ่งที่ดิฉันอยากจะให้ผู้นำครอบครัวได้ตระหนักอยู่เสมอก็คือ การใช้เงินฉุกเฉินนั้นสามารถเกิดได้ทุกขณะ อย่าลืมว่าเรื่องไม่คาดฝันต่างๆ อาจทำให้เงินฉุกเฉินที่มีอยู่ต้องร่อยหรอลง ดังนั้นคุณจะต้องรอบคอบอยู่เสมอ และดูว่าความเสี่ยงเรื่องการใช้เงินก้อนของครอบครัวนั้นมีมากน้อยแค่ไหน อย่างเช่น ครอบครัวที่ต้องมีหน้าที่เลี้ยงดูคุณตาคุณยายด้วย ก็ต้องดูว่าโอกาสที่จะต้องใช้เงินฉุกเฉินสำหรับเยียวยานั้นมีมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อบำรุงสุขภาพ หรือค่าใช้จ่ายในยามเจ็บป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสวัสดิการจากการประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ดิฉันขอย้ำว่าโอกาสที่ใช้เงินฉุกเฉินนั้นสูงมากค่ะ
ไม่ใช่เฉพาะกรณีฉุกเฉินจากเรื่องความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุเท่านั้น เรื่องฉุกเฉินเล็กๆ น้อยๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ในแต่ละวัน เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนของลูก แม้ว่าในแต่ละปีนั้นคุณได้เตรียมพร้อมว่า ต้องจ่ายค่าเทอมลูกกี่คนและเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ อย่าลืมว่าคุณอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มจากกรณีกิจกรรมต่างๆ อีก เช่น ค่าเรียนพิเศษ ค่าเข้าค่าย ค่าอุปกรณ์การเรียน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นอาจทำให้รูปแบบการใช้เงินในบ้านคุณเปลี่ยนไปได้
มีหลายครอบครัวที่ต้องยอมจ่ายค่าปรับให้กับการผ่อนสินค้าบางประเภท เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปซื้ออุปกรณ์การเรียนใหม่ให้กับลูก โดยเฉพาะผู้ที่มีรายรับและรายจ่ายตายตัว ในแต่ละเดือนคุณรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วต้องจ่ายอะไรบ้าง เมื่อใดก็ตามที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ต้องถามตัวเองว่าเดือดร้อนหรือไม่…แค่ไหน
อย่าลืมนะคะว่า เงินสำรองฉุกเฉินนั้นมีความสำคัญยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สำหรับคุณที่ไม่เคยพบเจอกับเรื่องฉุกเฉินใดๆ เลยก็ถือว่า โชคดีที่สุด เงินที่เก็บไว้ก็ไม่เน่าเสีย สะสมมากเท่าไหร่ก็จะทำให้ครอบครัวคุณมั่นคงเท่านั้น และที่สำคัญเงินฉุกเฉินที่เก็บก็ควรจะนำมาใช้ในยามฉุกเฉินจริงๆ อย่าใช้ผิดประเภทเด็ดขาด เช่น เอาเงินฉุกเฉินมาแต่งรถ ดิฉันคิดว่าเก็บไว้ซ่อมรถจะดีกว่า หรือแม้แต่เอาเงินฉุกเฉินมาจัดงานฉลองวันเกิด เก็บไว้ใช้ยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะดีกว่าหรือไม่
เรื่องฉุกเฉินอาจจะไม่เกิดขึ้นกับคุณในวันนี้…แต่ใครรู้บ้างว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น จริงไหมคะ
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์, นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 10 ฉบับที่ 120 ตุลาคม 2548

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *