คุณภาพเยอรมันมาจากไหน?

คุณภาพเยอรมันมาจากไหน?
ทุนมนุษย์ 2020 : จุมพฏ สายหยุด กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
ในวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ และวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม 2552 ที่จะถึงนี้ สภากาชาดไทย ร่วมกับ คณะภริยาทูตจากประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทยกว่า 50 แห่ง จะได้จัดงานออกร้านคณะภริยาทูตครั้งที่ 42 ประจำปี 2552 หรือ The 42nd Diplomatic Red Cross Bazaar 2009 ณ ศูนย์นิทรรศการและการจัดงานนานาชาติ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน รายได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย
ในงานนี้คณะภริยาทูตได้เตรียมนำสินค้าพื้นเมืองที่น่าสนใจ และมีชื่อเสียงของแต่ละประเทศมาจัดจำหน่าย ให้แก่ประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยา ซึ่งสินค้าพื้นเมืองของแต่ละชนิดย่อมแสดงออกถึงภูมิปัญญา ความสมบูรณ์ทางทรัพยากรและจุดแข็งของแต่ละชาติได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา ชีส เส้นพาสต้า จากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ น้ำหอม และ ไวน์ จากสถานทูตฝรั่งเศส เครื่องสำอาง แฮม ไส้กรอก จากสถานทูตอิตาลี เครื่องแก้ว จากสถานทูตฟินแลนด์ ปลาแซลมอน ขนมม้วน จากสถานทูตชิลี กาแฟ จากสถานทูตบราซิล อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า จากสถานทูตญี่ปุ่น รวมทั้งจากประเทศเยอรมนี
ดร.วรวีร์ ภัทรวงศ์วิสูตร ที่ทุกวันนี้ทำธุรกิจกับประเทศแถบยุโรป และเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีความสนใจเรื่องพฤติกรรมของฝรั่งย่านนั้นเป็นพิเศษ เคยแวะเวียนมาเล่าข้อมูลของคนยุโรปที่ได้เคยไปสัมผัสด้วยตนเอง ให้กับผู้อ่านคอลัมน์นี้ 2 ชาติคือ
สวีเดนที่ให้เทพนิยายสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคิดนอกกรอบ อันเป็นพื้นฐานการสร้างนวัตกรรม และเรื่องราวของประเทศฝรั่งเศส ที่สร้างระบบการศึกษาบนพื้นฐานของ
เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
ในโอกาสนี้จึงขอเล่าเรื่องของคนเยอรมัน ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในเรื่องคุณภาพคน และคุณภาพสินค้า ว่าจะสามารถเป็นแบบอย่างของสังคมไทย พอฟัง ดร.วรวีร์เล่าความจบผมรู้สึกว่ามองคนเยอรมันเปลี่ยนไปมากทีเดียว
จากการเดินทางไปท่องเที่ยวที่เยอรมนีนับสิบหน ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับคนเยอรมันทุกชนชั้น ทำให้ ดร.วรวีร์ เห็นว่า บุคลิกของคนเยอรมันที่ดูว่าเคร่งขรึม จริงจังนั้น มักจะเกิดขึ้นกับพวกเยอรมันตอนเหนือเป็นหลัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของ นครเบอร์ลิน แคว้นฮัมบูร์ก ส่วนพวกแคว้นตะวันตก และตอนใต้ อาทิเช่น แคว้นเฮสเซ่น (เมืองหลักที่คนไทยรู้จักคือ แฟรงก์เฟิร์ต) และแคว้นบาวาเรีย (เมืองหลักคือ มิวนิก) จะดูเป็นกันเองกับคนต่างชาติมากกว่า จึงเป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ
เช่น แฟรงก์เฟิร์ต เป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ส่วนแคว้นบาวาเรีย เป็นต้นกำเนิดของเทศกาล อ็อคโทเบอร์เฟสท์ที่มีการเฉลิมฉลองกันเป็นประจำจนกลายเป็นเทศกาลดื่มเบียร์ประจำชาติที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี ของประเทศเยอรมนี และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เริ่มต้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ต่อเนื่องถึงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม จึงมีคำเตือนว่าไม่ควรจะไปติดต่อธุรกิจกับพวกบาวาเรียนในช่วงนี้ เพราะออฟฟิศส่วนใหญ่จะปิดทำการในช่วง 2 อาทิตย์นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะว่าชาวเยอรมัน เป็นพวกทำงานเคร่งเครียดทั้งปีได้อย่างไร
คนเยอรมันก็เหมือนกับฝรั่งชาติอื่นที่ ยกย่อง “คุณวุฒิ” ของมนุษย์ ยิ่งกว่า “ชาติวุฒิ” หรือ “วัยวุฒิ” นักปราชญ์ที่ชาวเยอรมันยกย่องมากที่สุดคือ โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) คนไทยคุ้นเคยชื่อนี้เพราะถูกนำมากตั้งเป็นชื่อ สถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institute) หรือ สถาบันวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน (German Cultural Institute)
แต่ ดร.วรวีร์ บอกว่า ที่คนเยอรมันยกย่องเกอเธ่จริงๆ ไม่ใช่เพราะความเป็นนักเขียนของท่านเท่านั้น แต่ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาอีกด้วย นั่นก็คือ คนเยอรมันจะยกย่องคนที่มีความรู้ ความสามารถหลายๆ ทางมากกว่า แน่นอนว่าที่เยอรมันจึงต้องมีบ้านเกอเธ่ พิพิธภัณฑ์เกอเธ่ และห้องสมุดเกอเธ่ ให้ไปเยือน
ดร.วรวีร์ ได้เข้าไปสำรวจห้องสมุดเกอเธ่เหล่านี้ แล้วพบว่า นักคิดที่ชาวเยอรมันให้ความนับถือ ยังมีพี่น้องตระกูลกริมม์ (นักประพันธ์เทพนิยายคลาสสิก อาทิเช่น สโนไวท์, ซินเดอเรลลา, ราพันเซล) เอมมานูเอล คานท์,ยอร์จ วิลเฮลม์ เฟดเดอริค เฮเกล, ฟรีดริช นิทเช่
ผมยังอยากให้สังเกตป้ายบอกทางที่ ดร.วรวีร์ ยืนถ่ายภาพ จะเห็นว่า นอกจากภาษา เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส แล้วยังมีภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจว่า นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ให้คุณค่ากับมิวเซียมนักปราชญ์ยุโรป ถึงขั้นต้องทำป้ายภาษาญี่ปุ่นเอาไว้
หลังการรวมชาติในยุคออตโต ฟอน บิสมาร์ค เยอรมันก็กลายเป็นชาติมหาอำนาจที่มีความทะเยอทะยาน ไม่ต่างจากญี่ปุ่น จนนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกทั้ง 2 ครั้งและจบลงด้วยหายนะถึงแม้จะดูเหมือนว่าทรัพยากรมนุษย์ของตน จะเหนือชั้นกว่าคู่สงครามก็ตาม บทเรียนที่ทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นได้รับคือ การเลิกสะสมกำลังทหารและไม่นำตนเองเข้าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ระหว่างชาติมหาอำนาจในสงครามเย็น
ผลก็คือพลังความสามารถของชาติทั้งหมด ถูกใช้ไปเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ กรณีตัวอย่างของเยอรมนี ญี่ปุ่น ก็เหมือนกับ จีน เวียดนาม เกาหลี ที่หากไม่นำประเทศไปขัดแย้งกับใคร หรือแม้กระทั่งกับคนในชาติด้วยกันเอง พลังความสามารถของชนในชาตินั้นก็ย่อมจะถูกใช้ไปในทางสร้างสรรค์ คุณภาพที่แท้จริงก็ย่อมเป็นที่ปรากฏ แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามต่อให้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถเพียงใด แต่มุ่งสร้างความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ และกับคนในชาติด้วยกันเอง ก็นำสู่ความสูญสลายในบั้นปลายทั้งสิ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *