คุณค่าของโลจิสติกส์
คุณค่าของโลจิสติกส์
ณ ชั่วโมงนี้หลายๆ คนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลจิสติกส์มีความสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาวการณ์ที่แต่ละบริษัทหรือธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ราคาต้นทุนสินค้าและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาระสต๊อกที่นับวันจะหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน
หลายๆ คนเริ่มเข้าใจและตระหนักมากขึ้นว่า โลจิสติกส์เป็นอีกกลไกหรือปัจจัยหนึ่งทางธุรกิจ ที่จะนำพาบริษัทไปข้างหน้าได้ ไม่ต่างจากเรื่องของการผลิตสินค้า หรือการทำตลาดโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถ้าบริษัทมีการปรับปรุงและจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น และที่สำคัญสามารถตอบโจทย์ที่เป็นความต้องการด้านโลจิสติกส์ของตลาด ลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ดีขึ้น
บริษัทจำนวนไม่น้อยไม่ลังเลและไม่เสียเวลากับการตอบข้อสงสัยต่างๆ ในเรื่องของโลจิสติกส์ โดยเริ่มค้นหาจุดอ่อนหรือช่องว่างในการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ของบริษัทอย่างจริงจัง บ้างไม่รู้ก็ใช้บริษัทที่ปรึกษาหรือให้ที่ปรึกษามาวิเคราะห์และพัฒนาระบบ บ้างรู้แล้วก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการบริหารจัดการให้ดีขึ้นที่สำคัญบริษัทเหล่านี้ริเริ่มโครงการหรือโปรแกรมปรับปรุงและพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ของธุรกิจด้านต่างๆ อย่างเร่งด่วนและมีการติดตามความก้าวหน้าจากผู้บริหารระดับสูงอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายและเป็นที่น่าเสียโอกาสเป็นอย่างมาก ที่ยังมีบริษัทอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจ และยังมองข้ามเรื่องโลจิสติกส์อยู่ หรือเข้าใจว่าโลจิสติกส์เป็นเรื่องไกลตัวไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนแต่อย่างใด “เป็นแค่เรื่องขนส่ง”บริษัทไม่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญมากนักหรือเป็นเรื่องที่บริษัทสามารถมองข้ามไปได้ หรือแค่จัดจ้างคนอื่นมาขนของหรือขนของให้ถูก ก็เท่านั้น “แค่นี้ก็จบ” ไม่เห็นจะต้องวุ่นวายบริหารจัดการอะไรหรือที่หนักไปกว่านั้นบางบริษัทยังตั้งคำถามย้อนกลับมาว่า “ก็แค่ขนส่ง ทำไม่ต้องมาเรียกว่าโลจิสติกส์ ทำไมไม่เรียกว่า ขนส่ง ไม่เข้าใจจริงๆ…”
ซึ่งกลุ่มบริษัทจำพวก “Laggard” หรือ “กลุ่มหางแถว” ซึ่งเป็นกลุ่มหลังนี้ ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง และน่าเห็นใจมากที่สุด เพราะบริษัทเหล่านี้ “มองแต่ไม่เห็น หรือฟังแต่ไม่ได้ยินเรื่องโลจิสติกส์” ที่สำคัญไม่พยายามศึกษาและทำความเข้าใจให้มากขึ้น ทำให้บริษัทจำพวกนี้ขาดศักยภาพในการแข่งขันทางด้านนี้ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจล้าหลังหรือเป็นปัญหาข้อจำกัดในการทำธุรกิจในที่สุด ความเหลื่อมล้ำในการตระหนักและมองเห็นความสำคัญหรือคุณประโยชน์อันมหาศาลของโลจิสติกส์ของแต่ละบริษัทดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ณ ปัจจุบัน ที่ทำให้บางบริษัทหันมาจับเรื่องโลจิสติกส์และบริหารจัดการกันอย่างจริงจัง
ดังนั้น เพื่อให้บริษัทและภาคธุรกิจที่ยังไม่เข้าใจและยังไม่เห็นถึงคุณค่าต่างๆ ในงานโลจิสติกส์ ได้เห็นตัวตนของโลจิสติกส์ที่แท้จริง และให้ความสำคัญกับโลจิสติกส์มากขึ้นและเริ่มหันมาจับงานบริหารจัดการโลจิสติกส์ของตนเองอย่างจริงจัง โดยไม่มองข้ามหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจนี้ไป และรู้ถึงคุณค่าของโลจิสติกส์ หรือ “Logistics Value” สำคัญๆ ที่จะได้รับจากการบริหารจัดการโลจิสติกส์ดังต่อไปนี้
ประการแรก: โลจิสติกส์ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือการปฏิบัติงานของบริษัท “Operating Cost Reduction” โดยเฉพาะส่วนที่นอกเหนือจากการผลิต หรือต้นทุนวัตถุดิบ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่บริษัทเคยรับรู้หรือควบคุมต้นทุนอยู่เดิม
โดยโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องกับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในส่วนที่บริษัทมักจะมองข้ามไป ซึ่งจะเป็น “ต้นทุนแฝง” ในระบบธุรกิจโดยส่วนมาก อย่างเช่น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย หรือการขนส่งวัตถุดิบ ชิ้นส่วนในการผลิตและสินค้าต่างๆ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งทั้งภายในบริษัทเอง และระหว่างบริษัทกับคู่ค้าหรือคู่ขาย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างบริษัทกับซัพพลายเออร์ หรือกับลูกค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งบริษัทมักจะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายหรือควบคุมดูแลต้นทุนอย่างละเอียดรอบคอบ หรือพยายามมองหาหนทางต่างๆ ในการประหยัด หรือลดต้นทุน
หรือจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระการจัดเก็บดูแล รักษาวัตถุดิบ สินค้าหรือสต๊อกต่างๆ ระหว่างการรอการผลิต หรือจัดจำหน่าย ซึ่งจะต้องเก็บทั้งในคลัง โกดัง สโตร์ หรือศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ในโรงงาน และสถานที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นของบริษัทเอง และ/หรือ ต้องไปไว้ที่สถานประกอบการของลูกค้าในลักษณะ “Consignment” ซึ่งจะต้องเอาสินค้าไปวางให้ลูกค้าก่อนโดยยังไม่มีการชำระค่าใช้จ่ายจากลูกค้าแต่อย่างใด และบริษัทยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดูแลต่างๆ เอง บริษัทโดยส่วนมากมักจะไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายหรือภาระในส่วนนี้ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการจำนวนไม่น้อยที่หมดไปในแต่ละเดือน ทั้งที่เป็นค่าจ้างแรงงาน ค่าสถานที่จัดเก็บ ค่าสาธารณูปโภค หรือค่าความเสียหายต่างๆ จากการเก็บสต๊อก ไม่ว่าจะเป็นสต๊อกหมดอายุ หรือชำรุดเสียหายในที่สุด
ประการที่สอง: โลจิสติกส์ช่วยลดภาระสินทรัพย์หรือเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท “Working Capital” โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระสต๊อก (Inventory Tied Up) ที่มีผลต่อกระแสเงินสดของบริษัท
โดยโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องกับการควบคุม หรือการลดภาระในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนที่เป็นปัญหาของบริษัท ซึ่งมักจะถูกใช้กันอย่างผิดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน และในที่สุดกลับสร้างปัญหาในระยะยาว หรือทำให้บริษัทเกิดปัญหาในเรื่องกระแสเงินสด หรือเงินทุนหมุนเวียนที่จมไปกับสต๊อก (Inventory On-Hand)
หลายๆ บริษัทมองข้ามปัญหาในเรื่องสต๊อกสินค้า และขาดการตระหนักถึงภาระในระยะเริ่มต้นของปัญหา และที่สำคัญขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และให้ความสำคัญน้อย มีเวลาให้กับมันน้อย ไม่ได้มองว่าสต๊อกจะสร้างปัญหาให้กับบริษัท ทำให้สต๊อกสะสมและเพิ่มพูนมากขึ้น ในที่สุดก็สร้างปัญหารุนแรงให้กับบริษัท
โดยบริษัทจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเรื่องโลจิสติกส์ เลือกที่จะถือสต๊อกมาก โดยฝ่ายต่างๆ ภายในบริษัทไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายขายหรือฝ่ายจัดซื้อ ล้วนแล้วแต่มองสต๊อกเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมี มากกว่าจะมองว่าเป็น “การสร้างปัญหาเรื้อรัง หรือหมักหมมปัญหาและสร้างปัญหาในระยะยาวให้กับบริษัท” เช่น ฝ่ายขายเพียงแค่มองเห็นโอกาสที่จะเพิ่มยอดขายได้ ก็จะสั่งให้เพิ่มสต๊อกสินค้า ฝ่ายผลิตและฝ่ายจัดซื้อมองเพียงการประหยัดต้นทุนการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบ ก็จะสั่งให้ผลิตหรือให้ซื้อในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสต๊อกในที่สุด
ในที่สุดแล้วสต๊อกที่ขาดการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิดเหล่านี้จะดูดกระแสเงินสดของบริษัทไปหมด บริษัทมียอดขายหรือรายได้เท่าใดก็กลับกลายเป็นสต๊อกที่คงค้างเพิ่มมากขึ้นในแต่ละเดือน เงินรายได้ที่ควรจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจขยายกิจการ หรือใช้ผ่อนจ่ายคืนธนาคารที่บริษัทไปกู้ยืมมาทำธุรกิจ กลับกลายเป็นสินค้าคงคลังไปหมด ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดเก็บต่างๆ ที่มากขึ้น ยังทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยธนาคารที่สูงขึ้น และที่สำคัญยังนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่บริษัทจะต้องไปกู้ยืมเงินมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทอีกด้วย
ประการที่สาม: โลจิสติกส์ช่วยเพิ่มโอกาสและคุณค่าในตัวสินค้าและบริการของบริษัท (Increasing Product & Service Value) โดยเฉพาะในเรื่องการตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการสร้างความแตกต่างในการให้บริการหรือการทำธุรกิจกับลูกค้า
โดยโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องกับการจัดการช่องทางกระจายสินค้าให้ถึงมือลูกค้า หรือผู้บริโภคได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและประทับใจลูกค้า ซึ่งนอกเหนือไปจากบริษัทต่างๆ ที่มุ่งเพียงแค่ตัวสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมเท่านั้น ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่พอเพียงกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน ที่ลูกค้ามีทางเลือกค่อนข้างมาก และต้องการอะไรที่มากกว่าตัวสินค้า
หลายๆ บริษัทมองข้ามโลจิสติกส์ในส่วนนี้ไป และหมดเวลาไปกับเรื่องของโรงงาน หรือตัวสินค้าเท่านั้น มัวแต่เพิ่มคุณภาพและคุณค่าในตัวสินค้าภายในโรงงาน และเน้นเฉพาะรูปลักษณ์ หรือฟังก์ชันต่างๆ หรือสร้างแบรนด์สรรพคุณต่างๆ ของตัวสินค้า โดยขาดการดูในเรื่องของปัจจัยอื่นๆ ที่ลายล้อมบนความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภค ซึ่งหลายๆ คนคงทราบดีว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคไม่ใช่แค่ต้องการตัวสินค้า แต่ต้องการประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นติดต่อบริษัท จนกระทั่งได้รับสินค้าของบริษัทไปอุปโภคและบริโภค
โดยบริษัทที่ขาดการดูแลในประเด็นโลจิสติกส์นี้ ส่วนมากจะเสียโอกาสและอาจทำให้คุณค่าในตัวสินค้าด้อยลงไป รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้โอกาสในการหารายได้หรือยอดขายไม่เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งก็สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมสินค้าดีๆ มีคุณภาพ ถึงไม่เป็นที่ปรารถนาของลูกค้าหรือผู้บริโภค
ความสะดวก ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่นในการติดต่อสื่อสาร หรือความง่ายในการสั่งซื้อ จัดส่งและบริการลูกค้าต่างๆ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งสิ้น ซึ่งโลจิสติกส์จะช่วยเพิ่มโอกาสและคุณค่าในตัวสินค้าและบริการของบริษัทด้วย
ที่มา Source: ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล
Logisticsdigest Issue : April 2008