‘คิดเชิงวิพากษ์’ ทักษะสำคัญในยุคข้อมูลข่าวสาร
“คิดเชิงวิพากษ์” ทักษะสำคัญในยุคข้อมูลข่าวสาร
วันที่ : 1 มกราคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : แม่และเด็ก
ในโลกยุคที่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไหลบ่ามาปะทะเราได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน อาจเป็นดาบสองคมหากผู้ที่นำเสนอข่าวสารข้อมูลปราศจากความรับผิดชอบ นำเสนอสิ่งที่ไม่เป็นความจริง สิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ทำให้เข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ซึ่งหากเราตั้งรับไม่ทันแล้วย่อมตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย
การเรียนรู้ทักษะที่จะรับมือในการกลั่นกรองข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะปักใจเชื่อ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งฝึกฝนในโลกยุคปัจจุบัน
“การคิดเชิงวิพากษ์” (Critical Thinking) นับเป็นทักษะการคิดพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการเป็นเครื่องมือที่ช่วยประกอบการพิจารณาตัดสินข้อมูลหรือเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามา โดยโต้แย้งและท้าทายสมมติฐานที่นำมากล่าวอ้างว่าอาจมีข้อผิดพลาดและไม่เป็นจริง
ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นี้จำเป็นต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกวางรากฐานในการฝึกฝนทักษะด้านนี้ จึงมี “ความเสี่ยง” ในการติดกับดักของข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เข้ามาปะทะได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็น
…กับดักโฆษณาชวนเชื่อ เช่น จากโฆษณาครีมหน้าขาวทำให้คนเชื่อว่าผู้หญิงที่มีเสน่ห์ชายเห็นแล้วหลงใหลคือผู้หญิงที่มีโทนผิวสีขาว หรือนโยบายชวนเชื่อจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่พูดดีแต่อาจทำไม่ได้จริงหรือทำแล้วอาจมีผลกระทบเชิงลบตามมามากมาย
…กับดักความเชื่องมงาย เช่น จิ้งจกทักห้ามออกจากบ้าน ชาวบ้านรุมขอหวยจากหมูพิการ 6 ขา ตาเดียว หรือรุมเช่าเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะทำให้ตนเองรวยได้ในพริบตา
…กับดักค่านิยมวัตถุนิยม บริโภคนิยม เช่น เทรนด์ของคนรุ่นใหม่คือต้องมีคอนโดมีเนียมริมถนน ติดรถไฟฟ้า ค่านิยมกินดื่มช้อป ค่านิยมในการเลือกเรียนในคณะที่สามารถหาเงินได้มาก ๆ
…กับดักค่านิยมฮอลีวู้ด หรืออิทธิพลจากภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่น การมีเสรีภาพทางเพศเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ ค่านิยมการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาว่าเป็นสิ่งที่ถูก
การสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ซึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งสถาบันการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กฝึกฝนในการคิด การวิพากษ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถาบันครอบครัว การปลูกฝังทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นี้ให้กับลูกตั้งแต่ในวัยเยาว์
อย่างไรก็ตาม ในมุมของการเลี้ยงดู พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมักคิดว่า การสอนให้ลูกวิพากษ์นั้นอาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง เถียงพ่อแม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการคิดเชิงวิพากษ์นั้นไม่ใช่เพื่อการเถียงเพื่อเอาชนะแต่อย่างใด แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องในระบบคิดที่ประกอบไปด้วยการกระตุ้นให้ฉุกคิด จนเกิดเป็นความสงสัย เพื่อนำไปสู่การค้นหาคำตอบและค้นหาความจริงในเรื่องนั้น ๆ ต่างหาก
การคิดเชิงวิพากษ์ เป็น ”ทักษะ” สำคัญที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนให้เกิดความเคยชินจนเป็นนิสัยเกิดเป็นกลไกอัตโนมัติในการคิด กลั่นกรอง ข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ดังนั้นยิ่งเริ่มฝึกฝนเร็วเท่าไรยิ่งเป็นการดีเท่านั้น
พ่อแม่สามารถฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ให้กับลูกได้โดยเริ่มจาก
กระตุกให้คิด พ่อแม่ไม่ควรคิดว่าความคิดเห็นของตนถูกต้องเพียงฝ่ายเดียวแต่ต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของลูกอย่างอดทนในการเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่แสดงความรำคาญหรือดุว่าทำให้ลูกเข็ดขยาดไม่กล้าแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้พ่อแม่ควรฝึกลูกแนวรุกด้วยการกระตุกให้คิดโดยการใช้ “คำถามเชิงโต้แย้ง” อาทิ “จริงหรือ” / “ดีที่สุดแล้วหรือมีดีกว่านี้อีกหรือไม่” / “มีแต่ข้อดีอย่างเดียวหรือมีข้อเสียหรือไม่” / “มีสิ่งดีอะไรที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์นี้ เพื่อกระตุ้นการคิดเชิงวิพากษ์ของลูก ตัวอย่างเช่น
…ลูกคิดว่ามนุษย์เราวิวัฒนาการมาจากลิงจริงหรือไม่ ?
…เพื่อนคนที่ลูกรู้สึกไม่ชอบคนนี้ ลูกคิดว่าลึก ๆ แล้วเขามีส่วนดีอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ ?
…ลูกคิดดีแล้วหรือว่าจะซื้อของเล่นชิ้นนี้ มีอะไรที่ลูกคิดว่าน่าซื้อกว่านี้ จำเป็นกว่านี้หรือไม่ ?
…ลูกคิดว่าคนผิวคล้ำน่ารักน้อยกว่าคนผิวขาวหรือ ความน่ารักของคนเราอยู่ที่สีผิวหรือ ?
โดยเรื่องที่พ่อแม่จะนำมาตั้งเป็นคำถาม สนทนา ถกเถียงกับลูกนั้น ควรเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว สิ่งที่ลูกเรียน เพื่อนที่โรงเรียน หรือเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม อาทิ โฆษณา ภาพยนตร์ แฟชั่นต่าง ๆ ฯลฯ
วัตถุประสงค์หลักในการฝึก คือ เพื่อไม่ให้ลูกด่วนสรุปต่อข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับเข้ามา แต่กระตุกให้คิดและตั้งคำถามกับเรื่องนั้น ๆ ว่ามีคำตอบหรือทางเลือกอื่น ๆ อีกหรือไม่ เช่น หากมนุษย์ไม่วิวัฒนาการมาจากลิงแล้ว มนุษย์วิวัฒนาการมาจากสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอกหรือปลาได้หรือไม่ หรือมีใครเป็นผู้สร้างมนุษย์ขึ้นมา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่กระบวนการต่อไปของการคิดเชิงวิพากษ์นั่นคือ การกระตุ้นให้ค้นหาความจริง
กระตุ้นให้ค้นหาตำตอบที่แท้จริง พ่อแม่ควรเข้าใจวัตถุประสงค์ของการคิดเชิงวิพากษ์ว่าไม่ใช่เพื่อการเถียงเพื่อเอาชนะแต่เพื่อการค้นหาความจริง ค้นหาคำตอบที่ดีที่สุด น่าเชื่อถือมากที่สุด โดยเริ่มจากการสอนลูกให้เรียนรู้จัก
วิธีการค้นคว้าเพื่อหาทางเลือกต่าง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบที่ต้องการ ซึ่งคำตอบอาจมีมากกว่าหนึ่ง รวมทั้งการสำรวจจากมุมมองของคนอื่น ๆ ว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร โดยการค้นหาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น จากการอ่านหนังสืออ้างอิง การค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การสำรวจด้วยตนเอง สอบถามผู้รู้ ฯลฯ คนที่คิดวิพากษ์ได้ดีจำเป็นต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การค้นหาความจริง
วิธีการใช้เหตุผลเพื่อพิจารณาหาคำตอบที่แท้จริง หลังจากได้ทางเลือกของคำตอบที่หลากหลายผ่านการค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ แล้ว ขั้นต่อไปคือการพิจารณาว่าทางเลือกใดควรเป็นคำตอบที่แท้จริง ที่ดูแล้วสมเหตุสมผลมากที่สุด เพื่อเราจะยึดไว้เป็นความจริงในชีวิต โดยหลักการสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ การสอน “วิธีการใช้เหตุผล” ให้กับลูกของเรา ซึ่งนอกจากจะเป็นรากฐานสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์แล้วการใช้เหตุผล ยังเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญในการแสดงการมีวุฒิภาวะหรือการเป็นผู้ใหญ่ (maturity) ด้วยเช่นกัน โดยพ่อแม่ควรฝึกวิธีการใช้เหตุผลให้กับลูกโดยเริ่มจาก
ในเด็กเล็ก ในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถใช้เหตุผลได้ดี โดยมักใช้อารมณ์ความรู้สึก ความพึงพอใจส่วนตัวนำหน้าในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ยังไม่รู้ผิดถูก ชั่วดี สิ่งใดปลอดภัยสิ่งใดอันตราย ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องสอนจากการเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ในการเป็นคนมีเหตุมีผล อาทิ มีเหตุผลในการลงโทษหรือให้รางวัลกับลูก รวมทั้งอาจต้องใช้วิธีการลงโทษหรือลงวินัยเป็นหลักในการสอนลูกถึงหลักการความถูกต้องต่าง ๆ อาทิ หลักความถูกผิด หลักคุณธรรมชี้ให้ลูกเห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเป็นความดี สิ่งใดเป็นความชั่วร้าย เพื่อให้ติดตัวเป็นตระแกรงร่อนความคิดของเด็กในการวิพากษ์สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าหากทำสิ่งนี้ลงไปแล้ว (เหตุ) อะไรจะเกิดขึ้นตามมา (ผล)
ในเด็กโต มีความสามารถในการทำความเข้าใจเหตุและผลได้ดีระดับหนึ่ง พ่อแม่สามารถสอนลูกในเรื่องการเชื่อมโยงการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องได้ โดยเริ่มจาก
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของทางเลือกต่าง ๆ ที่ลูกค้นคว้ามาว่ามาจากแหล่งใด แหล่งข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ มีข้อสมมติฐานเบื้องหลังที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ อาทิ มีผลการวิจัย ตัวเลขทางสถิติยืนยันหรือไม่ ผู้พูดเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเป็นเพียงกระแสสังคมหรือค่านิยมที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา เพื่อกลั่นกรองหาคำตอบที่แท้จริงที่ดีที่สุดจากทางเลือกต่าง ๆ
ชี้แนวทางการเชื่อมโยงเหตุผลเพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริง เพื่อฝึกฝนการใช้หลักเหตุและผลหรือตรรกะในระดับที่สูงขึ้นไป ตัวอย่างเช่น
…การใช้หลักกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ในการหาความเชื่อมโยงและหาคำตอบของสิ่ง ต่าง ๆ เพื่อการค้นหาข้อเท็จจริงที่เราสามารถเชื่อถือได้ ผ่านกระบวนการกำหนดปัญหา การตั้งสมมติฐาน และการทดสอบสมมติฐาน เพื่อหาผลสรุปที่ดีที่สุด
…การใช้หลักกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เหตุและผลอย่างมีระบบระเบียบชัดเจน โดยพ่อแม่สามารถนำโจทย์ปัญหา หรือเกมลับสมองต่าง ๆ มาช่วยฝึกฝนลูกในเรื่องการเชื่อมโยงเหตุและผลดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี
ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เป็นทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่เพื่อเด็กไทยทุกคนจะเติบโตขึ้นมาอย่างรู้เท่าทันและพร้อมที่จะรับมือต่อกระแสค่านิยมความเป็นไปของโลกและสังคม เป็นผู้ที่รักการแสวงหาความจริง ไม่พอใจกับความเคยชินเดิม ๆ แต่พร้อมเสมอที่จะวิพากษ์ทั้งตนเองและสังคมเพื่อให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใหม่ เปิดประตูสู่มิติใหม่ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม