"คิดบวก" เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤต

“คิดบวก” เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤต

สถานการณ์ที่น่าตกใจของโลกตอนนี้ คือ การปลดคนเพื่อความอยู่รอดขององค์กรอย่างเช่นค่ายรถยนต์ไม่เพียงแต่โตโยต้า นิสสันเท่านั้นที่ปลดพนักงาน ค่ายอื่นๆ ก็พร้อมใจกันลดพนักงานเพื่อความอยู่รอดขององค์กรกันเป็นทิวแถว
ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ แม้จะมีการประเมินกันว่า อาการไม่รุนแรงเท่ากับปี 2540 แต่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายจำเป็นต้องตระหนักรู้ว่า วินาทีนี้ชีวิตตอนนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนพยายามค้นหาคำตอบกันอย่างขะมักเขม้นในชั่วโมงนี้จึงหนีโจทย์ใหญ่ที่ว่าทำอย่างไรถึงจะเป็น คนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้าง ?
นักบริหารทรัพยากรมนุษย์นาม “ณรงค์วิทย์ แสนทอง” ชี้ว่า ต้องมองวิกฤตในมุมบวก
เขาเห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของทั้งพนักงานและองค์กร
เรามักจะได้ยินคำว่า “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส” อยู่บ่อยๆ ในสถานการณ์วิกฤตขององค์กรก็เช่นเดียวกัน เราน่าจะใช้วิกฤตนี้สร้างผลงานให้กับตัวเองและถือโอกาสสร้างความประทับใจให้กับผู้บริหาร
เนื่องจากในช่วงวิกฤตมักจะมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แถมจำนวนคนก็เหลือน้อยลง ดังนั้นควรหาโอกาสเข้าไป ช่วยเหลืองานคนอื่น อาสาเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาองค์กร เข้าไปช่วยทำ ในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรง
เพราะคนทำงานบางคนทำงานในตำแหน่งที่ไม่สำคัญอะไรมากนัก แต่คน คนนั้นอาจจะมีความรู้ ความถนัดหรือมี เครือข่ายที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาองค์กรในยามวิกฤตได้
ตัวอย่างเช่น ตอนที่มีการปิดสนามบิน มีบริษัทแห่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศด่วนมาก องค์กรนั้นไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่เคยเจอปัญหานี้มาก่อน แต่โชคดีที่มีช่างซ่อมบำรุงอยู่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในบริษัท เป็นคนพื้นเพอยู่ทางภาคใต้ติดกับชายแดนประเทศมาเลเซีย โดยตำแหน่งหน้าที่แล้วช่างคนนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการส่งสินค้าออกเลย แต่ปรากฏว่าช่างคนนี้ขออาสาสมัครที่จะติดต่อเพื่อนและญาติทางภาคใต้ให้ช่วยติดต่อบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ จนทางบริษัทสามารถส่งสินค้าออกไปต่างประเทศผ่านประเทศมาเลเซียได้ตามที่ลูกค้าต้องการได้
เหตุการณ์นี้ทำให้ช่างซ่อมบำรุงคนนี้มีชื่ออยู่ในใจของผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปอีกนาน
“คนเราไม่ค่อยตระหนักถึงการออกกำลังกายถ้ายังไม่เจ็บป่วย ไม่รู้รสชาติของความยากจนถ้ายังมีกินอยู่ เช่นเดียวกันกับคนทำงานยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวเองถ้ายังมีงานทำมีเงินเดือนกินอยู่”
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจน่าจะเป็นโอกาส ที่ดีที่เราจะได้ส่องกระจกตัวเอง เพื่อดูว่าเรายังมีความรู้ความสามารถเรื่องใดบ้างที่ต้องพัฒนา หรือถ้าเกิดตกงานจะเอาอะไรไปแข่งกับผู้สมัครคนอื่น
ดังนั้นต้องใช้ช่วงวิกฤตสร้างแรงใจ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อใช้เป็นภูมิคุ้มกันการถูกเลิกจ้างและเพื่อเป็นบันไดก้าวสู่ความก้าวหน้าในอาชีพต่อไป
เรียกว่าต้องขู่ตัวเองเสมอว่า “ถ้าเรา ไม่พัฒนาตัวเอง เราอาจจะถูกเลิกจ้าง ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง เราอาจจะไม่ก้าวหน้าในอาชีพการงาน”
“ต้องใช้วิกฤตในการพัฒนาตนเอง สร้างผลงาน ปรับกระบวนการคิด ทลายกำแพง กระโดดลงไปช่วยพาองค์กรผ่านพ้นวิกฤต อย่าคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ ใช้ศักยภาพของตัวเองให้คุ้ม มองหา อาชีพอื่นสำรองไว้”
ในด้านขององค์กรนั้น ระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สามารถจะตัดเนื้อร้ายทิ้ง เพราะช่วงเวลาปกติจะไปตัดใครออกก็ลำบาก อาจโดนฟ้องร้องได้ แต่ตอนนี้ทุกคนรับรู้เหมือนกันว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไม่ดี
“สถานการณ์เช่นนี้คนที่โชคดีที่สุด คือ คนที่มีบุญเก่า มีผลงานในอดีต”
แต่คนที่ไม่อยู่ในสถานะเช่นนั้น ต้องประเมินสถานการณ์แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เราเรียกว่าวิกฤตนั้นเป็นอย่างไร
หากบริษัทมีการปรับลดเงินเดือน ไม่มีการปรับค่าจ้าง ไม่มีการจ่ายโบนัส แล้วตัวเองเดือดร้อนไหม เดือดร้อนขนาดไหน สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ไหม จะรับมืออย่างไร
แล้วถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดมีสิทธิถูกเลิกจ้างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็วเพราะแนวโน้มธุรกิจไม่ดีจะต้องเริ่มศึกษาตลาดว่ามีอะไรบ้างที่เป็นโอกาสในวิกฤต
“ณรงค์วิทย์” มองว่า ชีวิตปกติบางทีทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตหลายคนสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้
“องค์กรยุคใหม่นำเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความผูกพันของคนในองค์กรลดน้อยลง เหมือนเฟอร์นิเจอร์น็อกดาวน์ที่พอเอานอตออกก็ไม่รู้ว่าวัสดุชิ้นไหนเป็นของโต๊ะตัวไหน ต่างจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับองค์กรในลักษณะของสัญญาใจที่เปรียบเสมือนการนำไม้แผ่นเดียวมาทำโต๊ะ โอกาสที่จะแยกออกเป็นชิ้นๆ ลำบาก”
ต้องยอมรับว่าเทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่เปรียบเสมือนเฟอร์นิเจอร์น็อกดาวน์ องค์กรไหนให้เงินเดือนดีกว่าก็ไป องค์กรไหนให้ผลประโยชน์ที่ดีกว่าก็วิ่งไปหา
ช่วงเวลานี้นายจ้างอาจถือโอกาสเปลี่ยนสัญญาจ้างเป็นสัญญาใจ จัดตั้งแผนกที่ดูแลเรื่องสัญญาใจขึ้นมาในองค์กรเพื่อสร้างความประทับใจให้กับพนักงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน เพราะสัญญาใจจะฝังชิปอยู่ในใจคนตลอด ไม่ต้องมีใครมาบังคับให้ทำ แต่สัญญาใจจะฉีกเมื่อไรก็ได้ จะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้
“วันแรกที่พนักงานใหม่ก้าวเข้ามาในองค์กร ทุกคนต่างรู้สึกตื่นเต้นตกใจเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้อำนวยการหรือ พนักงานระดับปฏิบัติการ องค์กรควรฉกฉวยโอกาสในการสร้างสัญญาใจกับพนักงาน อาจจะเอารถไปรับถึงบ้าน หรือชวนครอบครัวมาดูที่ทำงานใหม่ ผู้บริหารลงมาทักทายทำความรู้จักด้วยตัวเอง เพราะวันแรก ของพนักงานก็เหมือนกับเด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาลอยากกลับบ้านพร้อมพ่อแม่”
“ณรงค์วิทย์” ให้เคล็ดลับในการสร้างสัญญาใจแบบง่ายๆ ไว้ 3 รูปแบบ
หนึ่งคือ ให้โอกาส
“โอกาสบางอย่างกับคนบางคนอาจไม่มีค่าอะไรเลย แต่กับอีกคนหนึ่งมีคุณค่ามหาศาล เป็นความประทับใจไม่รู้ลืม เช่น เปิดห้องให้พนักงานเข้าไปทดลองนั่งเก้าอี้ผู้บริหารในโอกาสพิเศษ หรือให้โอกาสพนักงานที่ไม่เคยเป็นพิธีกรแต่อยากทำหน้าที่นี้ได้ลองขึ้นเวทีบ้าง”
สองคือ ให้อภัย
“คนทุกคนไม่มีใครที่เปอร์เฟ็กต์ ทุกอย่าง การจะทำอะไรเพื่อให้ได้ใจใคร สักคนช่วงเวลาปกตินั้นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่เมื่อไรที่ชีวิตเขาเข้าตาจนต้องไปนอนโรงพยาบาล ไม่มีข้าวกิน เราหยิบยื่นเงินให้เขา 200 บาท 300 บาท คนเหล่านี้จะจดจำไปตลอดชีวิต หรือคนบางคนที่สมัครงานที่ไหนไม่มีใครรับ ถ้าองค์กรรับเข้ามาทำงานเขาจะอยู่นาน”
สามคือ ให้กำลังใจ
“คนบางคนต้องการกำลังใจ ต้องการคนฟัง ยิ่งในช่วงวิกฤตที่มีการเลิกจ้างในหลายองค์กร ถ้าได้รับการชี้แจง ชี้แนวทางที่ดีก็อาจทำให้หลายคนรู้สึกดีขึ้น”
เรื่องของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ในเชิงธุรกิจดูเหมือนจะสำคัญน้อยกว่ากำไร รายได้ หรือเรื่องอื่นๆ แต่เป็นเรื่องที่ยากที่สุด ยากกว่าการขายของ ยากกว่าผลิตของ ดังนั้นทุกองค์กรจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้
วันนี้กลุ่มคนที่ต้นทุนสูงที่สุด คือ คนทำงานระดับกลางที่มีเงินเดือน 10,000-20,000 บาท เพราะส่วนใหญ่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง ต้องผ่อนทั้งรถทั้งบ้าน เลี้ยงดูครอบครัว ถ้าตกงานจะเปรียบเสมือนตกจากบันไดขั้นที่ห้า ซึ่งต่างจากแรงงานในโรงงานที่รับค่าแรงวันละ 200 บาทถ้าวันนี้เขาตกงานรายได้ก็หายไป 200 บาทไม่มีส่วนต่างมาก และคนส่วนใหญ่ก็เตรียมรับสภาพของตัวเองอยู่แล้ว
ที่สำคัญคนระดับล่างมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลมากมาย แต่กลุ่มคนระดับกลางที่มีเงินเดือนหมื่นบาทขึ้นไปยังไม่มีใครยื่นมือไปช่วย ฉะนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อที่จะเป็นคนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้าง
คุณตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับมือมันแล้วหรือยัง ?

ที่มา :www.matichon.co.th

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *