คิดก่อนซื้อของเซลส์
|คิดก่อนซื้อของเซลส์
ต่อไปคุณผู้เยือกเย็น มีสติตั้งรับกับการจัดสรรรายจ่ายมาดีตลอดปีแต่พอถึงสิ้นปีอาจต้องการความช่วยเหลือโดยด่วนก็ได้ค่ะ เพราะเทศกาลลดกระหน่ำต้อนรับปีใหม่มาถึงแล้วน่ะสิคะปีใหม่ทีไรคุณต้องซื้อของขวัญสวัสดีปีใหม่ให้คนล้านเจ็ดเห็นจะได้ ไหนจะพ่อแม่ ญาติพี่น้อง บรรดาหลานๆ ที่คอยของขวัญตาแป๋วทุกปี รวมทั้งขอบคุณเจ้านาย ผู้มีอุปการคุณ เพื่อนๆ ฯลฯ ช่วงนี้จึงเป็นเทศกาลจ่าย แถมสิ้นปีอย่างนี้มองไปทางไหน มีแต่ของลดราคาถูกสุดๆ ทั่วทุกหัวระแหง ทั้งร้านเล็ก ห้างฯ ใหญ่เลยเกิดอาการมือไม้อ่อนกะทันหัน เผลอใจควักจ่ายจนเงินแทบหมดเกลี้ยงกระเป๋า เลยต้องหาวิธีเตรียมรับมือกับบรรดาของลดราคามาฝาก ก่อนออกไปช็อปกระจุยจนเงินกระจายค่ะ
1. ตั้งเป้าหมายกันหน่อยว่า จะซื้อของขวัญให้ใครบ้าง เขียนรายการเลย นึกไว้ก่อนยิ่งดีว่าจะซื้ออะไรให้ใคร
2. ไม่จำเป็นต้องซื้อของขวัญให้แต่ละคนเฉพาะตัว ขอแนะนำให้ซื้อของแบบยกโหลออกแนวของชำร่วย ไปดูแผนกลดราคาที่แต่ละชิ้นไม่แพงมาก จะคุมงบฯ ได้ดีกว่า หรือให้แบบชิ้นใหญ่ให้ไปแบ่งกันเองอย่างขนมต่างๆ
3. ตั้งงบฯ ในการซื้อ เวลาไปจริงจะได้ซื้อตามงบฯ ข้อดีอีกอย่างก็คือ ช่วยให้ไม่ต้องเผลอซื้อของที่ราคาลดกระหน่ำจริง แต่พอรวมๆ แล้วบานเกินงบฯ ไปเยอะ
4. ช่วงนี้เซลส์นี้พยายามไปหาซื้อของคราวเดียวให้จบ หรือไปให้น้อยครั้งที่สุด ยิ่งไปบ่อยยิ่งเผลอซื้อของลดราคาอย่างอื่นพ่วงมามาก แล้วอย่าลืมบวกค่ารถด้วยล่ะ
5. กระบะเซลส์ถูกสุดๆ ใช่ว่าจะมีของคุ้มค่าเสมอไป เพราะคุณมักจะเผลอจ่ายเงินไปกับของที่ไม่ต้องการ แต่ราคาถูกยั่วใจมากมายหลายชิ้นโดยไม่รู้ตัว
6. ของที่ติดป้ายให้ซื้อหลายๆ ชิ้น อย่างเช่น ราคาปกติติดชิ้นละ 30 บาท ป้ายลดราคาเขียนว่า ซื้อ 2 ชิ้น 50 บาทคุณไม่ได้ซื้อของถูกกลับบ้าน แต่กำลังจ่ายเงินเกินกว่าตั้งใจไป 20 บาทต่างหาก
7. ของที่มักจะถูกจริงๆ คือของที่จำกัดให้ซื้อคนละไม่เกินที่ทางห้างร้านกำหนด
8. ของน่าซื้อคือ พวกลดล้างสต๊อก หรือเสื้อผ้าประเภทหมดฤดูกาล พวกนี้มักจะราคาถูกกว่าปกติ
9. ถึงของลดจะยั่วตายั่วใจขนาดไหน แต่ถ้าไม่ใช่ของใช้ประจำวันที่ซื้อมาแล้วใช้จริงๆ ก็ไม่คุ้ม ถ้าเผลอใจซื้อของลดกระหน่ำ ให้ซื้อพวกของกินของใช้ที่ต้องซื้ออยู่แล้วอย่างนี้คุ้มจริง
10. ดูที่จำนวนเงินที่คุณต้องจ่าย ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ที่ลดราคาลงมา ถึงแม้จะลด 50% แต่ถ้าราคายังแพงอยู่ควรไปมองหาอย่างอื่นดีกว่า เพราะคุณต้องจ่ายเกินที่ตั้งใจไปมากแน่ๆ
11. อย่าลืมว่าป้ายลดราคา แต่ของลดไม่จริงมีอยู่เสมอๆ
12. ทั้งของใช้ เสื้อผ้า อาหาร ลองมองยี่ห้อโนเนมราคาถูกกว่า แพ็กเกจไม่ค่อยอลังการดูบ้าง อาจจะได้ของคุณภาพดีกว่า เพราะจะได้มีค่าโฆษณา หรือค่าแพ็กเกจแพงๆ แล้วนำมาห่อเอง
13. เลิกติดอยู่กับยี่ห้อเดิมๆ ลองยี่ห้อใหม่ดู ช่วงปีใหม่จะมีสินค้าใหม่ๆ มาให้เลือกลอง และจะลดราคาถูกจริงเพื่อเรียกลูกค้า
14. เปลี่ยนรสนิยมการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือพวกกระเช้าของขวัญแพงๆ มาเป็นของกินของใช้จำเป็นให้เป็นของขวัญบ้าง ราคาถูกกว่าได้ประโยชน์กว่าด้วย
15. อย่าซื้อตอนเหนื่อย เพราะนอกจากจะซื้อแบบไม่มีจุดหมายแล้ว ยังลืมเรื่องงบประมาณก่อนออกจากบ้านท่องไว้เลยค่ะว่า คุณจะเข้มแข็งเข้าไว้ ไม่ยอมเข่าอ่อนไปกับป้ายลดราคาเด็ดขาด
(นารา อาทิตยรักษ์, นิตยสาร MODERNMOM ปีที่ 13 ฉบับที่ 146 ธันวาคม 2549)