คำแนะนำสำหรับญาติผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

คำแนะนำสำหรับญาติผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ที่เป็น ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนานก ทำให้บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน “ไม่สู้” ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์
แต่ทั้งนี้ ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง “เจ็บป่วย” อยู่ หากจะเปรียบกับโรคทางกายเช่น โรคปอดบวม อาจจะทำให้พอเห็นภาพชัดขึ้น คนเป็นโรคปอดบวมจะมีการอักเสบของปอด เสมหะเหนียวอุดตันตามหลอดลม ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก มีไข้ สิ่งที่เขาเป็นนั้นเขาไม่ได้แกล้งทำ หากแต่เป็นเพราะมีความผิดปกติอยู่ภายในร่างกาย เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ กับโรคซึมเศร้าก็เป็นเช่นเดียวกัน ความกดดันภายนอกที่รุมเร้าร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจนอกเหนือไปจากความเศร้าโศก ณ ขณะนั้น นอกจากอารมณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังพบมีอาการทางร่างกาย ต่างๆ นาๆ รวมด้วย ความคิดเห็น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ ก็กลับจะยิ่งไปส่งเสริมให้จิตใจเศร้าหมอง กลัดกลุ้มมากขึ้นไปอีก เขาห้ามให้ตัวเองไม่เศร้าไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป
หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็น โรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย
บางครั้งผู้ป่วยดูเงียบขรึม บอกไม่อยากพูดกับใคร ก็อาจต้องตามเขาบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่จะปล่อยเขาไปหมด หากสังเกตว่าช่วงไหนเขาพอมีอารมณ์แจ่มใสขึ้นมาบ้างก็ควรชวนเขาพูดคุยถึงเรื่องที่เขาเคยชอบ เคยสนใจ อาจเริ่มด้วยการคุยเล็กๆ น้อยๆ ไม่สนทนานานๆ เพราะเขายังไม่มีสมาธิพอที่จะติดตามเรื่องยาวๆ ได้นาน และยังเบื่อง่ายอยู่ การที่ญาติมีท่าทีสบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วย และในขณะเดียวก็ไม่กระตุ้นหรือคะยั้นคะยอเกินไปเมื่อสังเกตว่าเขายังไม่พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายลง ไม่เครียดไปตามญาติ หรือรู้สึกว่าตนเองแย่ที่ไม่สามารถทำตามที่ญาติคาดหวังได้
ผู้ที่กำลังซึมเศร้าบางครั้งอาจเกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่เห็นหนทางแก้ปัญหา อาจรู้สึกอยากตายได้ ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้แม้ว่าบางคนจะไม่บอกใคร แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะบอกคนใกล้ชิดเป็นนัยๆ ญาติควรใส่ใจ หากผู้ป่วยพูดจาในทำนองสั่งเสีย ล่ำลา หรือพูดเหมือนกับจะไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยเฉพะถ้าเขาไม่เคยมีท่าทีทำนองนี้มาก่อน ผู้ป่วยบางคนไม่รู้ว่าจะบอกคนอื่นอย่างไรถึงเรื่องอยากตายของตน รู้สึกสองจิตสองใจ ใจหนึ่งอยากตาย ใจหนึ่งเป็นห่วงคนใกล้ตัว จะปรึกษาใครก็กลัวคนว่าคิดเหลวไหล การบอกเป็นนัยๆ นี้แสดงว่าจิตใจเขาตอนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคนเข้าใจอย่างมาก
เรื่องหนึ่งที่มักเข้าใจผิดกันคือ คนมักไม่ค่อยกล้าถามผู้ป่วยถึงเรื่องความคิดอยากตาย เพราะเกรงว่าจะเป็นการไปชี้โพรงให้กระรอก แต่จริงๆ แล้วๆ ไม่เป็นเช่นนั้น ความคิดอยากตายมักเกิดจากการครุ่นคิดของผู้ป่วยจากมุมมองต่อปัญหาที่บิดเบนไปมากกว่า ไม่ได้เป็นเพราะคำถามเรื่องนี้ ในทางตรงกันข้าม การถามกลับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึก ความตึงเครียด คับข้องใจลดลง
หากผู้ป่วยพูดถึงเรื่องอยากตาย อย่าบอกว่า “อย่าคิดมาก” “ให้เลิกคิด” หรือ “อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น” คำพูดทำนองนี้อาจทำให้เขารู้สึกว่าญาติไม่สนใจรับรู้ปัญหา เห็นว่าเขาเหลวไหล ญาติควรให้ความสนใจ เปิดโอกาสให้เขาได้พูดถึงความคับข้องใจ จากประสบการณ์การเป็นแพทย์ของผู้เขียนพบว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ไม่มีโอกาส หรือไม่ได้พูดความคับข้องใจหรือปัญหาของตนเองให้คนใกล้ชิด เพราะมีความรู้สึกว่า “เขาคงไม่สนใจ” “ไม่อยากรบกวนเขา” “ไม่รู้ว่าจะเล่าให้เขาฟังตอนไหน” ในช่วงภาวะวิกฤตินั้นสิ่งที่ผู้ที่ทุกข์ใจต้องการมากคือผู้ที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งรีบไปให้คำแนะนำโดยที่เขายังไม่ได้พูดอะไร การที่เขาได้พูดระบายออกมาเป็นการเปิดโอกาสให้ญาติได้เห็นชัดเจนขึ้นว่าปัญหา หรือสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่าสำคัญคืออะไร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่ญาติเคยคิดมาก่อนก็ได้
เมื่อผู้ป่วยได้พูดระบายความคับข้องใจออกมา จิตใจจะผ่อนคลายลง สภาพจิตใจตอนนี้เริ่มจะเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เขาเกิดความไว้วางใจ ซึ่งก็คือผู้ที่รับฟังปัญหาของเขายามที่เขาทุกข์ใจมากที่สุดนั่นเอง ณ จุดนี้ ญาติจะสามารถชี้ให้ผู้ป่วยได้มองปัญหาจากแง่มุมอื่นๆ ได้เห็นทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ปัญหา หากได้พูดคุยแล้วเห็นว่าผู้ป่วยยังมีความรู้สึกท้อแท้อยู่สูง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากก็อย่าได้ไว้วางใจ ควรพาไปพบแพทย์
ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามากนั้น หากเขายังทำอะไรไม่ได้ก็ควรจะให้พักผ่อนไปจะดีกว่าการไปบังคับให้เขาทำโดยที่ยังไม่พร้อม หากอาการเริ่มดีขึ้น ก็อาจค่อยๆ ให้งานหรือชวนให้เขาร่วมกิจกรรมที่พอทำได้บ้าง เป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยสมาธิมากนัก หากเป็นงานที่มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่จะดีกว่างานที่ผู้ป่วยนั่งอยู่เฉยๆ เพราะการมีกิจกรรมจะทำให้ความคิดฟุ้งซ่าน การอยู่กับตนเองลดลง
ข้อควรทราบ
1. โรคนี้ไม่ได้อาการดีขึ้นทันทีที่กินยา การรักษาต้องใช้เวลาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด จึงไม่ควรคาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป
2. การรักษาด้วยยามีความสำคัญ ควรช่วยดูแลเรื่องการกินยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยยังซึมเศร้ามาก หรืออาจมีความคิดอยากตาย
3. การตัดสินใจในช่วงนี้จะยังไม่ดี ควรให้ผู้ป่วยเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไปก่อนจนกว่าจะเห็นว่าอาการเขาดีขึ้นมากแล้ว
ที่มา : http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *