คาดอีก 10 ปี มีผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันเพิ่มถึง 25 ล้าน

คาดอีก 10 ปี มีผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันเพิ่มถึง 25 ล้าน
• คุณภาพชีวิต
แพทย์แนะลดน้ำปลา ซอส ซีอิ๊ว กะปิ ออกกำลังกาย

สถานการณ์โรคหัวใจจากสถิติคาดว่า คนไทยและชาวต่างประเทศมีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลันจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวน 17-25 ล้านคน โดยเสี่ยงจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

รศ.น.พ.องค์การ เรืองรัตนอัมพร ผอ.ศูนย์หัวใจ พญาไท เพอร์เฟคฮาร์ท 3 เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเกิดขึ้นในช่วงอายุที่ต่ำลง หากเปรียบเทียบกับอดีตผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุวัยหลังเกษียณ แต่ปัจจุบันอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปก็สามารถเป็นโรคนี้ได้

เนื่องจากสภาพแวดล้อม ทั้งเรื่องของอาหารการกิน การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย เป็นสาเหตุสำคัญนอกเหนือจากกรรมพันธุ์ของครอบครัวที่มีประวัติผู้ป่วยโรคหัวใจ จำนวนของผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจในประเทศไทยประมาณ 12% และต่างประเทศ 5% ในภาวะฉุกเฉิน

เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตในไทยสูงกว่า เพราะระบบการบริหารการช่วยเหลือคนไข้ฉุกเฉิน ผู้ป่วยต้องถึงโรงพยาบาลหรือแพทย์ภายใน 30 นาที จึงสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที อัตราการเสียชีวิตระหว่างไทยกับต่างประเทศจึงแตกต่างชัดเจน เมืองไทยมีปัญหาเรื่องระบบการจราจรเป็นตัวแปรสำคัญ

ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจึงจัดเตรียมรถที่มีเครื่องมือสำหรับช่วยชีวิตเตรียมพร้อมช่วยเหลือคนไข้ เมื่อถึงมือแพทย์สามารถปฏิบัติการด้านการแพทย์ต่อเนื่องได้ทันที สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจหรือไม่แสดงอาการ มีวิธีการสังเกตอาการของภาวะหัวใจวายด้วยตัวเอง ได้แก่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิดปกติเวลาออกแรงหายใจ หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหนุนหมอนสูง ตื่นกลางดึกเพราะหอบเหนื่อย ใจสั่น ใจเต้นเร็ว ขาบวม ท้องบวม หากใครมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ตรวจอาการ หรือสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ

น.พ.องค์การ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สาเหตุของหัวใจวายที่พบบ่อย คือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะ หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ไม่ว่าจะเป็นเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หัวใจวายที่มีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ และหัวใจโตและบีบตัวลดลงโดยหาสาเหตุไม่พบ

ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจมีภาวะเสี่ยงหลายประการจึงต้องมีข้อปฏิบัติและหลีกเลี่ยง อาทิ รับประทานยาตามแพทย์สั่งและรับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ ไม่รับประทานยาหรืออาหารเสริมอื่นก่อนปรึกษาแพทย์ ชั่งน้ำหนักทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้น้ำหนักขึ้น อันเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า มีน้ำและเกลือคั่งในร่างกายมากเกินไป

รับประทานเกลือไม่เกินวันละ 2 กรัม ทั้งที่อยู่ในรูปของน้ำปลา ซอส ซีอิ๊ว กะปิ และไม่ปรุงอาหารเพิ่ม โดยทั่วไม่จำกัดปริมาณน้ำดื่ม นอกจากผู้ที่มีอาการมาก ไม่ควรดื่มน้ำเกินวันละ 1.5-2 ลิตร ใช้ชีวิตประจำวันและออกกำลังกายได้เท่าที่ไม่รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียมากเกินไป หรือเข้าโปรแกรมออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจวายที่มีในโรงพยาบาล และรีบพบแพทย์ถ้ามีไข้สูง ถ่ายดำ หรือมีอาการผิดปกติของร่างกายและระบบอื่นๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้ภาวะร่างกายเป็นมากขึ้น

ที่มา:หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *