ความเชื่อเกี่ยวกับอารมณ์ขัน
ความเชื่อเกี่ยวกับอารมณ์ขัน
เชื่อกันว่าอารมณ์ขันขึ้นอยู่กับนิสัยของคนบางคน คนที่เกิดมามีอารมณ์ขันจะพูดอะไร ทำอะไรก็มีอารมณ์ขันแฝงอยู่ด้วยเสมอ ดาวตลกบางคนพอเห็นเราก็หัวเราะแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แสดงอะไรตลก ๆ ให้เราดูเลย
ส่วนคนที่ไม่มีอารมณ์ขัน จะพยายามสร้างอารมณ์ขันขึ้นมานั้นยากมาก เป็นการฝืนความรู้สึกเหลือเกิน แต่เราจะปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งไม่ได้ คือ มนุษย์ทุกคนต่างก็มีอารมณ์ขันด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย ทุกคนจะหัวเราะหรือไม่ก็ยิ้ม เมื่อเห็นใครแกล้งเขียนป้ายข้อความประหลาด ๆ แอบแขวนไว้ที่หูกางเกงด้านหลังของใครสักคน ทุกคนจะหัวเราะเมื่อเห็นใครสักคนเหยียบเปลือกกล้วยหอมลื่นหกล้ม และทุกคนจะชอบใจ เมื่อเห็นใครแกล้งทำให้คนบ้าจี้ตกใจและพูดอะไร ๆ ชอบกล ๆ ออกมา
คนที่ขรึมที่สุดก็จะมีอารมณ์ขัน ถ้าอยู่ระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันจริง ๆ แต่ถ้าอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าเขาจะปิดปากเงียบ ไม่ยอมพูดจาเล่นหัวกับใครเลย
วิธีสร้างอารมณ์ขัน
คนที่ปรารถนาจะเป็นผู้พูดที่ดี ก็มีทางจะทะนุถนอมปลูกฝังอารมณ์ขันของตนเองให้เจริญงอกงามได้โดยไม่ต้องอาศัยพรสวรรค์อะไรเลย ลองลงมือปฏิบัติตามนี้
๑. อ่านหนังสือประเภทขำขันโดยเฉพาะ
๒. สังเกตวิธีการวิพากย์วิจารณ์ของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีอารมณ์ขัน
๓. มองโลกในแง่ดี มองเรื่องร้ายในมุมกลับดูบ้าง
๔. จดจำวิธีการพูดของนักพูดบางคนที่มีอารมณ์ขัน
๕. หัดสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่น พยายามหาตัวอย่างแปลก ๆ ขำ ๆ มาเล่าสู่กันฟัง อย่าเป็นคนเคร่งเครียดจนเกินไป
๖. เมื่อมีโอกาสพูดต่อที่ประชุม หาตัวอย่างเหมาะ ๆ แทรกเข้าไปบ้าง ให้เกิดอารมณ์ขัน ถ้าผู้ฟังไม่ขัน จงสำรวจว่าจังหวะและวิธีการเล่าอาจผิดพลาดตรงไหนบ้าง แล้วพยายามปรับปรุงในโอกาสต่อไป
๗. พยายามสร้างจิตใจให้เป็นกันเองกับผู้ฟังและคนทุกคน
อารมณ์ขัน ๖ ประเภท
ต่อไปนี้เป็นประเภทต่าง ๆ ของการสร้างอารมณ์ขัน ที่ใช้กันทั่วไป ๖ ประเภท คือ
๑. ทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องจริง ผู้ฟังรู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติ หรือนิยายปรัมปรา ผู้พูดนำมาดัดแปลง เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไป กลายเป็นเรื่องสนุกสนานกว่าเดิมเสียอีก ตัวอย่าง เช่น บรรยายเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แล้วยกเอาเรื่อง“ผู้ใหญ่ลี”มาเล่าเป็นตุเป็นตะทั้ง ๆ ที่ผู้ฟังรู้กันอยู่แล้วก็อดหัวเราะไม่ได้
๒. ท่าดีทีเหลว ผู้พูดทำทีเป็นผู้รู้เรื่องราวที่พูดเป็นอย่างดี พูดไปพูดมาก็ชักเลอะ ๆ เลือน ๆแล้วพาลสรุปจบลงข้าง ๆ คู ๆ ผู้ฟังรู้อยู่ตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้อง “ตกม้าตาย” ครั้นเห็นผู้พูด “ตกม้าตาย”จริง ๆ ก็ชอบใจ ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือโอกาสสำคัญ ๆ
๓. ลับลมคมใน ถ้ารู้อยู่ว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่เข้าใจตื้นลึกหนาบางในเรื่องเกี่ยวกับบุคคล หรือสถาบันนั้น ๆ อยู่อย่างดี ผู้พูดอาจใช้คำพูดเปรียบเทียบมีลับลมคมใน ผู้ฟังคิดแล้วอาจฮาได้ จะโกรธกันก็ไม่ได้เพราะไม่ได้ว่าออกมาตรง ๆ เพียงแต่เฉียด ๆ ไปเท่านั้น แต่เรื่องนี้ต้องระวังอย่าถึงกับกล่าวล่วงเกินหรือลามปามมากเกินไป แทนที่ผู้ฟังจะขำ กลับนิ่งเงียบ และอึดอัดแทนก็ได้
๔. ตัวอย่างขำขัน ถ้าสามารถทำได้ ลองพยายามหาตัวอย่างมาอธิบายสนับสนุนเรื่องของตนเป็นตอน ๆ ตัวอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงเสมอไป เรื่องตลกขำขันก็ได้ เมื่อเล่าจบลงก็พยายามขมวดให้เข้าเรื่องที่ดำเนินอยู่ แม้ไม่ตรงทีเดียวก็พอกล้อมแกล้มกลืน ผู้ฟังจะไม่ถือสาอะไร กลับชอบและจำได้แม่นยำเสียอีก
๕. ต้องขบจึงขัน จดจำตัวอย่างการใช้ถ้อยคำ สำนวนที่คม ๆ ต้องขบจึงจะขัน เอามาใช้หรือดัดแปลงให้เป็นของตนเอง มีการหยุดเล็กน้อยให้ผู้ฟังได้คิดและหัวเราะก่อน แล้วค่อยโยงเข้าเรื่อง จะสนุกมาก ตัวอย่างเช่น นักเขียนนามปากกา “ฮิวเมอริสต์” กล่าวว่า “เรื่องการดื่มสุราเดี๋ยวนี้ผมลดลงไปมาก เมื่อก่อนนี้ผมดื่มสองเวลา คือเวลาฝนตกกับฝนไม่ตก เดี๋ยวนี้ผมดื่มเฉพาะเวลาที่ตื่นเท่านั้นเอง…”
๖. ความเชยของตนเอง ไม่มีอะไรที่ผู้ฟังรู้สึกสาสมใจ พอใจ เท่ากับผู้พูดได้เล่าถึงความเปิ่น ความเชย ความห้าแต้ม ที่เกิดขึ้นกับตนเองให้ผู้ฟังได้ฟัง แทนที่จะเสียดสีคนอื่นหรือยกความเสียหายของคนอื่นมาเป็นตัวอย่าง ลองยกเรื่องแย่ ๆ ของตัวเองขึ้นมาเป็นตัวอย่างบ้าง คนฟังจะชอบใจมากทุกครั้ง
ข้อควรระวังในการพูดให้เกิดอารมณ์ขัน
การพูดให้เกิดอารมณ์ขัน ต้องสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม
๑. อย่าบอกผู้ฟังด้วยประโยคทำนองนี้ “ต่อไปนี้เป็นเรื่องขำขัน…” “ผมอยากจะเล่าเรื่องตลกให้ฟัง…” “ผมมีเรื่องสนุก ๆ จะเล่าให้ท่านฟัง…” ฯลฯ การพูดทำนองนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้ทันและหมดสนุก ปล่อยให้ผู้ฟังสนุกเอง ถ้าไม่สนุกก็แล้วไป ถ้าสนุกได้ก็ดี
๒. อย่าตลกเองหัวเราะเอง พยายามอย่าหัวเราะก่อนผู้ฟังเป็นอันขาด ไม่หัวเราะเลย แบบ “ตลกหน้าตาย” ได้ยิ่งวิเศษ
๓. อย่าให้เรื่องตลกกลายเป็นสาระสำคัญของเรื่อง ให้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งขบขันเป็นเพียงเครื่องปรุงอาหาร ไม่ใช่ตัวอาหาร ต้องยกเรื่องขบขันมาประกอบเนื้อเรื่อง มิใช่เรื่องทั้งเรื่องเป็นเรื่องขบขัน
๔. ระวังการล้อเลียนเสียดสี ประชดประชัน บุคคลหรือสถาบันให้ดี อย่าให้มากจนเกินขอบเขต จะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
๕. อย่าพูดเรื่องหยาบโลน หรือตลกสองแง่สองง่าม แม้จะเรียกเสียงฮาได้ แต่ก็เป็นการลดค่าตัวเองให้ต่ำลง
๖. ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งที่คนทั่วไปเคารพสักการะ อย่านำมาล้อเลียน พูดเล่นเป็นอันขาด
๗. อารมณ์ขันที่ดี ต้องสุภาพ นิ่มนวลและแนบเนียน ไม่นอกลู่นอกทาง