ความสำคัญของการพัฒนาไอคิว อีคิวและเอคิว (IQ ,EQ ,AQ)

ความสำคัญของการพัฒนาไอคิว อีคิวและเอคิว (IQ ,EQ ,AQ)

ปัจจุบันพบว่าคนที่มี ไอคิวดีเพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าที่ควร ไอคิวสามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ จึงมีผู้ให้ความสำคัญกับไอคิวมาโดยตลอด เด็กที่เรียนเก่ง จะมีแต่คนชื่นชม พ่อแม่ครูอาจารย์รักใคร่ ต่างจากเด็กที่เรียนปานกลางหรือเด็กที่เรียนแย่มักไม่ค่อยเป็นที่สนใจ หรือถูกดุว่า ทั้ง ๆ ที่เด็กเหล่านี้อาจจะมีความสามารถทางด้านอื่น เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพียงแต่ไม่มีความถนัดเชิงวิชาการเท่านั้นเอง
มาในช่วงหลัง ๆ ความเชื่อมั่นในไอคิวเริ่มสั่นคลอนเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวัด และความสำคัญของไอคิว จนในที่สุดเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมาจึงยอมรับกันว่า แท้จริงแล้ว ในความเป็นจริง ชีวิตต้องการทักษะและความสามารถในด้านอื่น ๆ อีกมากมายที่นอกเหลือไปจากการจำเก่ง การคิดเลขเก่ง หรือการเรียนเก่ง ความสามารถเหล่านี้อาจจะช่วยให้คน ๆ หนึ่งได้เรียน ได้ทำงานในสถานที่ดี ๆ แต่คงไม่สามารถเป็นหลักประกันถึงชีวิตที่มีความสุขได้
ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งในรัฐแมสซาซูเสท สหรัฐอเมริกาที่ศึกษาความสัมพันธ์ของไอคิวกับความสำเร็จในชีวิต โดยติดตามเก็บข้อมูลจากเด็ก ๔๕๐ คน นานถึง ๔๐ ปี พบว่าไอคิวมีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับความสามารถในการทำงานได้ดีหรือกับการดำเนินชีวิต และพบว่าปัจจัยที่สามารถจะทำนายถึงความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตได้ดีกว่า กลับเป็นความสามารถด้านต่าง ๆ ในวัยเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอคิว เช่น ความสามารถในการจัดการกับความผิดหวัง การควบคุมอารมณ์ และการเข้ากับบุคคลอื่น ๆ ได้ดี
ตัวอย่างงานวิจัยอีกเรื่องหนึ่ง คือการติดตามเก็บข้อมูลจากผู้ที่จบปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ ๘๐ คน ตั้งแต่ตอนที่ยังศึกษาอยู่ไปจนถึงบั้นปลายชีวิตในวัย ๗๐ ปี พบว่า ความสามารถทางด้านอารมณ์และสังคมมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพและมีชื่อเสียงมากกว่าความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวถึง ๔ เท่า จึงได้มีความพยายามฝึกเพิ่มเติมในด้าน อีคิว และ เอคิว กันทั่วโลก
ความหมายของ อีคิวได้แก่ความฉลาดทางอารมณ์นั้น นิยาม ตามกรมสุขภาพจิต มีลักษณะดังนี้

๑.ดี เป็นการพัฒนาความพร้อม ทางอารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ดี – การรู้จักอารมณ์ และการควบคุมตนเอง
ดี – การมีน้ำใจ ใส่ใจ และเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น
ดี – การรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด และการยอมรับผิด

๒.เก่ง เป็นการพัฒนาความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ
เก่ง – แรงจูงใจ
เก่ง – การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวต่อปัญหา
เก่ง – การกล้าพูดกล้าบอกและกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม

๓.สุข เป็นการพัฒนาความพร้อมทางอารมณ์ของบุคคลที่ทำให้เกิดความสุข
สุข – ความพอใจ
สุข – ความอบอุ่นใจ
สุข – ความสนุกสนานร่าเริง

เอคิว( AQ. )คืออะไร ?

มีคำกล่าวว่าอย่าเพิ่งวัดความสูงของภูเขาจนกว่าคุณจะได้ไปถึงยอดเขาและเมื่อนั้นคุณถึงจะรู้ว่าคุณยังอยู่ในระดับต่ำอยู่อีกมากเพียงใด
Dag Hammarskjold
A.Q. หรือ adversity quotient เป็นศักยภาพที่บุคคลสามารถเผชิญกับปัญหา และพยายามหาหนทางแก้ไขอย่างไม่หยุดหย่อนด้วยพลังจิตใจที่จะพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
สตอลต์(Paul G.Stoltz, Ph.D.)เป็นผู้เสนอแนวความคิดและแนวทางพัฒนาสามารถเผชิญกับปัญหา และพยายามหาหนทางแก้ไขอย่างไม่หยุดศักยภาพด้านเอคิว( A.Q.)ขึ้น เขาได้แบ่งลักษณะของบุคคลเมื่อเผชิญปัญหาโดยเทียบเคียงกับนักไต่เขาไว้ ๓ แบบคือ
๑.ผู้ยอมหยุดเดินทางเมื่อเผชิญปัญหา ( Quitters ) มีลักษณะ
• ปฏิเสธความท้าทายอย่างสิ้นเชิง
• ไม่คำนึงถึงศักยภาพที่ตนมีอยู่ที่จะจัดการกับปัญหาได้
• พยายามหลบหลีกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทุกวิถีทาง
• ไม่มีความทะเยอทะยาน ขาดแรงจูงใจ
• เป็นตัวถ่วงในองค์กร
๒.ผู้หยุดพักพิงเมื่อได้ที่เหมาะ ( Campers ) มีลักษณะ
• วิ่งไปข้างหน้าบ้างและแล้วก็หยุดลง
• หาพื้นที่ราบซึ่งจะได้พบกับปัญหาอุปสรรคเพียงเล็กน้อย
• ถอยห่างจากการเรียนรู้ สิ่งน่าตื่นเต้น การเติบโต และความสำเร็จที่สูงขึ้นไป
• ทำในระดับเพียงพอที่จะไม่เป็นที่สังเกตได้ ได้แก่พยายามไม่ทำให้โดดเด่นเกินหน้าใคร
๓.ผู้ที่รุกไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ( climbers ) มีลักษณะ
• อุทิศตนเองเพื่อมุ่งไปสู่จุดที่ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
• ไม่เคยรู้สึกพอใจ ณ จุดปัจจุบันเสียทีเดียว
• สร้างสิ่งใหม่ๆให้ตนเองและองค์กรของตนอย่างต่อเนื่อง
• สร้างแรงจูงใจให้ตนเอง และสร้างวินัยแก่ตนเอง
• สนุกกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ

สตอลต์ (Stoltz ) เปรียบชีวิตเหมือนการไต่ขึ้นภูเขา ผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้นจะอุทิศตนก้าวต่อไปข้างหน้าไต่ขึ้นไปยังจุดสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน บางครั้งช้าบ้างเร็วบ้าง เจ็บปวดบ้างก็ยอม
ความสำเร็จนั้นหรือก็เป็นเพียงจุดๆหนึ่งของชีวิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จากนั้นก็ก้าวต่อไปตลอดชีวิต แม้ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด พบว่า ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ทำประโยชน์ให้สังคมโลกอย่างไม่หยุดหย่อนแม้กระทั่งภายหลังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐแล้วก็ตาม และพบว่าผลงานที่มีต่อสังคมโลกของท่านในช่วงหลังจากลงจากตำแหน่งแล้วยังจะมีมากกว่าเมื่อตอนรับตำแหน่งอยู่เสียอีกเนื่องจากท่านไม่เคยหยุดอยู่กับที่เลย
แม้ว่าแนวคิดด้านเอคิว( AQ. )จะได้รับการพัฒนามาหลังจากไอคิว( IQ. )และเอคิว( EQ. )แต่ด้วยความสำคัญและประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง องค์กร และสังคม ทำให้บริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกานำแนวคิดนี้มาพัฒนาการดำเนินงาน และ หน่วยงานด้านการจัดการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในประเทศสิงคโปร์ ได้นำแนวคิดนี้ไปบรรจุในแผนการสอนในโรงเรียน

ความเข้าใจแนวความคิดด้านเอคิว( A.Q. )ทำให้เข้าใจถึงวิธีที่บุคคลตอบสนองต่ออุปสรรคหรือสิ่งท้าทายตลอดทุกแง่มุมของชีวิต ด้วยวิธีการค้นหาว่าตนเอง ณ จุด ใดของงานนั้นๆ จากนั้นจึงวัดและพัฒนางานนั้นให้ดีขึ้นตลอด
บันไดในการกำหนดเป้าหมายและการไปให้ถึงได้แก่
ขั้นที่หนึ่ง คือ การจินตนาการความเป็นไปได้ที่ดีกว่าที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ( Dream the Dream )
ขั้นที่สอง คือ แปลงสิ่งที่จินตนาการให้เป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ( Making the Dream the Vision )
ขั้นที่สาม คือ การคงสภาพวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนนั้นจนกว่าจะดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย ( Sustaining the Vision )
อย่าลืมว่าหัวใจของเอคิว( AQ. )คือดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง ไม่ท้อถอย ดังเช่น โธมัส เอดิสัน ใช้เวลาถึง ๒๐ ปี ทำการทดลองผลิตแบตเตอรีต้นแบบที่เบาทนทาน ด้วยการทดลอง ห้าหมื่นกว่าครั้ง มีผู้สงสัยว่าเขาอดทนทำเช่นนั้นได้อย่างไร เขาตอบว่า การทดลองทั้งห้าหมื่นครั้งทำให้เขาเรียนรู้ความล้มเหลวตั้งห้าหมื่นกว่าแบบเป็นเหตุให้เขาประสบความสำเร็จดังกล่าวได้
มิได้หมายความว่า คนที่มีเอคิว( AQ. )ดี ซึ่งเปรียบได้กับคนที่พยายามไต่เขาต่อไปไม่หยุดหย่อน จะไม่รู้สึกเหนื่อยอ่อน จะไม่รู้สึกลังเลใจที่จะทำต่อไป จะไม่รู้สึกเหงา แต่เป็นเพราะเขารู้จักที่จะให้กำลังใจตนเองสู้ต่อไป เติมพลังให้ตนเองตลอดเวลาที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่นและกัดฟันสู้อยู่ไม่ถอย สิ่งที่เขาต้องการมิใช่ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าที่บริษัทเขาผลิตอยู่ มิใช่ต้องการเงินเดือนขั้นพิเศษเป็นผลตอบแทน เพราะนั่นเป็นเพียงผลพลอยได้ สิ่งที่เขาต้องการแท้ที่จริงคือ เป้าหมายของงานที่ดีขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน
มาถึงตอนนี้คงจะเห็นได้แล้วว่าเอคิว( AQ. )นั้นมีประโยชน์ต่อสังคมโลกอย่างใด และหากเด็กได้รับการพัฒนาความคิดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและสังคมอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลประเทศสิงคโปร์ถึงให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้อย่างมาก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึง การพัฒนา เอคิว(AQ. )ด้วยความชื่นชม
ได้มีการศึกษาถึง อานิสงค์แห่งการคงไว้ซึ่งเอคิว( AQ. )ใน ๓ ลักษณะคือ
๑.ทำให้บุคคลนั้นมีความคล่องตัวอยู่เสมอ ไม่เหี่ยวเฉา การฝึกสมองอยู่ตลอดเวลาทำให้เซลล์สมองพัฒนาการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทตลอดเวลาทำให้มีความคิดความจำที่ดีอยู่ตลอด
๒.เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ มาติน เซลิกมาน ( Martin Seligman ) ได้ศึกษาตัวแทนประกันชีวิตเป็นเวลา ๕ ปี พบว่าผู้มองโลกในแง่ดี มีผลงานขายประกันสูงกว่า ผู้มองโลกในแง่ร้ายถึง ร้อยละ ๘๘
๓.งานวิจัยด้านระบบจิตประสาทภูมิคุ้มกัน( psycho- neuroimmunology ) พบว่า วิธีการตอบสนองต่ออุปสรรค มีความสัมพันธ์ทางตรงกับ สุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้ที่มีจิตใจต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บป่วยดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด จะพบว่าแผลผ่าตัดฟื้นหายเร็วขึ้น มีอายุที่ยืนยาวกว่า
เขียนโดย Seksano เวลา 19:36:00

Tags:, ,

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *