ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมและต้นทุนด้านโลจิสติกส์
ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมและต้นทุนด้านโลจิสติกส์
โดยธนิตศักดิ์ พุฒิพัฒน์โฆษิต
บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม
สาขาการจัดการโลจิสติกส์ (รุ่น 4)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ต้นทุนด้านโลจิสติกส์เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่รองรับกระบวนการโลจิสติกส์ โดยจะประกอบด้วยต้นทุนดังนี้ (กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ และคณะ, 2546)
1. ต้นทุนการขนส่ง(Transportation Cost)
กิจกรรมด้านการขนส่งเป็นทำให้เกิดต้นทุนค้าขนส่ง สามารถพิจารณาได้หลายทางขึ้นกับหน่วยในการวิเคราะห์ และต้นทุนสามารถแบ่งได้ตามประเภทของลูกค้า ผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย ต้นทุนขนส่งสินค้าขาออก ขาเข้า ต้นทุนเหล่านี้แปรผันตามปริมาณการขนส่ง น้ำหนัก ระยะทาง จุดต้นทางและปลายทาง ต้นทุนการขนส่ง หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการหรือผู้ดำเนินการขนส่งจะต้องเสียในการให้บริการขนส่งแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตจะมีความหมายรวมถึง “ค่าเสียโอกาส” (Opportunity costs) คือค่าชดเชยซึ่งเจ้าของปัจจัยต่างๆตลอดจนผู้ผลิตควรจะได้รับจากการผลิตสินค้าชนิดอื่น แต่ได้ยอมเสียสละนำปัจจัยดังกล่าวมาใช้ผลิตบริการขนส่งแทน รายละเอียดของต้นทุนการขนส่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายและเงินทุนเช่นค่าระวาง ค่าแรงคนขับรถ ค่าแรงของคนวางแผน ค่าเช่ารถ ค่าใช่จ่ายทั่วไปของสำนักงาน ค่าธรรมเนียมขนส่งของผู้รบั จ้างขนส่ง ค่านํ้ามันเชื้อเพลิง ภาษีศุลกากร เป็นต้น
2. ต้นทุนคลังสินค้า (Warehousing Cost)
ต้นทุนคลังสินค้าเกิดขึ้นจากกิจกรรมภายในคลังสินค้าและการจัดเก็บสินค้า การเลือกสถานที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า นอกจากนี้ต้นทุนยังแปรผันไปตามจำนวนและสถานที่ตั้งของคลังสินค้า กิจกรรมภายในคลังสินค้าประกอบด้วย
1) การเคลื่อนย้าย (Movement) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมย่อยๆ ดังนี้
(1) การรับสินค้า (Receiving) ประกอบด้วยการถ่ายสินค้าออกจากพาหนะที่นำสินค้าเข้า การสำรวจความเสียหาย การตรวจนับสินค้าเพื่อเปรียบเทียบกับคำสั่งซื้อและรายงานการส่งสินค้า การปรับปรุงรายงานสินค้าคงคลัง
(2) การถ่ายโอนสินค้า (Transfer or Put away) ประกอบด้วยการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าไปเก็บในคลังสินค้า และการเคลื่อนย้ายสินค้าเพื่อส่งออกไปให้ลูกค้า
(3) การเลือกหยิบสินค้า (Order picking/Selection) เพื่อเตรียมส่งให้แก่ลูกค้าตามคำสั่งซื้อโดยเป็นการเลือกหยิบสินค้าประเภทต่างๆ ตามที่กำหนดเพื่อเตรียมจัดส่งต่อไป
(4) การส่งสินค้าผ่านคลัง (Cross docking) เป็นการขนส่งผ่านระหว่างจุดที่รับสินค้าเข้าและจุดที่ส่งสินค้าออก โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องนำสินค้าไปเก็บในคลังสินค้าแต่อย่างใด
(5) การบรรจุหีบห่อ (Packing) คือการห่อสินค้าเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนส่ง
2) การจัดเก็บ (Storage) แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่
(1) การจัดเก็บชั่วคราว (Temporary storage) ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าคงคลังตามปกติเท่าที่จำเป็น โดยคลังสินค้าที่มีการจัดเก็บแบบชั่วคราวนี้จะเน้นหน้าที่การเคลื่อนย้ายสินค้า หรือการส่งสินค้าผ่านคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บสินค้าชั่วคราวเท่านั้น
(2) การจัดเก็บกึ่งถาวร (Semi-permanent storage) เป็นการจัดเก็บสินค้าคงคลังที่เกินกว่าความต้องการตามปกติ ซึ่งสินค้าคงคลังที่จัดเก็บไว้ประเภทนี้เรียกว่า สินค้ากันชนหรือสินค้าปลอดภัย(Buffer or Safety stock) การจัดเก็บประเภทนี้เหมาะสมในการใช้สำหรับ เก็บสินค้าหลายประเภท เช่นสินค้าที่ความต้องการเป็นฤดูกาล สินค้าที่มีการซื้อเก็บไว้ล่วงหน้าหรือสินค้าเพื่อเก็งกำไร สินค้าที่ได้รับส่วนลดพิเศษ เป็นต้น
3) การถ่ายโอนข้อมูล (Information Transfer) การถ่ายโอนขอ้มูลเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการจัดการคลังสินค้า ซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บสินค้า โดยทั่วไปข้อมูลที่ต้องการใช้ในการจัดการคลังสินค้าประกอบด้วยระดับของสินค้าคงคลัง สถานที่เก็บสินค้าประเภทต่างๆ การรับและส่งสินค้า ลูกค้า บุคลากร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น
3. ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory Carrying Cost)
กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ทำให้ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ การควบคุมสินค้าคงคลัง การบรรจุภัณฑ์ การซ่อมแซมและการทำลายสินค้าชำรุด โดยทั่วไปแล้วต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินค้าคงคลังจะมีการผันแปรกับปริมาณสินค้าคงคลัง ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าหลักๆได้แก่
1) ต้นทุนเงินทุน (Capital Cost) และต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจการจะสามารถสร้างรายได้ได้ซึ่งการสร้างรายได้นี้จะขึ้นอยู่กับสินค้าคงคลัง
2) ต้นทุนในการดูแลสินค้า เช่นค่าประกันภัยและภาษี
3) ต้นทุนพื้นที่จัดเก็บสินค้า ได้แก่ต้นทุนซึ่งสัมพันธ์กับสถานที่จัดเก็บสินค้าซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณสินค้าคงคลัง
4) ต้นทุนความเสี่ยงจากการจัดเก็บสินค้า เช่นความล้าสมัยการย้ายสถานที่จัดเก็บสินค้าและความเสียหายในตัวสินค้า เป็นต้น
4. ต้นทุนการบริหาร ( Administration Cost) ต้นทุนการบริหารเกิดจากกิจกรรมหลัก 3 ประเภท คือ
1) ต้นทุนการให้บริการ (Customer service level) ปัจจัยสำคัญในการพิจารณากำหนดระดับการให้บริการลูกค้าในระดับต่างๆ คือต้นทุนค่าเสียโอกาสในการขาย เงินที่จ่ายไปเพื่อสนับสนุนการบริการลูกค้าได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำให้คำสั่งซื้อสมบูรณ์ การจัดหาอะไหล่และการให้บริการสนับสนุนอื่นๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดการสินค้าส่งคืน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการรับรู้ของลูกค้าในด้านการบริการขององค์กรและความพึงพอใจของลูกค้า
2) ต้นทุนกระบวนการสั่งซื้อและระบบสารสนเทศ (Order processing and information costs) ต้นทุนกระบวนการสั่งซื้อและระบบสารสนเทศได้แก่ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสั่งซื้อ การกระจายการติดต่อสื่อสาร และการพยากรณ์อุปสงค์ ต้นทุนกระบวนการสั่งซื้อและระบบสารสนเทศเป็นการลงทุนที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อรองรับระดับการให้บริการลูกค้าและการควบคุมต้นทุน ต้นทุนการสั่งซื้อสินค้าได้แก่ ต้นทุนการส่งคำสั่งซื้อ ต้นทุนการบันทึกคำสั่งซื้อ ต้นทุนการประมวลคำสั่งซื้อ และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น การแจ้งข้อมูลเรื่องการขนส่งแก่ผู้ขนส่งและลูกค้า รวมทั้งปริมาณสินค้าที่มีอยู่เป็นต้น
3) ต้นทุนปริมาณ (Lot quantity cost) โดยหลักการแล้วจะขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่จัดหาและผลิต ต้นทุนปริมาณได้แก่ การจัดซื้อและการผลิตซึ่งผันแปรไปตามการเปลี่ยนแปลงในปริมาณสินค้าหรือความถี่ในการสั่งซื้อซึ่งรวมถึงรายการดังต่อไปนี้
(1) การกำหนดต้นทุน
ก) ระยะเวลาที่ใช้เพื่อเตรียมการ การกำหนดผู้จัดส่งวัตถุดิบและสถานที่ในสายการผลิต
ข) ชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นจากการปรับแต่งสายการผลิต
ค) การผลิตที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการเริ่มสายการผลิตใหม่ หรือการสั่งซื้อสินค้าจากผู้จัดส่งสินค้า/วัตถุดิบหลายราย
(2) การสูญเสียประสิทธิภาพเนื่องจากการหยุดงานเพื่อเปลี่ยนสายการผลิตหรือต้องเปลี่ยนผู้จัดส่งสินค้าและวัตถุดิบ
(3) การจัดการวัตถุดิบ การวางแผน และการสำรวจ
(4) ส่วนต่างราคาจากการสั่งซื้อในปริมาณที่ต่างกัน
(5) ต้นทุนการสั่งซื้อที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคำสั่งซื้อ
บรรณานุกรม
[1] กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ ศลิษา ภมรสถิตย์ และ จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา, 2546, การจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์, สำนักพิมพ์ท้อป,กรุงเทพมหานคร