ความฉลาดทางสังคม

ความฉลาดทางสังคม
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2549
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้นำเนื้อหาในเรื่องเกี่ยวกับความฉลาดทางสังคม หรือที่เรียกว่า Social Intelligence (โดยนำเนื้อหามาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Daniel Goleman) มานำเสนอไว้ เนื้อหาในสองสัปดาห์ก่อน ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการค้นพบใหม่ๆ ในด้านประสาทวิทยา ซึ่งทำให้นำไปสู่พัฒนาการของการค้นพบแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ในสัปดาห์นี้ เราเข้าสู่เนื้อหาหลักนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาดูว่า ความฉลาดทางสังคมคืออะไร? มีองค์ประกอบอย่างไร? และท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาเปรียบเทียบ กับสิ่งที่ท่านพบเจอในชีวิตประจำวันนะครับ เผื่อจะสามารถพัฒนาความฉลาดทางสังคมได้ขึ้นมาอีก
เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบกันแล้วว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมประเภทหนึ่ง เราต้องอยู่ในสังคมตลอดเวลา แต่ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับว่า คนบางคนก็สามารถเข้าสังคมเก่ง บางคนก็มีปัญหาในด้านการเข้าสังคม แต่ เรื่องของความฉลาดทางสังคมนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเข้าสังคมเก่งอย่างเดียวนะครับ แต่ผมมองว่าเป็นความสามารถของเรา ในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างกลมกลืน และมีความสุข และในขณะเดียวกัน ก็สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพื่อให้บรรลุในวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ
Daniel Goleman ได้แบ่งความฉลาดทางสังคมออกเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ ครับ เรื่องแรกคือ Social Awareness หรือความสามารถของเราในการรับรู้เกี่ยวกับผู้อื่นในสังคม ซึ่งในส่วนนี้รวมทั้งการรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความเข้าใจในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เรียกได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับบุคคล และสังคมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
ในส่วนที่สองเป็นสิ่งที่เรียกว่า Social Facility นั้น คือปฏิสัมพันธ์ที่เราแสดงกับผู้อื่นในสังคม โดยเรื่องของ Social Facility นั้น จะเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจาก Social Awareness นะครับ โดยเมื่อเรารับรู้เกี่ยวกับบุคคลและสังคมรอบข้าง ก็ต้องมีความต่อเนื่องครับ นั่นคือเราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่มีความเหมาะสมและประสิทธิผล เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ในสังคมได้อย่างมีความสุข
เราลองมาดูทีละประเด็นกันนะครับ แล้วท่านผู้อ่านจะพบว่าเรื่องของ Social Intelligence นั้นเป็นสิ่งที่เรารับรู้ และปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพียงแต่ขาดการอธิบายโดยใช้หลักทางด้านวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์เข้ามาช่วยเหมือนที่จะนำเสนอต่อไป
ในส่วนของ Social Awareness หรือการตระหนักหรือรับรู้ทางสังคมนั้น มีองค์ประกอบย่อยอีกสี่ประการครับ ได้แก่ Primal Empathy, Attunement, Empathic Accuracy, และ Social Cognition ครับ
Primal Empathy นั้น เป็นเรื่องของการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นในสังคมครับ โดยการที่เราสามารถรับรู้อารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อื่นได้นั้น ซึ่งการที่เรารับรู้อารมณ์และความรู้ของผู้อื่นนั้น ก็เนื่องมาจาก Mirror Neuron ดังที่ผมได้เคยนำเสนอไว้แล้วในสองสัปดาห์ที่แล้ว
การรับรู้ถึงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้อื่นตามแนวทาง Primal Empathy นั้น มักจะเป็นการรับรู้ ที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น เมื่อรับรู้แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นที่สอง หรือ Attunement ครับ ซึ่ง เป็นเรื่องของการให้ความสนใจ และตั้งใจฟังบุคคลอื่นอย่างเต็มที่ เพื่อให้สมองของเรา และคู่สนทนาสามารถที่จะเชื่อมต่อและส่งสัญญาณถึงกันได้อย่างเต็มที่
ความสามารถในการรับฟังอย่างสนใจ และตั้งใจ เป็นความสามารถที่สำคัญทางสังคมอย่างหนึ่ง เพราะการฟังอย่างตั้งใจจริงๆ จะทำให้เราสามารถจับสัญญาณต่างๆ ที่มากับอวัจนะภาษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง สายตา หรือสีหน้า การฟังที่ดีจะทำให้เราเข้าใจในอารมณ์และความต้องการของคู่สนทนาได้มากขึ้น
มีการกล่าวกันว่า ความสามารถและความสนใจในการฟังที่ดีนั้น เป็นตัวแปรที่สำคัญในการทำให้คนบางคนประสบความสำเร็จเหนือผู้อื่น เนื่องจากถ้าเราเป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะทำให้เราเข้าใจทั้งอารมณ์ ความรู้ และความต้องการของผู้พูดได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญ การฟังอย่างตั้งใจยังช่วยให้อารมณ์ของทั้งผู้พูดและผู้ฟังเชื่อมโยงกันมากขึ้น
แนวทางประการที่สามคือ Empathic Accuracy ซึ่งก็คือการทำความเข้าใจในความคิด อารมณ์ และความปรารถนาของคู่สนทนา ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากสองแนวคิดแรกครับ โดยการอ่านหรือทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่ออารมณ์ ความคิด และความมุ่งหวังของอีกฝ่ายถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ ของความฉลาดทางอารมณ์ครับ สังเกตได้ง่ายๆ ก็บรรดาคู่สมรสต่างๆ ครับ ท่านผู้อ่านลองดูนะครับ ถ้าสามี ภรรยา คู่ไหนสามารถทำความเข้าใจในอารมณ์ ความรู้สึก และความมุ่งหวังของอีกฝ่ายได้ดีเท่าใด ก็น่าจะยิ่งทำให้ชีวิตสมรสมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และยืนยาวมากขึ้นเท่านั้น
ประการสุดท้ายคือ Social Cognition ครับ ซึ่งเป็นความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบๆ ตัวเราครับ ซึ่งใน Social Cognition นั้น จะส่งผลต่อการแสดงปฏิกิริยาต่างๆ ในสังคม เช่น ถ้าเราเข้าไปในสถานที่ที่สงบ เช่น ศาสนสถาน เราก็ควรจะปฏิบัติตัวด้วยความสงบ นอกจากนี้ คนที่เก่งทางด้าน Social Cognition ก็เป็นพวกที่สามารถอ่านสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในองค์กรขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
ท่านผู้อ่านสังเกตซิครับ บางครั้งเราเข้าไปในห้องแล้วมีความรู้สึกว่าบรรยากาศในห้องกำลังอึมครึม ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบอกเรา ก็ถือว่าเป็นความสามารถทางด้าน Social Cognition อย่างหนึ่งครับ คนที่มี Social Cognition เก่ง จะมีความสามารถในการประเมินสถานการณ์รอบๆ ด้าน และปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ได้อย่างดี ลองสังเกตพวกที่ Social Cognition ไม่ดีซิครับ คนพวกนี้พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ในสถานการณ์ที่ไม่ควรพูด เรียกได้ว่าพูดไม่ดูตาม้าตาเรือครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ เรื่องของ Social Awareness คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ ท่านผู้อ่านลองนำไปทบทวนดู ในการดำเนินชีวิตของท่านนะครับ โดยเฉพาะเมื่อท่านเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น ท่านมีความสามารถ ในการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ของคู่สนทนาหรือไม่? และท่านตั้งใจฟัง เพื่อเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลผู้นั้นอย่างลึกซึ้งหรือไม่? และท่านรับรู้ต่อสถานการณ์รอบๆ ตัวท่านที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่? สัปดาห์หน้าเราจะมาพิจารณากันต่อนะครับ ว่าเมื่อเรารับรู้ต่อสัญญาณต่างๆ เหล่านี้แล้ว เราควรจะเข้าไปทำอะไรได้บ้าง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *