ครูกับการผลิตผลงานวิชาการ

ครูกับการผลิตผลงานวิชาการ

วันที่ : 13 กันยายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาวันนี้

บทบาทของครูที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การผลิตผลงานวิชาการ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในงานสอน อันจะทำให้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในเรื่องที่สอนอย่างแท้จริง และส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ ดังที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 54 การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะใด…ให้คำนึงถึงความประพฤติด้านวินัย คุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ประสบการณ์ คุณภาพการปฏิบัติงาน ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ผลงานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในด้านการเรียน การสอน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเขียนงานวิชาการจะเป็นสิ่งจำเป็นของผู้อยู่ในวิชาชีพครู แต่ต้องยอมรับว่า การเขียนงานวิชาการเป็นงานที่ยาก เนื่องด้วยต้องอาศัยเวลาและความพยายามในการค้นคว้าข้อมูล จนกระทั่งกลั่นกรองและนำเสนอออกมาผ่านงานเขียน ซึ่งอาจทำให้ครูหลายต่อหลายท่านเกิดความท้อแท้ อีกทั้งมีครูจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่รู้แนวทาง ไม่ทราบเทคนิค หรืออาจไม่มีประสบการณ์ในการเขียนงานวิชาการ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ครูไม่กล้าลงมือผลิตงานวิชาการ

บทความนี้ ผมขอเสนอแนะเทคนิคการผลิตผลงานวิชาการ ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตรงของผม ดังนี้

ก่อนเขียนควรสร้างแรงจูงใจที่ดี
แรงจูงใจเป็นพลังที่สำคัญในการกำหนดว่าเราจะทำสิ่งนั้น ๆ สำเร็จหรือไม่ ปราศจากแรงจูงใจ…ยากที่จะสำเร็จ เช่นเดียวกับการเขียนงานวิชาการ ครูควรมีแรงจูงใจที่สูงส่ง เนื่องจากต้องอดทน พากเพียร ขยัน มุมานะ ซึ่งการสร้างแรงจูงใจเริ่มต้นจากการตอบคำถามว่า การเขียนสำคัญอย่างไร? เหตุใดจึงต้องเขียน? ผมได้ประมวลความสำคัญของการเขียนไว้หลายประการ อาทิ

การเขียนงานวิชาการเป็นมรดกแห่งชีวิตที่ไม่สูญสลาย ในฐานะครู ซึ่งเป็นผู้มีความรู้มากมายที่เก็บสะสมไว้ ผ่านการใช้เวลาเรียนรู้ ค้นคว้านับสิบ ๆ ปี หากไม่ถ่ายทอดออกมาเป็นข้อเขียน คนรุ่นหลังจะไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลย ดังนั้น หากครูต้องการมอบมรดกทางความคิดไว้ให้กับสังคม จำเป็นต้องเขียน แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เคยกล่าวไว้ว่า “เรารู้ดีว่าหนังสือสามารถไหม้ได้ แต่เรารู้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นนั่นคือ ไฟไม่สามารถฆ่าหนังสือให้ตายลงได้ แม้คนจะตายไปแต่หนังสือไม่เคยตาย”

การเขียนงานวิชาการทำให้เกิดการกระจายความรู้ “นักเขียนพูดดังกว่านักพูด และพูดได้นานกว่า” ไม่มีอารยธรรมใดเกิดขึ้นโดยไม่มีการเขียน และไม่มีอารยธรรมใดเจริญต่อเนื่องได้โดยไม่อาศัยการเขียน นั่นเพราะการเขียนส่งผลให้เกิดการกระจายความรู้กว้างขึ้น และข้อเขียนแพร่ไปไกลกว่าคำพูด สิ่งที่พูดจะหายไปตามกาลเวลา แต่การเขียนหนังสือจะยังคงอยู่ ประเทศใดที่มีวัฒนธรรมการเขียน และการจดบันทึก ประเทศนั้นจะเต็มไปด้วยการสืบทอดและต่อยอดทางความรู้และภูมิปัญญา

การเขียนงานวิชาการส่งผลดีต่อการเรียนการสอน การเขียนงานวิชาการ ครูต้องอยู่ที่พรมแดนความรู้เสมอ ต้องเข้าไปสำรวจวรรณกรรม ต้องสังเคราะห์และต่อยอดองค์ความรู้ จึงจะสามารถถ่ายทอดความรู้ใหม่ให้กับลูกศิษย์ ช่วยลูกศิษย์ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ลดขั้นตอนลดเวลาในการเรียนรู้ ทั้งยังทำให้การสอนของครูมีความน่าเชื่อถือ เพราะรู้จริง และเป็นการพัฒนาภูมิปัญญาของลูกศิษย์ด้วย

การเขียนงานวิชาการพัฒนาองค์ความรู้ของคนไทย ที่ผ่านมาสถาบันการศึกษามักรับองค์ความรู้จากต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่มีองค์ความรู้ที่เราผลิตขึ้นเอง ทำให้คนไทยเป็นอาณานิคมทางปัญญา จริงอยู่ที่ประเทศไทยสามารถต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ได้มาจากต่างประเทศ แต่โดยส่วนใหญ่เรามักจะรับเอาความรู้จากต่างประเทศมาใช้ทั้งหมดโดยไม่ปรับใช้ ดังนั้น หากครูเขียนหนังสือเชิงวิชาการ ที่เกิดจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์องค์ความรู้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นของคนไทย

คิดก่อนเขียน
“คนที่ไม่ค่อยได้เขียนหนังสือ จะไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาทางความคิดหรือไม่” อุปสรรคที่สำคัญของสังคมไทยก็คือ การขาดทักษะการคิด การรู้เทคนิคการเขียนไม่ใช่คำตอบว่าจะสามารถเขียนเป็น แต่ความคิดที่คมชัดบวกกับทักษะการเขียนที่ดี จะทำให้เขียนได้ดี ผู้ที่เขียนวกวนสับสนเกิดจากความคิดภายในที่วกวนสับสน และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จะเขียนอะไร ส่วนมากเนื่องมาจากไม่รู้จะคิดอย่างไรนั่นเอง

ก่อนที่จะลงมือเขียน ครูควรเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามตามหลัก 5W1H เพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการเขียน นั่นคือ Who ต้องการเขียนให้ใครอ่าน What เราต้องการนำเสนอเรื่องอะไร แนวคิดที่ต้องการนำเสนอคืออะไร Where จะนำข้อเขียนนั้นลงตีพิมพ์ที่ไหน When ช่วงเวลาใดจึงเหมาะสม Why เหตุใดจึงนำเสนอเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากข้อเขียนชิ้นนี้ How จะทำเช่นใดให้ข้อเขียนได้รับการตีพิมพ์ ลักษณะรูปแบบการนำเสนอ

นอกจากการใช้คำถาม 5W1H การเขียนต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ อาทิ การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หาประเด็นใหม่ ๆ เพื่อมากำหนดหัวข้อที่น่าสนใจ การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) ต้องวิเคราะห์ข้อมูลแม่นยำ สามารถตีความ จำแนกแยกแยะ และทำความเข้าใจข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) นำเสนอเพียงประเด็นเดียว สามารถประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ให้เกี่ยวกับเรื่องที่จะนำเสนออย่างชัดเจนและไม่เขียนนอกประเด็น การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis Thinking) สามารถในการรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาหลอมรวมภายใต้โครงร่างใหม่อย่างเหมาะสม การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ต้องสามารถวิพากษ์แนวคิดเดิมได้ การเสนอแนวคิดใหม่ ท้าทายและหาข้อโต้แย้งความคิด ข้อเสนอ หรือหลักปฏิบัติเดิมได้ เพื่อเปิดแนวทางความคิดสู่ทางเลือกใหม่ และการคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking) ผู้เขียนต้องสามารถประยุกต์ข้อเท็จจริง แนวคิดใหม่ที่นำเสนอให้เข้ากับบริบทสังคม ประยุกต์แนวคิดเชิงนามธรรมสู่รูปธรรม

“การคิด” เป็นกำแพงด่านที่ครูต้องทะลวงไปให้ได้ ด้วยการฝึกฝนวิธีคิดของตนเองอยู่เสมอ โดยเป็นคนที่ช่างสังเกต ชอบศึกษาค้นคว้า อ่านหนังสือทุกประเภท และบันทึกประสบการณ์/เหตุการณ์ที่น่าสนใจ

ลงมือเขียน
การ “เขียนได้” เป็นสิ่งที่ไม่ยาก แต่การ “เขียนเป็น” ยากกว่า เพราะต้องแน่ใจว่าเมื่อเขียนแล้วคนอ่านรู้เรื่องและเข้าใจตรงกับสิ่งที่ต้องการสื่อสาร นักวิชาการบางท่านที่มีชื่อเสียง มีความรู้ ได้ปริญญาหลายใบ แต่เมื่ออ่านงานเขียนแล้ว กลับไม่เข้าใจ เพราะการใช้ภาษาที่วกวนจนจับประเด็นหรือใจความสำคัญไม่ได้ ซึ่งกล่าวได้ว่านักวิชาการท่านนี้ เขียนไม่เป็น

ดังนั้น การที่ครูจะเขียนงานวิชาการได้ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า “เขียนเป็นหรือไม่?” “เขียนแล้วคนอ่านรู้เรื่องหรือไม่?” ครูทุกท่านสามารถเขียนเป็นได้ หากเรียนรู้ “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ศาสตร์ คือ การเขียนฝึกฝนได้ ศิลป์ คือ การนำเทคนิคของศาสตร์มาประยุกต์ การเขียนจึงฝึกฝนกันได้ หากเขียนบ่อย ๆ งานเขียนก็จะดีขึ้นไปด้วย ดังนั้น ต้องลงมือเขียน ต้องให้เวลาในการฝึกฝน ต้องขยันอ่านงานเขียนของผู้อื่น เพื่อศึกษาเทคนิควิธีการเขียน และศิลปะในการใช้ภาษา อรรถรสในการเขียน และนำมาปรับเป็นเอกลักษณ์การเขียนของตนเอง

รู้จักกลุ่มผู้อ่าน
“งานเขียนที่ไม่มีคนอ่านก็เหมือนจดหมายที่บุรุษไปรษณีย์ไม่สามารถนำส่งได้ เพราะชื่อที่อยู่ที่จ่าหน้านั้นไม่ชัดเจน” งานเขียนเชิงวิชาการจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อกลุ่มเป้าหมายได้อ่าน ดังนั้น หากครูท่านใดที่ตั้งใจเขียนเชิงวิชาการควรตั้งคำถามก่อนว่า “เราเขียนหนังสือให้ใครอ่าน?” และสิ่งที่ครูควรทำคือ

รู้จักผู้อ่าน ผู้เขียนที่ดีไม่ใช่คนที่อยากเขียนเรื่องอะไรก็เขียน แต่คือผู้ที่คิด เขียนเรื่องนั้นเพื่ออะไร เขียนไปทำไม และที่สำคัญ…เขียนเพื่อใคร? ดังนั้น ก่อนที่จะรู้ว่านำงานเขียนไปลงตีพิมพ์ที่ใด ครูควรรู้ว่าผู้อ่านงานของเราเป็นใคร จากนั้นจึงค่อยมากำหนด หัวข้อเรื่อง วัตถุประสงค์ การใช้ภาษา และการดำเนินเรื่อง

เขียนเพื่อผู้อ่าน ในแวดวงวิชาการ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยคิดว่า การเขียนงานวิชาการต้องใช้ภาษาศัพท์เฉพาะ เพื่อแสดงออกซึ่งภูมิปัญญาอันสูงส่ง โดยไม่ได้มุ่งสื่อสารกับผู้อ่าน และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้รับสาร ดังนั้น ครูควรตระหนักว่า การเขียนงานวิชาการต้องนำเสนออย่างเรียบง่าย ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจอย่างรวดเร็ว เพราะ “นักเขียนเชิงวิชาการที่ชาญฉลาด จะสามารถที่จะเขียนเรื่องยาก ๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ๆ แต่ทรงอิทธิพล”

มั่นใจว่ามีคนอ่าน ครูควรเลือกว่าจะลงตีพิมพ์ในสื่อใด เช่น หากครูต้องการเขียนบทความลงในวารสาร ควรพิจารณาลักษณะของวารสารว่า วารสารต้องการบทความมีเนื้อหาแบบใด มีความหนักแน่นเชิงวิชาการมากน้อยเพียงใด มีความยาวเท่าใด ตรงกับเรื่องที่ครูสนใจหรือถนัดหรือไม่ ถ้าเป็นวารสารวิชาการ กลุ่มเป้าหมายก็คือ นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจในสาขาวิชานั้น ภาษาและเนื้อหาการเขียนของครูต้องมีความหนักแน่นน่าเชื่อถือและใช้ภาษาวิชาการ ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ กลุ่มคนอ่านจะกว้างขึ้น เป็นกลุ่มประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพ ครูควรใช้ภาษาที่ผู้อ่านเข้าใจง่ายแต่คงความเป็นวิชาการไว้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเขียนในระยะแรก ครูไม่ควรติดที่สไตล์การนำเสนอ แต่ควรมุ่งหาช่องทางนำเสนอสิ่งที่ต้องการเขียน เพื่อให้รู้ว่าควรนำไปตีพิมพ์ในวารสาร หรือสำนักพิมพ์ใด ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

ครูที่มีความตั้งใจและมีเป้าหมายในการสร้างและกระจายความรู้สู่สังคม ผ่านการเขียนหนังสือบทความ หนังสือหรืองานวิชาการต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ทำให้ครูได้รับการพัฒนาในเรื่องนั้นได้อย่างลงลึกและเชี่ยวชาญ แต่ยังสามารถผลิตผลงานวิชาการที่มีคุณค่า อันมีส่วนในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ และส่งผลต่อการพัฒนาสังคมส่วนรวมด้วย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *