คติพจน์แห่งการประพฤติตนในสถานทำงาน

คติพจน์แห่งการประพฤติตนในสถานทำงาน
คอลัมน์ คลื่นความคิด โดย สารสิน วีระผล มติชนรายวัน วันที่ 07 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9830
ฤดูกาลนี้นอกจากจะเป็นห้วงเวลาปรับเปลี่ยน ผ่องถ่ายอำนาจทางการเมืองแล้ว ยังมีความสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้าทำงานตามบริษัทห้างร้านต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาที่กำลังสำเร็จการเรียนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ
“สามก๊ก” ฉบับที่ผู้เขียนเคยนำมาเผยแพร่เป็นตอนๆ ในคอลัมน์นี้ มีตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับเล่าปี่ และโอวาทที่เขาได้ให้กับนิสิตนักศึกษาของวิทยาลัยพาณิชย์ “ตงอู๋” ในพิธีปัจฉิมนิเทศก์ ซึ่งเล่าปี่ได้เน้นประเด็นเกี่ยวกับ “การเมืองในสำนักงาน” อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดต่อความอยู่รอดและความก้าวหน้าของพนักงานในบริษัท
ตามบันทึกการบรรยายในวันนั้น ปรากฏว่ามีนักศึกษาชื่อ โลซก และจิวยี่ ร่วมฟังอยู่ด้วย
เล่าปี่ได้ใช้ประสบการณ์ของตนเองในบู๊ลิ้มบรรยายให้นักศึกษาเข้าใจวิธีการพัฒนาตนเองเป็น “ตุ๊กตาล้มลุก” ในสถานที่ทำงาน โดยอ้างอิงตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ศิลปดังกล่าว เช่น โจโฉ ตั๋งโต๊ะ และแม้แต่ตนเอง
เคล็ดลับความสำเร็จในสถานที่ทำงานนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจ “วัฒนธรรมของการทำงาน” อันประกอบด้วยพฤติกรรมของพนักงานภายใต้สี่หัวข้อใหญ่
ก.ข้อเตือนสติห้าประการ
เล่าปี่ชี้ให้เห็นว่า ในชีวิตประจำวันของพนักงานในบริษัทมักจะต้องเผชิญกับ “เรื่องขี้ประติ๋ว” กล่าวคือเรื่องหยุมหยิม ซึ่งมีผลในทางลบ เปรียบเสมือนจุดดำจุดหนึ่งบนกระดาษสีขาวที่สามารถส่งผลกระทบในวงกว้างต่องานรับผิดชอบ และอาจนำไปสู่การถูกพิจารณาให้ออกจากงานได้
เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว เล่าปี่ได้เสนอข้อเตือนสติห้าประการให้นักศึกษาพิจารณาคือ :-
1.อย่าพูดหรือฟังเรื่องไร้สาระระหว่างทำงาน ซึ่งจะทำให้คนอื่นเข้าใจไปว่าทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่างว่าง ไม่มีงานทำ
2.อย่าเกียจคร้าน โดยต่อหน้าผู้บังคับบัญชาก็ทำเสมือนขยันหมั่นเพียร แต่ลับหลังกลับกลายเป็นคนละคน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมจะถูกจับได้ ไม่ช้าก็เร็ว
3.อย่านำเอาทรัพย์สินของบริษัทติดตัวกลับบ้านไป ไม่ว่าสิ่งของนั้นจะใหญ่หรือเล็กเพียงใดก็ตาม การไม่ยักยอกสิ่งของเล็กน้อยเป็นการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้แก่ตนเอง(ซึ่งจะได้รับการตอบแทนจากบริษัทอย่างสมเกียรติในที่สุด) และไม่เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียงหรือเกียรติประวัติของตน
4.อย่าแต่งตัวแต่งกายนอกรูปแบบ การที่สุภาพสตรีแต่งกางเกงยีนส์ หรือสุภาพบุรุษรวบผมหางม้า เท่ากับสร้างบรรยากาศที่ไม่เข้ากับสถานที่ทำงาน หรือสร้างบรรยากาศที่แจ่มใสงดงาม แต่ทำลายเอกภาพของที่ทำงานด้วย
5.อย่าใช้เวลาทำงานไปทำเรื่องส่วนตัว เช่น ไปซื้อเสื้อผ้า เสริมสวย ตัดผม เป็นต้น
เล่าปี่สรุปว่า ไม่มีผู้บังคับบัญชาหรือเถ้าแก่คนไหนจะชอบเห็นพนักงานของตนละเมิดข้อเตือนสติทั้ง 5 ประการดังกล่าว พร้อมตบท้ายว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปในเวลาที่สำคัญหรือคนสำคัญในยามปกติ ก็สามารถเลี่ยงการกระทำสิ่งไร้สาระ”
เล่าปี่ให้โอวาทนักศึกษาต่อไปว่า พนักงานต้องตระหนักว่าแท้จริงแล้วทุกคนทำงานเพื่อตนเอง หามิใช่เพื่อเจ้าของหรือคนอื่นในบริษัท(แม้ว่างานที่ตนทำนั้นคนอื่นจะแบ่งปันหรือสั่งให้ทำก็ตาม) ฉะนั้นพนักงานทุกคนจึงต้องเตรียมอาวุธประจำตัวห้าชนิดดังต่อไปนี้ไว้ให้พร้อม
ข.อาวุธประจำตัวห้าชนิด
1.กล้ารับผิดชอบ พนักงานส่วนมากคิดแค่รับผิดชอบเฉพาะในสิ่งที่ถูกสั่งให้ปฏิบัติ โดยหารู้ไม่ว่าทรรศนะดังกล่าวไม่ช่วยให้ตนได้รับการพิจารณาในตำแหน่งรับผิดชอบที่สูงขึ้น เล่าปี่อธิบายเพิ่มเติมว่า “ความกล้าในการรับผิดชอบ” ไม่ใช่ “การรับผิดชอบที่ไร้สติ” แต่เป็นการเข้าใจเกี่ยวกับ “การรับผิดชอบต่อตัวเอง”
2.สามารถค้นพบความสุขในการทำงาน ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่มาจากประสบการณ์ในการทำงาน พนักงานต้องไม่ทำหน้าเศร้าหมองในการปฏิบัติ ซึ่งมีผลทางลบต่อตนเอง และเพื่อนร่วมงาน ทั้งนี้ การเข้าใจความหมายของงานที่ได้รับมอบหมายจะช่วยทำให้รู้ซึ้งถึงความเหมาะสมของตน ต่องานนั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขได้
3.แม้งานที่ตนชอบทำอาจยากลำบาก แต่ทรรศนะของตนต่องานนั้นจะช่วยการต่อสู้หรือเผชิญหน้ากับความยากดังกล่าว นี่ก็คือการพัฒนาทัศนคติที่สร้างสรรค์ เพื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายต่างๆ ทัศนคติดังกล่าวจะนำไปสู่การเรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาและความไม่หวาดผวาต่อการท้าทายต่างๆ
4.สร้างจิตสำนึกแห่งเอกภาพที่เข้มแข็ง เล่าปี่ได้ยกตัวอย่างการผนึกกำลังระหว่างตัวเขา กวนอู กับเตียวหุย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อความสำเร็จแห่งการสร้างอาณาจักรของตน
5.ปลูกฝังนิสัยการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต เล่าปี่เตือนสติผู้ฟังว่า บางบริษัทได้ออกคำเตือนถึงพนักงานว่า “หากไม่เปลี่ยนสมองก็ต้องเปลี่ยนคน” ดังนั้นในยุคโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นนั้น “ตลาดสามารถทอดทิ้งบริษัท และบริษัทก็สามารถทอดทิ้งพนักงาน” ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง พนักงานจึงต้องปรับปรุงเรียนวิชาการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
ค.การจัดการกับประเภทบุคคลปัญหาในที่ทำงาน
เล่าปี่บรรยายต่อไปว่า ความสำเร็จในการทำงานยังต้องอาศัยมนุษยสัมพันธ์ที่ได้ผล เล่าปี่ได้ให้ตัวอย่างลักษณะการร่วมงานกับคนอื่นในสถานที่ทำงานที่อาจต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ดังนี้
1.มีพวกที่ชอบซุบซิบนินทาใส่ความ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ในกรณีนี้จะต้องพยายามปิดปาก ให้ความสำคัญความน่าเชื่อถือต่อคำพูดในหมู่เพื่อนร่วมงาน
2.มีพวกช่างบ่น ชอบแสดงความไม่พอใจ ในสภาพการณ์เช่นนี้ พนักงานต้องปรับจิตใจของตนรับฟังคำบ่นบ้าง แต่พยายามอย่าทำตัวเป็นคนขี้บ่น สร้างความรำคาญให้กับคนอื่น
3.มีพวกชอบแสดงตนว่าเป็นผู้รู้ทั้งๆ ที่ตนเองรู้เพียงผิวๆ เผินๆ (พวก “น้ำส้มสายชูครึ่งขวด” (ป้านผิงชู่)) บุคคลเหล่านี้พยายามสร้างความประทับใจโดยแทรกตัวเองเข้าไปทุกเรื่อง วิธีแก้คือพยายามหุบปาก และใช้เวลาไปแสวงหาข้อเท็จจริงแทน การค้นพบความจริงโดยเอาเวลาจากการไปพูดแทรกที่อื่นจะทำให้เกิดการวางตัวที่ดีขึ้น บุคคลจำพวกนี้ต้องตระหนักว่าการไม่แสดงว่าตนรู้ (ทั้งๆ ที่ไม่รู้แท้จริง) ไม่ได้หมายความว่าจะสูญเสีย ความเคารพหรือความเชื่อถือไป
4.พวกที่เอาใจเบื้องบนแต่ดูถูกรังแกเบื้องล่าง (พวก “ตบตูดม้า” (ไพหม่าพี่)) สุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า “คนจริงไม่เปิดโปงโฉมหน้าที่แท้จริง” ต้องหัดมองและปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานในระดับเท่าเทียมกัน
5.พวก “นางสุนัขจิ้งจอก” (หูหลีจิง) ซึ่งสถานที่ทำงานไม่ควรเป็นสถานที่แสดงมารยาร้อยเล่มเกวียน
*เกี่ยวกับผู้เขียน : เป็นดอกเตอร์ทางด้านประวัติศาสตร์และภาษาเอเชียตะวันออก จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเคยรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งสุดท้ายคือรองปลัดกระทรวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
หน้า 20

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *