ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ลดปัญหาอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทาง

ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ลดปัญหาอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทาง

โดยทั่วไป ในการณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนทุกครั้ง ไม่ว่าจะในช่วงเข้มข้นอย่างในช่วงเทศกาลหรือในยามปกติ ต้นไม้ริมถนนมักจะถูกมองข้ามหรือไม่ก็ไม่ให้ความสำคัญมากนัก ทว่าจากข้อมูลข้อเท็จจริง ต้นไม้ริมถนน แม้จะไม่ใช่องค์ประกอบหลักในการเกิดอุบัติเหตุ แต่มักจะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เพิ่มจำนวนและความรุนแรงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต

งานวิจัยของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(เรื่อง “ต้นไม้…กับความตายริมถนน”) และของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ณัฐกานต์ ไวยเนตร และคณะ เรื่อง “เมื่อต้นไม้ข้างทางตกเป็นจำเลยกรณีชนแล้วไม่หนี”) ชี้ตรงกันว่า ต้นไม้มักเป็นจุดสุดท้ายที่รถหยุดหลังการชนหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะจากพฤติกรรม เมา หลับใน และหักหลบหลังชน และไม่เลือกว่าจะเป็นต้นไม้เล็กหรือใหญ่ ใกล้หรือไกลทาง ต่างก็สามารถทำให้เกิดความสูญเสียได้เสมอ จะมียกเว้นบ้างก็ในกรณีที่ ต้นไม้ ช่วยไม่ให้รถตกเขาซึ่งมักพบภายหลังที่ที่กั้นกั้นริมทาง (Guard rail) หักพังเสียหายระหว่างชน

ดังนั้น ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน จึงได้จัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย .. เพื่อทางออกในการลดปัญหาอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมข้างทาง” ดังนี้

1. การปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ .. ควรนำหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงประเภทของต้นไม้ และระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ทางหลวง ทางหลวงชนบท เทศบาล / อบต. ได้รับทราบและถือปฏิบัติ รวมทั้งการรณรงค์ปลูกต้นไม้ ควรส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ที่ควรปลูก เช่น ป่าสงวน สถานที่ต่างๆ ฯลฯ แทนการปลูกที่สองข้างทาง

2. ต้นไม้สองข้างทางที่มีอยู่แล้ว .. ควรให้ผู้รับผิดชอบได้แก่ ทางหลวง ทางหลวงชนบท เทศบาล/อบต. ร่วมกันประเมินความเสี่ยง ทั้งเรื่องระยะห่างจากไหล่ทาง ขนาดของต้นไม้ การบดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ .. โดยเริ่มจากถนนที่มียานพาหนะสัญจรจำนวนมากและมีข้อมูลว่ามีอัตราอุบัติเหตุสูงกว่าเส้นอื่น และพิจารณาดำเนินการ

– ตัด หรือ เคลื่อนย้ายต้นไม้ที่จะมีผลต่อความปลอดภัย

– กรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ควรสร้างเครื่องป้องกันเพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่ยานพาหนะจะพุ่งเข้าชนจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

3. สำหรับถนนตัดใหม่ .. ทั้งในพื้นที่กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการออกแบบที่คำนึงถึงวิถีชีวิตของชุมชนสองข้างทาง รวมทั้งกำหนดตำแหน่งต้นไม้ที่มีอยู่ว่าควรตัด/หรือย้ายออก รวมทั้ง วางแผนในเรื่องการปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ในอนาคต

4. กรณีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ที่พิสูจน์ว่ามีสาเหตุมาจากวัตถุหรือต้นไม้ข้างทางที่มิได้มาตรฐานความปลอดภัย ผู้เสียหายควรมีสิทธิ์ในการฟ้องร้องเพื่อขอค่าชดเชยกับผู้รับผิดชอบดูแลถนนในแต่ละประเภทได้

5. ส่งเสริมให้มีการนำระบบประเมินความปลอดภัยของถนน เช่น International road assessment program (IRAP) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่หลายประเทศนำมาใช้ในการประเมินและจัด rating ความปลอดภัยของถนน

6. ควรมีการพัฒนาระบบข้อมูล และศึกษาเพิ่มเติมในประเด็น ..

– ระบบข้อมูลอุบัติเหตุของหน่วยงานหลัก ได้แก่ ตำรวจ สาธารณสุข ทางหลวง ฯลฯ ควรเพิ่มการรวบรวมข้อมูลต้นไม้ วัตถุอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาด้วย

– ศึกษาประเภทต้นไม้ในเมืองไทย ที่เหมาะสมกับการนำมาปลูกเพื่อความร่มรื่น และ ปลอดภัย

– วัตถุอื่น ๆ นอกเหนือจากต้นไม้ ที่ส่งผลต่ออุบัติเหตุ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่ขาดมาตรฐานความปลอดภัย เช่น หลักกิโลเมตรบางจุด ป้ายต่างๆ ฯลฯ เพื่อหาแนวทางป้องกันแก้ไขต่อไป

ข้อเสนอเหล่านี้ควรได้รับการคำนึงถึงในทุกกรณีที่ดำเนินการเกี่ยวกับทางและถนน ไม่เช่นนั้นความต้องการความร่มรื่นและความสวยงามของต้นไม้ จะกลายเป็นความงามอันประมาทที่สร้างความสูญเสียให้กับผู้ใช้ถนนได้

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *