ข้อน่ารู้ของบัตรเครดิต

ข้อน่ารู้ของบัตรเครดิต
ในการดำรงชีวิตปัจจุบันบัตรเครดิตถือว่ามีความจำเป็นในด้านการเงิน เพราะให้ความสะดวกในการพกพา เราไม่ต้องมีเงินสดติดตัวมากๆ มีบัตรเครดิตเพียงใบเดียวก็สามารถจับจ่ายใช้สอยได้สะดวก ยิ่งกว่านั้นเวลาไปต่างประเทศก็ไม่ต้องเสียเวลาไปแลกเงิน เพราะนอกจากจะต้องค่าคอมมิชชั่นในการแลกเปลี่ยนเงินแล้ว หากกลับมาถึงบ้านเงินที่แลกไปใช้ไม่หมดก็ต้องมาแลกกลับเป็นเงินบาทก็เสียค่าคอมมิชชั่นอีกต่อหนึ่ง ปัจจุบันนี้คุณสามารถเซ็นบัตรเครดิตได้ไม่เกินวงเงินที่ผู้ออกบัตรกำหนดให้ อย่างไรก็ตาม การใช้บัตรเครดิตมีข้อพึงระวังดังต่อไปนี้
1. บัตรเครดิตควรใช้เฉพาะยามจำเป็น เพราะถ้าเราไปเบิกเงินหรือเซ็นซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ มากๆ ก็หมายความว่าเราเป็นหนี้มากซึ่งเมื่อครบเดือนก็จะต้องจ่ายคืนมาก ถ้าไม่จ่ายคืนให้หมดก็จะถูกเก็บดอกเบี้ยสูงถึง 18.5% ต่อปี บัตรเครดิตบางชนิดที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคาร (คือบัตรเครดิตของ Non Bank) ก็อาจมีการหมกเม็ดเก็บค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยรวมกันปีหนึ่งสูงถึง 54% ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตก็เพื่อความสะดวกในการซื้อ แต่ไม่ใช่เป็นบัตรที่จะสร้างหนี้ให้เราจำนวนมาก
2. ผมมีบัตรเครดิตจากแบงก์กรุงเทพแล้วผมเปิดบัญชีสะสมไว้ พอสิ้นเดือนก็ให้เขาตัดเงินจากบัญชีไปเลย ทำให้แต่ละเดือนแม้ผมจะเซ็นการ์ดไปบ้างก็ไม่เคยต้องจ่ายดอกเบี้ย จึงมีความสะดวกและประหยัด ผมไม่ชอบจ่ายดอกเบี้ยหรือเป็นหนี้ใคร
3. คนเราควรมีบัตรเครดิตเพียงใบเดียว ถ้าจำเป็นมากๆ ก็มีไม่เกิน 2 ใบ การมีบัตรหลายใบทำให้ใช้เงินเติบเปลืองค่าใช้จ่ายและเป็นหนี้มาก ไม่ควรเซ็นบัตรใบหนึ่งเพื่อไปจ่ายหนี้บัตรอีกใบหนึ่ง
4. ควรเลือกบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารเพราะเราเสียดอกเบี้ยถูกกว่าบัตรที่ออกโดย Non Bank อาจคิดดอกเบี้ยแพงมากถึง 50% ต่อปี
5. หากลูกๆ ของคุณจะขอบัตรเสริมก็ให้เฉพาะคนที่โตมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และจำกัดวงเงินไว้ เช่น 50,000 บาท อย่าให้มาก เมื่อลูกจบการศึกษาและทำงานมีรายได้เป็นของตัวเองแล้ว ก็ควรยกเลิกบัตรเสริมนั้น โดยให้ลูกไปขอบัตรเครดิตของตนเอง ดังนี้จะช่วยสอนให้ลูกมีวินัยทางการเงิน รู้จักคุณค่าและวิธีประหยัดรายจ่าย
6. คุณต้องระลึกว่าหากเป็นหนี้บัตรเครดิตมากและไม่จ่ายตามกำหนด นอกจากจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยแพงแล้ว ชื่ออาจเข้าไปอยู่ในบัญชีดำของศูนย์ข้อมูลเครดิต (Credit Bureau) ซึ่งทำให้คุณขอสินเชื่อหรือกู้ยืนเงินสำหรับกิจการอื่นๆ ยาก เช่น ขอกู้เงินซื้อบ้านหรือจัดหาทุนไปใช้ในการทำธุรกิจ การเงินของคุณจะติดขัดไปทั้งระบบ
7. พ่อแม่ต้องสอนลูกให้ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต และมัธยัสถ์ รู้จักว่าอะไรควรจ่ายอะไรไม่ควรจ่าย สำหรับลูกที่ทำงานมีรายได้ของตัวเองแล้ว จำเป็นจะต้องมีเงินออมเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และในยามตกยาก คนเราไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จึงควรระมัดระวังในเรื่องการเงิน ยิ่งไปกว่านั้น พ่อแม่จะต้องสอนให้ลูกหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมเป็นประจำ ต้องเก่งภาษาอังกฤษ สมัยนี้โลกเราพัฒนาไปเร็วมาก ในแต่ละปีมีบัณฑิตจบใหม่นับแสนคน ดังนั้น คนรุ่นหลังจะเข้ามาแข่งขันทำให้คนรุ่นก่อนหาเงินยากยิ่งขึ้น ถ้าไม่หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมแล้วสู้เด็กรุ่นหลังไม่ได้ การสอนให้ลูกทำงานตั้งแต่เล็กๆ เป็นการเสริมความรู้ สร้างวินัย ทำให้ลูกตระหนักต่อหน้าที่ ลูกควรช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ก่อนก็ได้ และเมื่อโตแล้วจึงให้ทำงานที่ใช้ฝีมือมากขึ้น รวมทั้งส่งไปฝึกงานกับผู้อื่น เพื่อให้รู้ว่าการเป็นลูกจ้างลำบากไหม โลกที่แท้จริงเป็นอย่างไร
รู้ทันบัตรเครดิต
ทุกวันนี้ ธุรกิจบัตรเครดิตมีการแข่งขันกันสูง มีโปรโมชั่นทั้งในเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือค่าธรรมเนียมรายปี อัตราดอกเบี้ยที่โฆษณาว่าต่ำกว่าผู้ให้บิการรายอื่น รวมถึงเรื่องของระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยด้วย ว่าธนาคารใดจะให้ระยะเวลานานกว่ากันซึ่งก็มีตั้งแต่ 45 ไปจนถึง 55 วัน แต่คุณเคยสังเกตหรือไม่ ว่าระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ว่านี้มีวิธีคิดอย่างไร เท่าที่สังเกต ผู้บิโภคจำนวนไม่น้อยมักจะคิดว่า ระยะเวลาปลอดอกเบี้ยฯ 45 วัน ถ้าใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า วันที่ 2 ม.ค. ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย ก็น่าจะนับไปจนถึงวันที่ 16 ก.พ. จึงจะครบกำหนดชำระเงิน
แต่หากกลับไปอ่านสัญญาการใช้บัตรเครดิตให้ดีๆ (ท่านที่ยังเก็บสัญญา หรือ โบชัวร์ของบัตรเครดิตไว้ กรุณานำมาตรวจสอบ) จะเห็นว่าทุกธนาคาร จะให้ระยะเวลาในการชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน หากชำระตามกำหนดเต็มจำนวน โดยนับถัดจาก วันที่สรุปยอดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่นับจากวันที่ใช้บัตรเครดิต ตามที่ผู้บริโภคเข้าใจ ซึ่งวิธีการนับที่ต่างกันนี้ จะมีผลต่อระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยอย่างมาก พูดอย่างนี้อาจจะฟังเข้าใจยาก ดูตัวอย่างแล้วจะเข้าใจชัดเจนขึ้น
ตัวอย่าง ธนาคารกำหนดสรุปยอดค่าใช้จ่ายทุกวันที่ 9 ของเดือน ดังนั้น ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยฯ 45 วัน ซึ่งนับจากวันที่สรุปยอด ก็จะไปครบกำหนดในวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่ต้องชำระเงิน หากชำระหลังจากวันนี้ ธนาคารก็เริ่มคิดดอกเบี้ย ดังนั้น แม้ผู้บริโภคจะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าเมื่อวันที่ 2 ม.ค. แต่ก็ต้องชำระเงินภายในวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งถ้าตามความเข้าใจของผู้บริโภค แบบนี้ก็เท่ากับมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนับจากวันที่ใช้บัตรแค่ 22 วันเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยฯ ที่ถูกต้องก็ต้องว่ากันตามสัญญา ซึ่งธนาคารก็ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนับจากวันที่สรุปยอดค่าใช้จ่าย ดังนั้น ถ้าใช้บัตรเครดิตให้ได้ในระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนานที่สุด ก็ต้องใช้หลังจากวันที่สรุปยอดค่าใช้จ่ายใหม่ๆ
จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าของที่อยากจะได้ ยังไม่จำเป็นต้องรีบใช้ ยังสามารถรอได้ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อวันที่ 2 ม.ค. แต่ควรรอให้สรุปยอดค่าใช้จ่ายเสร็จ (9 ม.ค.) แล้วค่อยไปซื้อเอาเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ก็ได้ซึ่งแบบนี้กว่าจะครบกำหนดก็วันที่ 23 ก.พ. โน่น คิดเป็นระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยตั้ง 43 วัน เท่ากับได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเพิ่มอีกตั้ง 21 วันเพียงแค่ชะลอการซื้อของออกไปอีกไม่กี่วัน เกร็ดความรู้ผู้บริโภคอันนี้ก็เอาไว้ใช้สำหรับถ้าซื้อของชิ้นใหญ่ๆ ราคาแพงด้วยบัตรเครดิต ก็ควรจะซื้อหลังจากวันที่เพิ่งสรุปยอดค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมนานที่สุด.
(ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร, นิตยสาร teen&family ปีที่ 10 ฉบับที่ 118 มกราคม 2548)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *