ข้อจำกัดภาคการเกษตรกับระบบโลจิสติกส์

ข้อจำกัดภาคการเกษตรกับระบบโลจิสติกส์

 

โดย ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

       เมื่อพูดถึงเรื่องโลจิสติกส์หลายๆ คนมักคิดถึงเรื่องของการขนส่งสินค้าจากทางถนนเป็นทางราง หรือ ทางน้ำ เพื่อประหยัดค่าขนส่ง หรือ ไม่ก็จะคิดถึงการบริหารจัดการ สต๊อกสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัย มีระบบเทคโนโลยีสาร สนเทศที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ ให้สูงขึ้น
       แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า อันที่จริงแล้ว ปัญหาในภาคการเกษตร ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาในเรื่องโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน มิหนำซ้ำระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ของภาคการเกษตรนี้ ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทั้งจากไร่ จากสวน หรือจากแหล่งเพาะปลูก เพาะเลี้ยงใด ล้วนแล้วแต่มีความยากในเชิงบริหารจัดการ และที่สำคัญขาดการนำวิทยา การด้านการโลจิสติกส์ไปใช้เป็นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนและประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของภาคการเกษตรนี้ด้อย หรือต่ำลงไป กว่าภาคการผลิต หรือภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของไทย
       ผลที่ตามมา ก็อย่างที่หลายๆ ท่านคงคาดเดาได้ว่า ผลผลิตทางการเกษตรมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ ราคา หรือเวลาในการเก็บเกี่ยวต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดภายในและภายนอกประเทศ หรือตลาดส่งออกได้ ซึ่งผลเหล่านี้ นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่เกษตรกรได้ราคาผลผลิตที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเท่านั้น แต่ภาครัฐยังต้องแบกรับภาระในการพยุงราคา หรือ ประกันราคา เสียงบประมาณเป็นจำนวนมากในการแก้ปัญหาแบบ “วัวพันหลัก” ไปวันๆ
       ปัญหา หรือเงื่อนไขข้อจำกัดสำคัญๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ทำให้ระบบโลจิสติกส์ของพืชผลทางการเกษตรมีความยุ่งยากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่
             ข้อแรก : ธรรมชาติของผลผลิตทางการเกษตรเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผลไม้ พืชไร่ หรือสัตว์เศรษฐกิจ ส่วนมากจะเป็นผลผลิตที่ออกเป็นฤดูกาล พร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เช่น มังคุด ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ลองกอง หรือข้าว และมันสำปะหลัง ทำให้ ซัพพลายหรืออุปทานล้นตลาด ขณะที่ตลาดที่มารองรับก็ไม่เพียงพอ การทำสัญญาเพาะปลูก และการตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้าที่นิยมใช้ในต่าง ประเทศกับสินค้าประเภทนี้ก็ไม่ได้พัฒนาหรือใช้กัน ประกอบกับคลัง ไซโลปรับอากาศ หรือห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิ ที่ใช้ในระบบโลจิส ติกส์เพื่อถนอม หรือยืดอายุผลผลิต ก็ไม่มีการนำมาใช้ หรือไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกษตรกรเมื่อทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตกอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องขายผลผลิตออกไปในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือในกรณีที่ความต้องการของตลาดไม่มาก ไม่สามารถรับซื้อผลผลิตตามกลไกปกติของตลาดได้ ก็ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ มารับซื้อ หรือประกันราคาสำหรับสินค้าตัวนั้นๆ ในที่สุด
             ข้อถัดมา : ก็เนื่องจากธรรมชาติของผลผลิตทางการเกษตรด้วยเช่นกัน ที่สินค้าเกษตรเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าที่เป็นของสด เน่าเสียได้ง่าย มีอายุสั้น ข้อจำกัดในข้อนี้ถือว่าเป็นข้อจำกัดทางกายภาพ ของตัวสินค้าเองที่จำเป็นต้องอาศัยหรือพึ่งพา ระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพสูง เพราะไม่เพียงแต่ต้องควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมให้ได้ในแต่ละช่วงของการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจายผลผลิตแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขอนามัย หรือเรื่องของความสะอาดอีกด้วย ที่นับวันไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่เท่านั้น แต่สำหรับพืชผลทางการเกษตรที่ส่งออกด้วยแล้ว ถือว่าเป็นหัวใจในการส่งออกเลยทีเดียว เพราะประเทศต่างๆ ที่ประสงค์จะนำเข้าผลผลิตประเภทนี้ของไทย ล้วนแล้ว แต่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือได้ในเรื่องสุขอนามัยเป็นที่สุด
      สำหรับข้อจำกัด หรือปัญหาของพืชผลทางการเกษตร ข้อสุดท้ายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ก็คงจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ในด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับพืชผลทางการเกษตร ที่ต้องยอมรับว่า ทั้งภาคการศึกษาด้านการเกษตรและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ที่จำกัดเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ หลายๆ หน่วยงาน หรือนักวิชาการส่วนมากด้านการเกษตรยังเข้าใจว่าเรื่องโลจิสติกส์ เป็นเรื่องของ “Post Harvesting” หรือ เทคโนโลยีภายหลังการเก็บเกี่ยวที่ตนรู้ๆ อยู่เท่านั้น ซึ่งการเข้าใจอย่างคาดเคลื่อนและการไม่เข้าถึงในเรื่องโลจิสติกส์นี้ ทำให้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับภาคเกษตรตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ถูกมองข้าม หรือเบี่ยงประเด็นไปสู่เรื่องการแก้ปัญหาในไร่ ในสวน ในฟาร์ม หรือแหล่งเพาะปลูก เช่นเดิม การจัดการในเรื่องอย่าง “Cool หรือ Cold Chain Management” ที่รู้จักกันดีในศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ จึงไม่ถูกนำไปใช้ หรือ ช่วยเหลือเกษตรกร และภาคการ เกษตร อย่างเป็นระบบ
      วันนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะได้ศึกษา และแก้ปัญหาเงื่อนไขข้อจำกัด ดังที่กล่าวมานี้ ด้วยการจัดการโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบและจริงจังเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการเกษตรของตน ยังไงก็ขอฝากกับรัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาแก้ไขเรื่องโลจิสติกส์สำหรับภาคเกษตรกรรมด้วยครับ

ที่มา Transport Journal, วันที่ 20 ต.ค. 2552

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *