ข้อคิดก่อนจะมี “หุ้นส่วนธุรกิจ”

ข้อคิดก่อนจะมี “หุ้นส่วนธุรกิจ”
ยุคนี้ธุรกิจ SME กำลังมาแรง ทำให้หลายต่อหลายคนเริ่มสนใจจะเข้ามาประกอบธุรกิจ เป็นเถ้าแก่-เถ้าแก่เนี้ยกันเป็นทิวแถว นอกเหนือจากไอเดียที่ว่า คุณจะประกอบธุรกิจอะไรแล้ว อีกหนึ่งคำถามที่คุณควรถามตัวเองก่อนลงมือก่อร่างสร้างกิจการของตัวเอง คือ คุณต้องการ partner หรือผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจของคุณหรือไม่
บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของการมีผู้ร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อช่วยในการตัดสินใจของเถ้าแก่มือใหม่
มาดูข้อดีกันก่อนเลย
– สองหัวดีกว่าหัวเดียว คุณคงเคยได้ยินคำพูดนี้มาบ้าง การที่คุณมีคนมาร่วมหุ้น ไม่ได้หมายถึง แค่ตัวเงิน แต่มันหมายรวมไปถึงว่า คุณจะมีคนช่วยคิด ช่วยตัดสินใจ ในขณะที่มุมมองของคนหนึ่งคนอาจไม่ครอบคลุม การมีหุ้นส่วนคนที่สอง หรือสามเข้ามามันหมายถึงว่าคุณจะได้มุมมองในการทำธุรกิจที่กว้างขวางกว่าเดิม และในกรณีที่คุณพลาดพลั้ง การมีหุ้นส่วนก็หมายถึงยังมีอีกคนที่ยังอยู่ และพร้อมจะลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน
– คุณไม่จำเป็นต้องอยู่โยงเฝ้าดูแลธุรกิจ เพราะการมีหุ้นส่วน คือ การที่มีคนมาร่วมแชร์ภาระความรับผิดชอบ ซึ่งนั่นก็ หมายถึงว่าคุณจะมีเวลาสำหรับการเที่ยวพักผ่อน หรือเข้ารับการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
– การมีหุ้นส่วน คือ การมี “เพื่อนร่วมงาน” ที่กระตือรือร้น ไม่ใช่แค่พนักงานที่ทำงานไปวัน ๆ เพื่อรอรับเงินเดือน
– หากคุณขาดคุณสมบัติบางข้อในการทำธุรกิจ การมีหุ้นส่วนที่รู้ในเรื่องดังกล่าว ย่อมทำให้การบริหารงานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
– มีคนช่วยแชร์เงินทุน และความเสี่ยง ในกรณีที่ธุรกิจไม่ทำรายได้อย่างที่คิด
รู้ข้อดีกันแล้ว ทีนี้มาดูในแง่ตรงข้ามกันบ้าง ว่าการมีหุ้นส่วนนั้นมีข้อเสียอย่างไร
– หากธุรกิจประสบความสำเร็จ ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่า เงินทองที่ไหลมาเทมาไม่ใช่ของคุณคนเดียว
– ความคิดเห็นที่ต่างกันสุดขั้ว ระหว่างคุณ และหุ้นส่วน อาจทำให้การตัดสินใจอะไรทำได้ลำบาก แถมดีไม่ดี คุณอาจเสียอำนาจการตัดสินใจหากว่าหุ้นส่วนของคุณมีชั้นเชิงทางธุรกิจสูงกว่าคุณมาก
– นอกเหนือจากเงินทอง เรื่องของชื่อเสียงก็เป็นสิ่งที่ต้องแชร์ หากธุรกิจของคุณเกิดประสบความสำเร็จจนเป็นที่กล่าวขาน ถึงแม้โปรเจ็คที่ว่าอาจเกิดจากความคิดของคุณล้วนๆ เลยก็ตาม
– เลือก “หุ้นส่วน” ผิด มีสิทธิ์ที่จะทำให้ธุรกิจล่มจมได้เหมือนกัน เพราะเขาจะมีส่วนในการตัดสินใจเฉกเช่นเดียวกับคุณ เพราะฉะนั้นจะรับเข้าใครมา ต้องคิดให้รอบคอบทีเดียว
– คุณอาจต้องเสี่ยงกับการทะเลาะเบาะแว้ง และเสียธุรกิจไป กรณีที่คุณเกิดเข้ากันไม่ได้กับหุ้นส่วน และเขาเกิดมีจำนวนหุ้นมากกว่าคุณ (ซึ่งอาจเกิดจากการแอบไปซื้อหุ้นจากทางอื่นมาเพิ่มโดยที่คุณไม่รู้)
ไม่ว่าอะไร ย่อมมีทั้งข้อดีข้อเสีย หากแน่ใจแล้วว่า คุณต้องการมีหุ้นส่วนแน่ ๆ สิ่งที่ขอแนะนำให้พิจารณาคือ คุณ และหุ้นส่วนควรมีนิสัยในการทำงานที่ใกล้เคียงกัน เช่น ชอบมาทำงานแต่เช้า, ใส่ใจในรายละเอียด ฯลฯ และมีมุมมองในการบริหารงานที่คล้ายคลึงกัน เพราะมันจะช่วยให้การทำงานร่วมกันราบรื่นขึ้น
อีกส่วนที่คนทั่วไปมักคิดถึงก่อนมีหุ้นส่วน คือ คุณ และเขาควรจะมีข้อเด่นข้อด้อยในเรื่องเดียวกัน หรือต่างกัน ข้อนี้ขอบอกว่าขึ้นอยู่กับคุณว่าต้องการแบบไหน
การที่คุณ และหุ้นส่วนมีความสามารถในงานต่างชนิดกัน ช่วยให้คุณสามารถแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในงานชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้การบริหารจัดการกับปัญหาทำได้ดีกว่ามาร่วมกันทำก็ได้
นอกจากนี้ ความสามารถที่ต่างกันทำให้คุณมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งจะช่วยชี้ขาดในการตัดสินใจด้านนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน
แต่การที่คุณและหุ้นส่วนมีความสามารถในงานที่คล้ายคลึงกัน ก็เปรียบเสมือนคุณได้เพื่อนคู่คิดที่ทำงานประสานไปในทางเดียวกัน แถมเขายังช่วยดูแลงานแทนได้ดี กรณีที่คุณไม่อยู่
ไม่ว่าจะแบบไหน ประเด็นสำคัญ คือ คุณ และเขาทำงานร่วมกันได้ดีแค่ไหนนั่นเอง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *