ขวดน้ำพลาสติก ก่อโรคเบาหวาน-หัวใจ

ขวดน้ำพลาสติก ก่อโรคเบาหวาน-หัวใจ
• คุณภาพชีวิต
• เรื่องเด่น
ชี้เพิ่มสารบีพีเอในปัสสาวะ

ข่าวเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับขวดพลาสติกที่ว่า หากใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบซ้ำๆ จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง แต่จากผลงานวิจัยครั้งล่าสุดของ Harvard School of Public Health (HSPH) ระบุว่า ขวดพลาสติกแบบโพลีคาร์บอเนต ขวดพลาสติกแข็ง หรือขวดนมเด็ก คงต้องระมัดระวังการใช้ให้มากขึ้น เพราะขวดพลาสติกเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ ก่อให้เกิดโรคหัวใจและเบาหวานในคนได้

ผลการวิจัยนี้จัดเป็นครั้งแรกที่พบว่า การดื่มน้ำจากขวดโพลีคาร์บอเนตจะทำให้ปัสสาวะมี สารบีพีเอ (bisphenol A:BPA) เพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ส่วน สารจำพวกนี้ใช้มากในอุตสาหกรรมบิสฟีนอลเอและพลาสติกชนิดอื่น มีผลต่อการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ สำหรับในคนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและเบาหวาน แสดงให้เห็นว่าสารบีพีเอจากขวดบรรจุน้ำดื่มปนเปื้อนเข้าสู่ของเหลวในขวด ซึ่งหากดื่มเข้าไปก็จะทำให้พบสารตัวนี้เพิ่มในปัสสาวะ

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ขวดพลาสติกแบบโพลีคาร์บอเนต ยังเป็นขวดน้ำที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่เด็กนักเรียน นักท่องเที่ยว ชิ้นส่วนทางทันตกรรม กาวอะลูมิเนียมที่ใช้ใส่อาหาร เครื่องดื่มกระป๋อง และยังพบว่ายังถูกใช้กับขวดนมเด็กอีกด้วย จะเห็นได้ว่าสารบีพีเอนั้นได้อยู่ใกล้ตัวมาก และกำลังก่อโทษมหันต์ให้กับเราอย่างยิ่ง

สารบีพีเอนั้นหากได้รับเข้าไปในร่างกายในปริมาณมากๆ จะไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อในสัตว์ เริ่มตั้งแต่ขัดขวางการเจริญของระบบสืบพันธุ์ การพัฒนาและการจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่อบริเวณต่อมน้ำนม ลดการผลิตสเปิร์มในรุ่นลูกรุ่นหลาน และอาจอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการแรกเริ่ม

ผศ.คาริน บี มิเชล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา จาก HSPH และ Harvard Medical School กล่าวว่า การดื่มน้ำเย็นจากขวดโพลีคาร์บอเนตแค่เพียงอาทิตย์เดียว ก็สามารถทำให้ระดับบีพีเอในปัสสาวะเพิ่มขึ้นถึง 2 ใน 3 ส่วนได้ และหากน้ำในขวดร้อนอย่างกรณีของขวดนมเด็ก ระดับของสารบีพีเอที่พบในปัสสาวะก็จะมากขึ้น จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเนื่องจากสารบีพีเอจะขัดขวางการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในทารกได้มากกว่า

การศึกษาของคารินได้ใช้อาสาสมัครจำนวน 77 คน โดยให้อาสาสมัครล้างท้องก่อนด้วยการดื่มน้ำเย็นจากขวดสแตนเลสเป็นเวลา 7 วัน เพื่อลดระดับสารบีพีเอในร่างกาย ระหว่างนั้นทีมวิจัยจะตรวจระดับสารบีพีเอในปัสสาวะไปด้วย จากนั้นจึงให้ขวดโพลีคาร์บอเนตแก่อาสาสมัครคนละ 2 ขวด เพื่อให้ดื่มน้ำทุกชนิดจากขวดที่เตรียมไว้ให้ตลอดสัปดาห์ และทำการตรวจปัสสาวะไปด้วย

ผลการตรวจแสดงให้เห็นว่าสารบีพีเอในปัสสาวะอาสาสมัครเพิ่มขึ้นถึง 69% หลังดื่มน้ำจากขวดโพลีคาร์บอเนต การศึกษาก่อนหน้านี้รายงานว่าสารบีพีเอ สามารถปนเปื้อนเข้าสู่ของเหลวในขวดได้ ที่น่ากังวล คือ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ใช้ขวดประเภทนี้ดื่มน้ำเป็นประจำแถมไม่ค่อยล้างขวด และหากเด็กกรอกน้ำร้อนเข้าไปก็จะทำให้ได้รับสารบีพีเอมากขึ้น เพราะความร้อนจะเร่งการรั่วไหลของสารบีพีเอ

ถือได้ว่าการทำการศึกษาในครั้งนี้เป็นผลดีกับหลายๆ ประเทศที่กำลังตัดสินใจออกมาตรการห้ามการใช้บีพีเอในขวดนมเด็กดีหรือไม่ ทั้งยังเป็นการบอกข้อมูลผลเสียของสารตัวนี้ต่อสุขภาพให้เห็นเด่นชัดขึ้น หากไม่จำเป็นก็ควรลดการใช้ขวดพลาสติกไปบ้าง เพราะบีพีเอนั้นมีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์และสัตว์อย่างคาดไม่ถึง

ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *