ขนมทางเลือกลด 25%

ขนมทางเลือกลด 25%
• คุณภาพชีวิต
• เรื่องเด่น
บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

เด็กขาดสารอาหารอย่างรุนแรง พุงโร ก้นปอด ได้กลายเป็นภาพอดีตไปแล้วหลังจากประเทศไทยได้เอาชนะปัญหาโภชนาการดังกล่าวได้ ทุกวันนี้ที่เราเห็นเด็กๆ อ้วนจ้ำม่ำเดินกันเต็มโรงเรียน พร้อมถุงขนมกรุบกรอบในมือ ก็ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเช่นกัน

โรคอ้วน เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2549 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั่วโลก 22 ล้านคน มีน้ำหนักเกิน จำนวนเด็กอ้วนในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผลการสำรวจเด็กไทยระดับประเทศ 2 ครั้ง ห่างกัน 5 ปี พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กชั้น ป.6 จำนวน 47,389 คนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2548 พบว่าเด็กร้อยละ 12 อ้วน ร้อยละ 5 ท้วม บางโรงเรียนในภาคกลางมีเด็กอ้วนถึงร้อยละ 25

ร้อยละ 30 – 80 ของเด็กอ้วนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงอ้วน และป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง นับว่าเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของชาติ

บรรดาขนมกรุบกรอบที่เด็กๆ ถืออยู่ในมือ ก็เป็นหนึ่งในวายร้ายตัวสำคัญ ซึ่งนำความอ้วนมาสู่เด็กๆ เพราะขนมส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะมีความหวาน มัน เค็ม เกินพอดี

เปิดเทอมนี้ กรมอนามัย จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และแกนนำบริษัทผลิตอาหาร 5 บริษัทจึงได้ร่วมกันพัฒนา “ขนมทางเลือก” ขึ้นมาให้เด็กๆ ได้เลือกกินขนมที่มีการลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมลง 25% จากค่าเฉลี่ยอ้างอิง

แล้วเด็กๆ หรือคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ยังไงว่าขนมชนิดไหนเป็นขนมทางเลือก สังเกตได้ง่ายๆ ว่า บนห่อขนมเหล่านี้จะมีตราสัญลักษณ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ติดอยู่ทั้งหมด 4 แบบ ตามชนิดของการลด

และยังมีข้อความ “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” ติดที่บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้และมีทางเลือกในการตัดสินใจเลือกซื้อขนมเพื่อสุขภาพ และเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย ผลิตและจำหน่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพของประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยปรับพฤติกรรมการบริโภคให้มีการบริโภคอาหารรสไม่หวานจัด เค็มจัดอีกด้วย

ต่อไปนี้ก่อนซื้อขนมรับประทาน อย่าลืมมองหาสัญลักษณ์ “ลด 25%” และที่สำคัญ การลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ก็ไม่ได้หมายความว่ากินได้ไม่อั้น ไม่เช่นนั้นคงหนีไม่พ้นปัญหาอ้วนลงพุงอย่างแน่นอน

ผู้ประกอบการผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงกรสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กองโภชนาการ กรมอนามัย เบอร์โทรศัพท์ 02-590-4306-7

ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข เดือนมิถุนายน 2552

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *