สุขภาพ : กินให้เป็น ไม่อ้วน ไม่เสี่ยงเบาหวาน
สุขภาพ : กินให้เป็น ไม่อ้วน ไม่เสี่ยงเบาหวาน
บรรดาโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามกลไกธรรมชาติ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ต้อหิน โรครูมาตอยด์ เป็นต้น เบาหวานนับเป็นโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพ เพราะสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไปสู่บุตรหลาน เป็นโรคเรื้องรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะให้เป็นปกติ รวมทั้งป้องกันและลดการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ถ้ารับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ
จะได้รู้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน
รู้ได้จาก 2 ปัจจัย คือ สังเกตจากอาการต่างๆ เช่น กินจุ น้ำหนักลด และอ่อนเพลีย หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะมากและบ่อย คันตามผิวหนังและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และชาปลายมือปลายเท้า ความรู้สึกทางเพศลดลงเป็นแผลรักษายาก หยิงที่แท้งบุตรง่าย ทารกตายในครรภ์ คลอดบุตรหัวโตน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม และวิธีตรวจเลือด คือน้ำตาลสูงกว่า 115 มิลลิกรัม ในเลือด 100 มิลลิเมตร(ผู้จะตรวจเลือดควรงดอาหารทุกอย่างหลังเที่ยงคืน)
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ง่าย
1.คนที่มีบิดา-มารดา หรือญาติพี่น้องเป็นโรคเบาหวาน
2.คนอ้วนมีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าคนไม่อ้วน เนื่องจาก 80% ของโรคเบาหวานพบในคนอ้วน
3.มักเป็นกับคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
4.คนที่เครียดเป็นประจำ ความเครียดจะมีผลไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนหลายตัวในร่างกายซึ่งขัดขวางการทำงานของอินซูลิน
5.คนที่เป็นโรคเกิดจากความเสี่ยงของตับอ่อนหรือมีการอักเสบที่ตับอ่อนีจากเชื้อไวรัสหรือยาบางชนิด
6.คนทมี่ชอบดื่มสุราเป็นประจำ สุราจะทำให้ตับอ่อนเสื่อมสมรรถภาพได้
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวาน
-ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน เช่น เดินหรือวิ่งเหยาะๆ
-รักษาเท้าให้สะอาด อย่าตัดเล็บสั้นเกินไปและอย่าสวมรองเท้าคับเกินไป
-ถ้ามีบาดแผลรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา
-ทำจิตใจสบาย ความเครียดหรือกังวลใจมากๆจะทำให้น้ำตาลถูกขับออกมาจากตับมากมีผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้น
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมอาหารโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรก ควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทาน ได้แก่ อาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบโดยตรง รวมทั้งน้ำผึ้ง ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลม
กลุ่มสอง ต้องจำกัดปริมาณได้แก่ อาหารประเภทแป้ง เช่นข้าว ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน อาหารประเภทไขมัน เช่น มะพร้าว น้ำมันหมู อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน และผลไม้ที่มีรสหวานอ่อนๆ เช่น ส้ม มะละกอสุก
ส่วนกลุ่มสาม รับประทานได้ไม่จำกัด เช่นเนื้อสัตว์ที่ไม่มีมัน และปลา เครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เครื่องเทศต่างๆ ถั่วต่างๆ ควรกินอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น ข้าวซ้อมมือ ผักทุกชนิด เม็ดแมงลัก
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน
ถ้าน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์คุมไม่ดีจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งโรคตา โรคไต โรคระบบประสาท แต่ที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือ โรคหัวใจ ผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหรือเส้นเลือดสมองแตกมากเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยไม่เป็นเบาหวานไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้คือ ต้องคุมไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด
อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที
1.ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก: ผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ใจเต้นแรง เร็ว หายใจหอบลึก มีกลิ่นเหมือนผลไม้สุก ซึม และอาจหมดสติได้
วิธีแก้ไข รีบพบแพทย์หรือส่งโรงพยาบาลด่วน หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
2.ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
วิธีแก้ไข เมื่อเริ่มรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น ให้กินน้ำหวาน หรือน้ำตาล หรือของหวานๆ ทันที หากหมดสติให้นำส่งโรงพยาบาล ถ้าชักช้าอาจอันตรายถึงชีวิต
การป้องกันโรคเบาหวาน
1.รู้จักกินอาหาร อย่าปล่อยให้ตัวอ้วน
2.หมั่นออกกำลังกาย
3.อย่าวิตกกังวลหรือมีความเครียดให้มากนัก
4.ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน
5.ต้องระมัดระวังเมื่อมีการตั้งครรภ์
6.ต้องระมัดระวังเมื่ออายุเกิน 40 ปี
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก